เมนู

บ้านคุณพระ บ้านสไตล์โคโลเนียล วิถีสุโขทัย

บ้านสไตล์โคโลเนียล

บ้านคุณพระ

บ้านสไตล์โคโลเนียล วิถีสุโขทัย

“ความอบอุ่นอยู่ที่คุณค่า ไม่ใช่มูลค่า” เป็นประโยคที่คุณหมอพงศ์กฤช หนึ่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ของกลุ่ม “บ้านไอเดีย” เจ้าของบ้านชื่อคลาสสิค  “บ้านคุณพระ”บอกกับทีมงานในครั้งแรกที่เราได้พูดคุยกัน บ้านหลังนี้ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างและตกแต่งถึง 2 ปีกว่า เพราะคุณหมอถือคติที่ว่า บ้านไม่ได้สร้างกันบ่อย จึงต้องค่อย ๆ ทำไปไม่เร่งร้อน ทุกขั้นตอนคุณหมอดูแลอย่างพิถีพิถัน ใส่หัวใจเข้าไปในรายละเอียดของบ้านตั้งแต่หลังคาถึงพื้น เพื่อให้ได้รูปลักษณ์ที่ตรงใจ และตอบสนองการใช้งานที่เหมาะสำหรับสมาชิกทุกเจเนอเรชั่นในบ้าน

ทั้งคุณหมอและภรรยา (ทันตแพทย์หญิง ณัฐพร เนียมหุ่น) เป็นคนมีคาแร็กเตอร์ชัดเจนและมีไลฟ์สไตล์เหมือนกัน คือ รักต้นไม้และชื่นชอบความเป็นไทย จึงตั้งใจสร้างบ้านที่แวดล้อมด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ มีกลิ่นอายบ้านไทยโบราณที่มีความโปร่งสบายแต่อ่อนช้อย ประยุกต์เข้ากับบ้านตากอากาศฝรั่ง รวมออกมาเป็นสไตล์โคโลเนียลคอนเทมโพรารี่ แบบบ้านพักตากอากาศหัวหิน (แต่สร้างที่จังหวัดสุโขทัย) มาให้เราได้เข้าไปชมกันค่ะ

เจ้าของบ้าน : คุณหมอพงศ์กฤช
สถาปนิก : Tossaworn Saiyapan

บ้านหลังขนาดย่อมนี้สร้างในพื้นที่บ้านคุณพ่อ ขนาดเนื้อที่รวมสวนประมาณ 1 ไร่ 1 งาน  ตัวบ้านมีพื้นที่ประมาณ 450 ตารางเมตร มี 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ หน้าบ้านกว้าง 10 เมตร งบประมาณ 5.5 ล้านบาท ไม่รวมเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รั้ว และประตู ซึ่งคุณหมอบอกกับทีมงานว่าสามารถลดงบประมาณได้อีกที่ประมาณ 2 ล้านกว่า ๆ ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้วัสดุ

การออกแบบบ้านหลังนี้ไม่ได้คำนึงถึงความชอบมาก่อน แต่คิดถึงประโยชน์ใช้สอยตั้งแต่ตื่นตอนถึงเข้านอน เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้อยู่อาศัยมากที่สุด บ้านคุณพระจึงไม่ได้สร้างบ้านเพื่อให้ใช้งานได้ดีเฉพาะวันนี้ แต่เผื่อไปถึงอนาคตด้วย คุณหมอเล่าถึงที่มาของแบบบ้านกว่าจะลงตัวว่า “สถาปนิกให้ใช้เวลาช่วงที่ว่าง ๆ ไม่เครียด ค่อย ๆ เขียนรายละเอียดที่ชอบไปเรื่อย ๆ แล้วดูกันบ่อย ๆ ว่าถูกใจไหม จนกระทั่งได้แบบที่ใช่ จึงเริ่มเขียนแบบโครงสร้างทางวิศวกรรมครับ”

ตัวบ้านประกอบด้วย 2 อาคาร มีทางเดินเชื่อมต่อกันเป็นรูปตัว L ทั่วทั้งบริเวณสัญจรเข้าถึงกันได้หมด หลังคาออกแบบให้ต่อเนื่องกันทั้งหลัง ตั้งแต่โรงรถถึงโถงทางเข้า ทำชายคายื่นออกมา 1.5 เมตร สมาชิกในบ้านสามารถเดินใต้ชายคาได้แม้ในวันฝนตก โดยที่น้ำฝนไม่สาดกระเซ็นเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับตัวบ้าน หน้าต่าง ประตู และผนัง

ทางเดินต่างระดับค่อย ๆ ยกตัวขึ้นจากพื้นสนามหญ้าเข้าสู่ตัวบ้าน แต่ละระดับมีช่วงห่างค่อนข้างมากและไม่สูงจึงเดินตามทางได้สบาย ๆ จากช่วงที่ปูกระเบื้องดินเผาสีแดง เปลี่ยนเป็นวัสดุพื้นไม้เทียมในบริเวณลานกว้าง เพื่อรองรับลักษณะการใช้งานกลางแจ้ง ในขณะเดียวกันก็ให้อารมณ์ที่ต่อเนื่องกับพื้นไม้แท้ที่ใช้ภายใน

เรื่องความร้อนของบ้านชั้นเดียวในเมืองไทยและจังหวัดสุโขทัยขึ้นชื่อเป็นอันดับต้นๆ ในจุดนี้สถาปนิกให้ความสำคัญมาก จึงวางแผนให้บ้านลดร้อนได้ตั้งแต่การเลือกกระเบื้องมุงหลังคา ใส่แผ่นสะท้อนความร้อน ฝ้าเพดาน แล้วยังออกแบบช่องแสงช่องลมในทิศทางที่เหมาะสม ให้ทิศทางลมเข้าและออกที่ต่อเนื่องและหันหน้าบ้านรับลมประจำฤดูที่พัดผ่านตลอดปี  พื้นบ้านยกสูงให้ลมลอดผ่าน บ้านจึงถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่มีความชื้นสะสม ส่วนที่เหลือต้องพึ่งพาต้นไม้รอบๆ ให้มอบร่มเงาและความร่มเย็นให้กับบ้าน

ในระหว่างก่อสร้างทุกขั้นตอน คุณหมอจะถ่ายรูปส่งไลน์ให้สถาปนิกตรวจสอบเกือบทุกอาทิตย์ หลังจากเริ่มก่อสร้างก็ไม่เคยแก้แบบอีกเลย ผู้รับเหมาก็ยืนยันว่าทำตามแบบที่สถาปนิกออกมาจะง่ายและสบายที่สุด แต่บ้านนี้จะเหนื่อยตรงที่ต้องหาวัสดุให้ได้ตามแบบเท่านั้นเอง

บ้านคุณหมอมีขอบประตู หน้าต่างให้ปิดมิดชิด ติดระแนงไม้บริเวณช่องลม เพื่อป้องกัน “นกพิราบ” ที่ชอบมาเกาะทิ้งความสกปรกเอาไว้บนหลังคาหรือใต้คานบ้าน คุณหมอแนะนำว่าหากเป็นไปได้ให้เลือกกระเบื้องมุงหลังคาที่มีความลื่นมันวาว ทำให้นกเกาะได้ยากขึ้น บ้านนี้เลือกกระเบื้องมุงหลังคา excella ที่นอกจากสวยเหมาะกับรูปแบบบ้านแล้วยังช่วยลดความร้อนด้วย และด้วยลักษณะบ้านที่เป็นกลุ่มอาคาร พื้นที่หลังคาเยอะจึงใช้งบประมาณส่วนโครงสร้างและวัสดุมุงหลังคาค่อนข้างมากประมาณ 1 ล้านบาททีเดียว

“ระเบียง” ที่ใช้งานได้ดีต้องมีพื้นที่กว้างพอที่รองรับได้ทุกกิจกรรม ระดับของชายคาเปิดขอบเขตทางสายตาให้สามารถมองท้องฟ้าได้พอดีขณะที่นั่งเก้าอี้ตัวโปรด นั่งเล่นได้สบายไม่ร้อน ฝนตกก็ไม่ต้องกลัวฝนสาด บ้านคุณพระลงตัวที่ระเบียงกว้าง 2.3 เมตร ชายคาที่ยื่นยาวและทำองศาต่ำลง มุมนี้เป็นมุมหนึ่งที่คุณหมอชอบและบอกกับทีมงานว่า “เลิกคลินิกแล้วตอนกลางคืนหรือบ่ายๆ วันหยุด ผมชอบนั่งเล่น IPad ที่ระเบียงพร้อมกับพัดลม 1 ตัว และยากันยุงอีก 1 ขด ทำไงได้ เรื่องยุงกับเมืองไทยหนียังไงก็ไม่พ้นครับ”

ลานกว้างกลางบ้านปูด้วยพื้นไม้เทียม แม้ว่าอาจให้ความรู้สึกสัมผัสที่ไม่นุ่มเหมือนไม้แท้ แต่รูปลักษณ์และลวดลายก็คล้ายไม้จริงมาก ในราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว แถมยังมีคุณสมบัติที่ได้เปรียบไม้จริงคือ ติดตั้งง่าย ไม่บิดโก่งยืดขยาย ปลวกไม่กิน ตากแดดตากฝนได้อย่างสบายใจใช้งานได้ในระยะยาว

จุดแตกต่างของดีไซน์ที่ไม่ค่อยเหมือนใคร คือ มีโถงทางเข้า ที่เรียกว่า foyer จะเป็นจุดเชื่อมต่อทุกส่วนของบ้าน เนื่องจากคุณหมอต้องการแยกแต่ละห้องออกจากกัน ไม่อยากให้บ้านดูเปรียบเสมือนกล่องใบใหญ่แล้วกั้นห้อง คล้ายกับเอากล่องเล็กๆ ไปใส่ไว้ในกล่องใหญ่ เพราะทำให้รู้สึกอึดอัด

ความสูงจากพื้นถึงเพดานของแต่ละห้องในตัวบ้านไม่เท่ากัน บางห้องเล่นฝ้ามุมสูง บางห้องฝ้าซ่อนไฟ มีตั้งแต่ 4-6 เมตร อย่างในโถงทางเข้าก็เช่นเดียวกัน เหตุผลที่เล่นระดับฝ้าบริเวณนี้ นอกจากความสวยงามแล้ว ยังเป็นการระบายลมจากทิศหน้าบ้านผ่านออกเหนือห้องน้ำไปหลังบ้านด้วย จึงไม่มีความร้อนสะสมอยู่ภายในตัวบ้าน 

คุณหมออธิบายเรื่องการวางแนวช่องลมในบ้านว่า “ทิศทางลมประจำปีบ้านเราส่วนใหญ่มาทางทิศใด ก็หันส่วนรับลมไปทิศนั้นเลย และเมื่อมีช่องทางให้ลมเข้า ก็ต้องมีทางให้ลมออกด้วยจึงจะพัดพาความร้อนออกจากบ้านได้ อย่าติดกระจกเสียทึบหมด”

ห้องทานอาหาร ต่อเชื่อมกับครัวไทยเปิดโล่ง งานประตูหน้าต่างและงานพื้นภายในเป็นไม้สักทั้งหมด บ้านเขตร้อนสมัยก่อนมักนิยมปิดฝ้าเนื่องจากปัญหาความร้อน จึงต้องกั้นไม่ให้ความร้อนจากหลังคาลงมาสู่ภายในตัวบ้าน แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีฉนวนปกป้องบ้านจากความร้อนที่ติดตั้งใต้โครงหลังคาใด้ ทำให้บ้านใช้ประโยชน์จากพื้นที่ใต้หลังคาได้มากขึ้น อย่างบ้านคุณพระเลือกทำเพดานยกฝ้าสูงรูปทรงจั่วตามแนวหลังคา เพื่อเพิ่มความรู้สึกโอ่โถง โปร่งสบาย และอากาศร้อยลอยตัวขึ้นได้ดี

ห้องพักผ่อนติดกระจกดูโปร่งโล่งสบายตา ผ้าม่านลายดอกให้อารมณ์วินเทจนิดๆ ผนังบ้านก่ออิฐมวลเบา ฉาบปูนทับแล้วตีไม้สังเคราะห์

แสงไฟในห้องนอนเป็นอีกจุดที่คุณหมอให้ความสำคัญ การจัดแสงไฟในห้องนี้เน้นความนุ่มนวลส่องสะท้อนอารมณ์คลาสสิค แบบ Indirect light หรือแสงไฟทางอ้อมบนหลุมฝ้า ซึ่งไฟแบบนี้จะได้ความสว่างจากแสงที่กระทบบนฝ้าแล้วกระจายลงมาภายในห้อง ทำให้ห้องดูมีมิติ แสงที่ได้มีความนวลสบายตากว่าแสงจ้าที่ส่องลงมาตรง ๆ ให้ความรู้สึกเหมือนนอนอยู่ในห้องพักรีสอร์ทหรู

หากต้องการพรางสายตาในห้องนอนหรือห้องน้ำ แต่ยังคงความสวยงามคลาสสิค เพียงเลือกใส่กระจกลายพิกุลหรือลายอื่นๆ ที่ชอบ ก็ช่วยตอบโจทย์การใช้งานได้เป็นอย่างดี

ห้องน้ำ บ้านนี้ต้องอาศัยความกล้าในการใช้งานเป็นพิเศษ เพราะทำผนังเปิดโล่งเสมือนกำลังอาบน้ำ ทำธุระส่วนตัวกลางแจ้ง เป็นห้องน้ำเปิดเผย Open air รับแสงแดด รับลม ให้ทุกวันของการใช้งานเข้าถึงธรรมชาติแบบใกล้ชิด ซึ่งเจ้าของบ้านชอบมาก คำถามที่คุณหมอมักจะพบคือ เสี่ยงต่อการถูกแอบมองหรือไม่ คำตอบคือ ถ้าเจตนาที่จะแอบดูต้องใช้วิธีปีนขึ้นไปบนต้นไม้ข้างบ้าน ถ้ามองจากระดับกำแพงปกติจะไม่สามารถมองเห็นได้เลย ใครจะเก็บเอาไว้เป็นไอเดียในการทำห้องน้ำที่บ้านก็น่าลองดูค่ะ ^-^

การจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในห้องน้ำคุณหมอยึดตามมาตรฐานการใช้งานในชีวิตประจำวันเป็นหลักว่าใช้งานอะไรมาก อะไรน้อย ปกติเราใช้อ่างล้างมือบ่อยที่สุด รองลงมาคือโถชักโครกและส่วนอาบน้ำซึ่งมักจะเปียก ดังนั้นจึงติดอ่างล้างมือในส่วนที่ใกล้ประตูที่สุด ส่วนฝักบัวอาบน้ำจะอยู่ด้านในสุด

คุณหมอเล่าเรื่องห้องน้ำเพิ่มเติมว่า “เพื่อนๆ ที่เป็นหมอหรือพยาบาลหลายคนที่มาพักเป็นผู้หญิง มักบอกว่าไม่กล้าอาบ อาย ผมบอกว่า อายตัวเอง จะอายไปทำไม ทุกอย่างดีไซน์มาให้ดูเปิดก็จริง แต่บังตามิดชิด จนมองไม่เห็นจากภายนอก จริงๆ แล้วผมเชื่อว่าทุกคนอยากได้ห้องน้ำที่โล่งสบาย แต่ติดที่ความอายนี้แหละ.. สุดท้ายแม้ไม่กล้าแต่ก็ต้องอาบน้ำที่ห้องนี้ เมื่อลองใช้งานต่างก็บอกว่า รู้สึกดีที่ได้ปลดปล่อยความอายที่เก็บกดไว้ได้อย่างสดชื่นมีความสุขและ “ชอบ” กันทุกคน”

ห้องน้ำอีกหนึ่งห้องในบ้าน มีตู้เก็บเสื้อผ้าบานกระจก แบ่งส่วนแห้งและตู้อาบน้ำแยกเป็นสัดส่วน ห้องน้ำจึงไม่เปียกชื้น ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ

มุมครัว เป็นอีกหนึ่งมุมโปรดของเจ้าของบ้าน เพราะคุณหมอมักใช้เวลาในวันพักผ่อนอยู่บ้านลงครัวแสดงฝีมือเอง เป็นครัวไทยแบบเปิดโล่งทำให้ระบายอากาศได้ดี เวลาทำอาหารที่เต็มไปด้วยสมุนไพรกลิ่นฉุนจะไม่อบอวลอยู่ในตัวบ้าน

การเลือกสีทาบ้านเป็นอีกหนึ่งจุดที่คุณหมอใส่ใจ หากเราชมภาพรวมจะเห็นว่าทุกอย่างดูกลมกลืน คุณหมอแนะนำว่า “การเลือกสีบางคนอาจจะคิดว่าสีนั้นต้องตัดกับสีนี้สิถึงจะสวย ก็ว่ากันไปนานาทัศนะ แต่สีบ้านบางครั้งไม่จำเป็นต้องตัดกัน เพียงแค่ไหลลื่นไปในทิศทางเดียวกัน และอยู่ถูกที่ถูกตำแหน่ง ก็สวยได้มากมายเช่นกันครับ”

ประตูทางเข้าหน้าบ้าน

บ้านสวยงามยามค่ำ ด้วยแสงไฟวอร์มไวท์สร้างความละมุนตาให้บ้านดูแปลกไปจากช่วงกลางวัน ทั้งนอกบ้านและในบ้านไม่มีระโยงระยางจากเสาไฟหน้าบ้านให้เสียภูมิทัศน์ เพราะร้อยท่อทั้งหมด รวมถึงสาย LAN ต่ออินเตอร์เน็ตและกล้องวงจรปิด ที่วางแผนตั้งแต่แรกสร้างเพื่อจะได้ไม่มีสายเกะกะทีหลัง ส่วนสายไฟเข้าบ้านใช้วิธีร้อยท่อมาตามผนังแล้วมุดท่อพร้อมหุ้มฉนวนตามมาตรฐานการไฟฟ้า ลงใต้ดินแล้วมาโผล่ใต้ถุนบ้าน จึงไม่เห็นสายไฟโยงจากเสาไฟหน้าบ้านให้เสียอารมณ์

ลองหันมาเลือกวัสดุเดิมๆที่เคยใช้กันมาในอดีตอย่าง กระเบื้องปูพื้นสีแดง ก็จะทำให้บ้านแลดูคลาสสิคขึ้นมาทันตา ทรายล้างบริเวณทางเข้าไม่ลื่นไม่มีตะไคร่น้ำ เพราะหลังจากช่างทำเสร็จจะทาเคลือบเงาผิวให้ด้วย แต่ถ้าจะให้สวยเงางามตลอดช่างแนะนำให้ลงเคลือบผิวปีละครั้ง

หนึ่งจุดเด่นของบ้านหลังนี้ คือ พื้นที่ลานเอาท์ดอร์ที่อยู่บริเวณกลางบ้านจุดเชื่อมต่อระหว่างบ้านทั้งสองปีก ทำให้ทุกส่วนของบ้านสามารถเข้าถึงส่วนอเนกประสงค์นี้ได้ง่าย ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นทางลาดขึ้นสู่ตัวบ้าน ซึ่งออกแบบไว้รองรับผู้สูงวัยให้สามารถใช้รถเข็นขึ้นลงได้สะดวก

ด้วยรายละเอียดปลีกย่อยที่ค่อนข้างเยอะ กว่าจะเสร็จบ้านนี้ก็สร้างนานมาก รวมระยะเวลา 2 ปี 4 เดือน เพราะค่อย ๆ ทำไปไม่รีบ ระหว่างการก่อสร้างมีอุปสรรคที่ทำให้งานช้าบ้างแต่ผู้รับเหมาแก้ไขให้หมด เช่น ต้องซื้อพื้นไม้สักเก่ามาเพิ่ม หาร้านสั่งทำไม้ฉลุลายบริเวณจั่ว หรือไปซื้อกระเบื้องดินเผาถึงอยุธยา เป็นต้น

มุมพักผ่อนอย่างชานหน้าบ้าน ก็ต้องใช้งานได้ดี คุณหมอจึงให้ผู้สูงวัยในบ้านทดลองนั่ง ๆ นอน ๆ พื้นที่จริง เพื่อทดสอบการใช้งานและความพึงพอใจ ทุกคนในบ้านจะได้มีส่วนร่วมกับพื้นที่แห่งความสุขนี้ด้วยกัน

พรรณไม้บ้านคุณพระ

หากใครติดตามเพจส่วนตัวของคุณหมอ หรือที่เพจนิตยสาร “บ้านคุณพระ” ซึ่งคุณหมอจัดทำมาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของบ้านโดยเฉพาะ จะเห็นว่าคุณหมอและภรรยาปลูกต้นไม้ไว้เยอะมากหลากหลายพันธุ์ (ที่โตก็เยอะที่ตายก็แยะ) และยังอัพเดทความเคลื่อนไหวให้ได้ชมดอกไม้ต้นไม้สวย ๆ ชื่นตาชื่นใจกันแทบทุกวัน บางวันก็จะมาพร้อมกลอนชมดอกที่ใช้ถ้อยคำได้สละสลวยน่าอ่าน ในเนื้อหานี้จะแอบหยิบตัวอย่างภาพสวนและดอกไม้มาให้ชมกันอย่างละนิดอย่างละหน่อยนะคะ

ต้นสร้อยระย้าหรือจิกน้ำ เป็นต้นที่ปลูกไว้เป็นประธานกลางสวน ปลูกแทนที่ต้นหูกระจงซึ่งผลัดใบมากเกินไป

ไม้ดอกไม้ใบบ้านคุณพระ

ก่อนจบบทสนทนาเกี่ยวกับบ้านกับคุณหมอ หลังจากที่พูดคุยสัมภาษณ์กันหลายวัน คุณหมอเล่าให้ผู้เขียนฟังทิ้งท้ายแบบติดตลกว่า ” ผู้รับเหมาบอกว่าหลังนี้สนุกและได้ประสบการณ์เยอะ แต่แบบนี้ไม่เอาอีกแล้ว” อาจจะเป็นเพราะทุกจุดของบ้านมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ซ่อนอยู่เต็มไปหมด และเจ้าของบ้านอยากให้ที่นี่เป็นบ้านเพื่อการอยู่อาศัยและการพักผ่อนจริง ๆ จึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษ และก็ได้ผลงานออกมาสวยงามน่าประทับใจในแบบที่เราได้เห็นกันค่ะ

สำหรับใครที่อยากชมภาพบ้านสวย ๆ ซึมซับความสดชื่นจากพรรณไม้นานาชนิด และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องสร้างบ้าน การปลูกต้นไม้ พร้อมร่ายบทกวี ก็แวะเวียนเข้าไปพูดคุยกับคุณหมอได้ที่เพจ นิตยสาร “บ้านคุณพระ” กันได้นะคะ คุณหมอใจดี ยินดีให้คำปรึกษาที่ดีให้ทุกท่าน รับประกันความประทับใจเหมือนอย่างที่ทีมงานบ้านไอเดียได้รับแน่นอนค่ะ

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด บ้านไอเดียแฟมิลี่


โพสต์ล่าสุด