เมนู

อาคารสีเขียว ลดใช้พลังงาน เพื่อบ้านยั่งยืน

บ้านยั่งยืน

ในซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา กระแสบ้านลดใช้พลังงานเพื่อบ้านยั่งยืนกำลังแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผู้คนเริ่มตระหนักถึงวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนเกินคาดเดา และไม่อยากพึ่งพิงพลังงานจากภาครัฐ จึงเริ่มพัฒนาสถาปัตยกรรมที่อาศัยอยู่ที่มีเครื่องหมาย “อาคารสีเขียว” ขึ้น ซึ่งการที่จะสร้างบ้านให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดในระดับ Emerald Star ต้องมีการปรับปรุงเทคโนโลยีเกี่ยวกับการจัดการพลังงานในบ้านให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีเป้าหมายคือ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าให้เหลือน้อยที่สุดจนเหลือศูนย์ บ้านหลังนี้จึงเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญที่น่าจับตามมองเพราะทุกมุมของบ้านคิดมาอย่างดี เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยและชุมชนได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

ออกแบบdwelldevelopment
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้าน ECO สองชั้นฟาซาดไม้เก่า

คลิกที่ภาพ เพื่อรับชมภาพขนาดใหญ่

หลังคาติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์



การสร้างบ้านให้ได้มาตรฐานจนได้รับใบรับรองระดับดาวสีเขียวมรกต (Emerald Star) ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาคารต้องมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดที่เข้มงวด เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยตัวเอง การปรับลดการใช้น้ำลงไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ต้องนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ อย่างไม้เก่า สังกะสี (ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม) 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป คุณภาพอากาศภายในอาคารอยู่ในเกณฑ์ดี จึงเป็นที่มีของบ้านทรงกล่องโมเดิร์นปะรอบตัวบ้านด้วยไม้เก่าและเหล็กขึ้นสนิม หลังคาติดแผงโซล่าร์เซลล์ จัดระบบพลังงานหมุนเวียนในบ้าน ที่นอกจากจะประหยัดพลังงานแล้วยังนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ภาพแสดงข้อดีของอาคารสีเขียว

เพื่อให้บ้านมีคุณสมบัติตรงตามเป้าหมาย การใช้น้ำในบ้านจึงติดตั้งระบบควบคุมการใช้น้ำ ( low-flow fixtures) อย่างสุขภัณฑ์ต่าง ๆ ที่จะลดปริมาณการใช้น้ำต่อครั้งลง และวางระบบกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในสวน ผลลัพธ์ที่ได้ในปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราการใช้น้ำเฉลี่ยอยู่ที่ 19.5 แกลลอน/คน/วัน เมื่อเทียบกับบ้านอื่น ๆ จะใช้น้ำเฉลี่ยประมาณ 67 แกลลอน/คน/วัน ซึ่งได้ผลที่ค่อนข้างแตกต่างอย่างน่าพอใจ

สวนเล็ก ๆ ข้างบ้าน

ถึงจะเป็นบ้านประหยัดพลังงาน ใช้ของเหลือทิ้งมาประกอบเป็นตัวบ้านบ้าง แต่สถาปนิกยังไม่ทิ้งดีไซน์ที่ต้องโดนใจผู้อยู่ด้วย จึงออกเแบบให้ที่นี่เป็นอาคารทรงกล่องตีผนังไม้และแผ่นเหล็กที่เก็บงานได้เรียบร้อย ชั้นล่างแบ่งพื้นที่ด้านข้างสำหรับทำสวนเล็ก ๆ ให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่เติมออกซิเจนให้บ้าน แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องขนาดที่ดินก็ต้องมีที่ว่างให้บ้านหายใจ

บ้านสองชั้นผนังทำจากไม้เก่าและเหล็กขึ้นสนิม

ประตูทางเข้าหน้าบ้าน

ผนังบ้านทำจากไม้เก่าไม่ทำสี ร่องรอยของเนื้อไม้ที่ผ่านกาลเวลาแต่ละแผ่นจึงแสดงเนื้อแท้ออกมาได้เต็มที่โดยไม่ต้องมีอะไรมาเคลือบปกปิด

ผนังสองด้านติดกระจกมุมชนกัน

เมื่อเข้ามาในบ้านสิ่งที่สัมผัสได้จะแตกต่างจากเปลือกนอกพอสมควร เพราะผนังภายนออกที่ตีปิดทึบทำให้บ้านดูมิดชิด แต่ภายในกลับให้ความรู้สึกโปร่ง สว่างจากการทำผนังสูงแบบ Double space ใช้โทนสีอ่อน ๆ ช่วยสะท้อนแสงให้บ้านดูกว้าง และการติดตั้งบานหน้าต่างเป็นช่องแสงขนาดใหญ่ เปิดให้แสงธรรมชาติเข้ามาในตัวบ้านตรงจุดที่บ้านต้องการ

บริเวณห้องนั่งเล่น

มุมครัว

ชั้นล่างเปิดให้ใช้พื้นที่หลาย ๆ ส่วนได้ในจุดเดียว ชั้นนี้จึงมีทั้งส่วนครัว ห้องนั่งเล่น และมุมทานข้าวเล็ก ๆ ตั้งอยู่ด้วยกันโดยไม่ต้องมีกำแพงหรือฉากกั้นแบ่งพื้นที่ออกจากกันให้บ้านรู้สึกอึดอัด

มุมทานอาหาร

ครัวขนาดเล็กอยู่บริเวณมุมบ้าน ถึงจะมีพื้นที่น้อยแต่มีฟังก์ชั่นการใช้งานครบถ้วน ทั้งพื้นที่เตรียมอาหาร เตาไฟฟ้าพร้อมฮู้ดดูดควันคลุมด้วยไม้เก่าดูคลาสสิค ไอซ์แลนด์ที่ปรับเป็นโต๊ะทานอาหารได้ ทำให้ประหยัดพื้นที่ใช้งานในบ้าน สถาปนิกไม่ลืมเจาะช่องหน้าต่างซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งช่องแสงและช่องลม ช่วยระบายอากาศในห้องและรับแสงเข้ามาฆ่าเชื้อโรคภายใน

บันไดจากไม้เก่า

ขั้นบันไดทำจากไม้ผ่าซีกขัดพื้นผิวให้เรียบโดยไม่ต้องทำสี เป็นบันไดธรรมชาติที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นยามเดินขึ้นชั้นสอง

ห้องนั่งเล่นบนชั้นลอย

ชั้นลอยจัดเป็นมุมนั่งพักผ่อนสบาย ๆ รับแสงตรง ๆ จากช่องหน้าต่างบนผนังฝั่งตรงข้ามทำให้ภายในอบอุ่นในหน้าหนาวที่อากาศหนาวจัด

ตกแต่งห้องนอน

ห้องนอนมีระเบียงออกไปนั่งเล่น

ห้องนอนบรรยากาศสบาย สามารถรับแสงเข้ามาสร้างความอบอุ่นได้หลายช่องทาง ทั้งจากช่องแสงแนวนอนที่เจาะอยู่บริเวณหัวเตียง หน้าต่างด้านข้าง และจากประตูที่เปิดเชื่อมต่อกับระเบียง

มุมนั่งเล่นบริเวณระเบียง

นอกห้องนอนมีระเบียงที่จัดเป็นจุดนั่งเล่นชมวิวเล็ก ๆ ทำให้ห้องนอนมีพื้นที่สบายและเปิดมุมมองได้กว้าง

ตกแต่งผนังห้องน้ำด้วยไม้เก่า

บ้านสองชั้นผนังไม้เก่าประหยัดพลังงาน

บ้านยั่งยืนที่สร้างพลังงานได้เอง มีระบบการจัดการเรื่องน้ำ-ไฟ โดยไม่ต้องกังวลว่าวันที่ระบบน้ำไฟของรัฐมีปัญหาจะใช้ชีวิตอย่างไร แถมยังประหยัดค่าน้ำค่าไฟได้มาก ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ในชั้นแรกอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงแต่เมื่อคิดถึงการใช้งานในระยะยาวก็ถือว่าคุ้มค่ามาก ๆ ครับ

แปลนบ้าน

\

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด