เมนู

บ้านสองหลัง เปิดสวนโล่งตรงกลางเชื่อมต่อพื้นที่ชีวิตร่วมกัน

แบบบ้านสองพี่น้อง

บ้านสองพี่น้องบนที่ดินแปลงเดียวกัน

บ้านในยุคก่อนหลาย ๆ ครอบครัวเป็นครอบครัวขยายที่มีลูกหลายคน หากมีพื้นที่ค่อนข้างมากก็มักจะสร้างบ้านในพื้นที่เดียวกัน แต่ละหลังก็มีพื้นที่ส่วนตัวที่ใช้งานแยกออกไปไม่รวมกับใคร อาจจะมีส่วนใช้งานร่วมกันตามโอกาส เช่น ห้องทานข้าวของบ้านใดบ้านหนึ่งที่เป็นจุดศูนย์กลาง หรือ ลานเอนกประสงค์ที่มาใช้ร่วมกันแค่บางวัน สำหรับปัจจุบันที่มีครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ก็ยังพอมีบ้านพี่บ้านน้องที่อยากสร้างอยู่ในบริเวณเดียวกันอยู่บ้าง ตัวอย่างเช่น บ้านสองหลังนี้ในประเทศอินโดนีเซีย มีเจ้าของเป็นพี่น้องกัน และอยากได้บ้านที่มีพื้นที่ส่วนตัวแต่ไม่แยกตัดขาดออกจากกัน มีส่วนที่สามารถแบ่งปันใช้งานร่วมกันได้ทุกวันโดยไม่ต้องรอโอกาสพิเศษ สถาปนิกจึงแก้โจทย์ออกมาได้อย่างแยบยลจนชวนติดตามครับ

ออกแบบPranala Associates
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านร่วมสมัยสองชั้น

คลิกที่ภาพ เพื่อรับชมภาพขนาดใหญ่

พื้นที่ว่างกลางบ้าน

บ้านร่วมสมัยหลังนี้เป็นบ้านสองหลังที่ออกแบบให้รวมเป็นอาคารเดียว สำหรับให้สองครอบครัวอยู่อาศัยในเมืองบันดุง ชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย ใช้เวลาสร้างในปี 2011 ถึง 2013 ในสถานที่ที่ค่อนข้างกระทัดรัดประมาณ 597 ตารางเมตร โจทย์ที่เจ้าของบ้านกำหนดให้นักออกแบบคือ ต้องการให้บ้านทั้งสองหลังนี้ดูแลรักษาง่าย ดูกระชับ และมีความประสานกลมกลืนกัน ผลลัพธ์จึงออกมาคล้ายบ้านแฝดหลังคาปีกนกแยกเป็น 2 ปีก แต่ภายในมีคอร์ทเป็นจุดเชื่อมพื้นที่ทั้งสองอาคารเข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ

บ้านสองชั้นมีสระและสวน

ภายในออกแบบพื้นที่ว่างระหว่างบ้านทั้งสองหลังที่เชื่อมโยงสถาปัตยกรรมเข้ากับพื้นที่ว่าง สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับภูมิทัศน์ด้วยการทำคอร์ทเอาไว้กลางบ้าน มีสวนน้ำและสนามหญ้าเป็นเขตแดนธรรมชาติที่ใช้งานได้ร่วมกัน แนวคิดนี้จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน จากบ้านที่เป็นอาคารเต็มพื้นที่มาเป็นการเปิดให้บ้านมีช่องทางได้หายใจ เป็นสเปซที่สมาชิกในบ้านจะทำกิจกรรมกลางแจ้งได้หลากหลาย โดยยังคงความเป็นส่วนตัวจากสายตาของบุคคลภายนอก

สวนน้ำกลางบ้าน

ทางเข้าบ้านทั้งสองหลังเป็นส่วนหนึ่งของเทอเรซที่เชื่อมต่อถึงกันได้หมด

คอร์ทกลางบ้าน

สถาปนิกวางตัวอาคารให้โอบล้อมพื้นที่สีเขียวเอาไว้ ตัวบ้านทั้งชั้นหนึ่งและชั้นสองมีช่องเปิดเป็นประตูและหน้าต่างขนาดใหญ่หลาย ๆ บานที่หันหน้าเข้ามารับความสดชื่นจากน้ำ ดึงแสง และความสดชื่นจากต้นไม้เข้าไปในตัวบ้าน เท่านั้นยังไม่พอ ทีมงานออกแบบให้มีกำแพงสีเขียวหรือสวนแนวตั้งมารวมพลังกับใช้ร่วมกับสระน้ำเพิ่มความรู้สึกของสวนสไตล์ทรอปิคอล ช่วยลดรังสีความร้อนจากแสงแดดที่ส่องเข้ามาทางทิศตะวันตก รอบ ๆ สวนน้ำและสนามปูพื้นทางเดินในสวนและนำทางเข้าสู่ตัวบ้านด้วยไม้ Ulin ที่มีความทนทานสูง  การเลือกใช้วัสดุเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะสร้างความเชื่อมต่อขององค์ประกอบภายนอก ภายใน และภูมิทัศน์ของสวนเข้าด้วยกันผ่านการผสมผสานวัสดุที่หลากหลาย เช่น ไม้ หินอ่อน หินอ่อน ทราเวอทีน หินบะซอลต์ เหล็ก และซีเมนต์

ห้องทานอาหารเชื่อมกับมุมนั่งเล่นสไตล์ญี่ปุ่น

ความหมายของคำว่าบ้านที่จัดการได้ง่ายของที่นี่คือ การจัดส่วนต่าง ๆ ของบ้านทั้งสองหลังตามลักษณะการใช้งาน เพื่อให้ง่ายต่อการแบ่งและจัดการ โดยแยกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ พื้นที่สาธารณะ พื้นที่กึ่งสาธารณะ และพื้นที่ส่วนตัว พื้นที่ส่วนตัวอย่างห้องนอนจะจัดให้อยู่ที่ชั้นบนของบ้านแต่ละหลัง ส่วนชั้นล่างจัดไว้เพื่อรองรับกิจกรรมกึ่งสาธารณะ อย่างเช่น ห้องรับประทานอาหาร ที่จะใช้พบปะครอบครัวในแต่ละบ้าน สำหรับบริเวณลานโล่งกลางบ้านเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้งานได้ร่วมกัน

ห้องนั่งเล่นสไตล์ญี่ปุ่น

มุมนั่งเล่นติดผนังกระจกมองเห็นวิวสวนได้ชัดเจน บริเวณนี้ยกพื้นสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ปูเสื่อสีน้ำตาลอ่อน ๆ คล้าย ๆ ห้องนั่งเล่นสไตล์ญี่ปุ่น ดูสงบร่มเย็น ประตูบานเลื่อนเปิดออกสู่พื้นที่สวนได้ทันที ทำให้บ้านและสวนเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

ห้องทานอาหาร

มุมทานอาหารต่อเนื่องกับครัว โต๊ะทำจากไม้ท่อนใหญ่ดูหนักแน่นแต่อบอุ่น ที่น่าสนใจคือการตกแต่งด้วยหลอดไฟหลากรูปทรง ที่นำมาจัดองค์ประกอบทำให้มุมทานข้างเรียบ ๆ ดูน่าสนุกขึ้น

ห้องนั่งเล่น

การตกแต่งภายในเน้นความรู้สึกโล่ง กว้าง ด้วยการทาผนังสีขาวและใส่ผนังกระจก เพื่อสร้างสรรค์บรรยากาศของความโปร่งสว่างให้มากยิ่งขึ้น บางส่วนของผนังตกแต่งด้วยไม้สีโอ๊คเพื่อเพิ่มมิติทางสายตาให้กับบ้านตัดความเรียบนิ่งของสีขาว พื้นไม้กลมกลืนไปกับภาพรวมของห้องเข้ากับเฟอร์นิเจร์หนังและโต๊ะกลางลายไม้ ส่วนนี้ของบ้านแยกพื้นที่ใช้งานด้วยการยกระดับพื้นแทนการใช้ผนังซึ่งจะทำให้บ้านดูทึบ

บันไดไม้สีน้ำตาลเข้ม

บันไดและผนังโทนสีน้ำตาลแดงดูเข้ม ขรึม แต่เปี่ยมด้วยเสน่ห์ ตัวขั้นบันไดสไตล์โมเดิร์นลอยตัวอยู่บนผนังโดยไม่มีลูกตั้ง ทำให้แสงสามารถส่องลอดช่องว่างระหว่างขั้นลงมากระทบผนังและพื้น เป็นความตั้งใจของนักออกแบบที่จะทำให้เกิดมุมมองของแสงและเงาที่สวยงามกับตัวบ้านอย่างนาชื่นชม

ตกแต่งชั้นสองด้วยกระจกและไม้

ห้องเอนเตอร์เทน

บริเวณชั้นสองยังคงคอนเซ็ปความเรียบโล่ง ผ่านผนังกระจก ช่องแสง และสีสันของงานไม้ ทั้งพื้นบ้าน ชั้นวางของ โต๊ะทำงาน เป็นงานแบบร่วมสมัยไม่โมเดิร์นมากนัก นอกจากช่องแสงที่เป็นหน้าต่างติดกระจกแล้ว ยังติดบานชัตเตอร์ที่นอกจากช่วยเพิ่มลุคคลาสสิคแล้วยังคงความเป็นส่วนตัวให้พื้นที่ใช้งานด้วย

ห้องอาบน้ำกลางแจ้งแวดล้อมธรรมชาติ

ห้องอาบน้ำเอาท์ดอร์เป็นอีกหนึ่งจุดที่นำธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านได้อย่างชาญฉลาด ทำให้เกิดบรรยากาศสดชื่นปนผ่อนคลาย เติมความสุนทรีย์ในยามเอนกายลงไปอาบน้ำ

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด