เมนู

อิฐมวลเบา VS อิฐมอญ ก่อผนังบ้านด้วยอิฐชนิดไหนดี

อิฐมอญ อิฐมวลเบา

เลือกอิฐให้เหมาะกับการใช้งาน

เป็นคำถามที่สมาชิกบ้านไอเดียสอบถามกันมาบ่อย(มาก) อาจจะเรียกได้ว่า มากที่สุดก็ว่าได้ กับการลังเลใจในการเลือกใช้อิฐมาก่อผนังให้บ้าน โดยเฉพาะคู่ชิง ระหว่าง อิฐมอญ VS อิฐมวลเบา แบบไหนดีกว่ากัน ผู้เขียนเองขอตอบแบบฟันธงตั้งแต่เริ่มต้นก่อนเลยว่า ไม่มีอิฐชนิดไหนที่ดีกว่ากัน แต่อิฐทั้ง 2 ประเภทนี้ มีความเหมาะสมในการใช้งานแตกต่างกัน บ้านแต่ละหลังในยุคปัจจุบัน สถาปนิกและวิศวกร จึงเลือกที่จะนำอิฐทั้ง 2 ประเภทนี้ มาใช้ร่วมกันอย่างเหมาะสม

สนับสนุนโดย : ปันแปลน
ผู้เขียน : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์

รู้จักกับอิฐมอญ

อิฐมอญหรืออิฐแดง ทำจากดินเหนียวผสมแกลบเผา ผลิตได้เองภายในประเทศ กระจายตามท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาค มีความคงทนในการใช้งานสูงมากจึงได้รับความนิยมมาตั้งแต่อดีต และเป็นที่คุ้นเคยกับช่างก่ออิฐทั่วไป นอกจากนี้อิฐมอญยังมีคุณสมบัติทนต่อความชื้น มีความหนาแน่นสูง และราคาถูกกว่าอิฐมวลเบา ส่วนข้อเสียของอิฐมอญ คือน้ำหนักที่มากกว่าอิฐมวลเบา โดยมีน้ำหนัก 130 กก./ ตร.ม. กรณีก่อชั้นเดียว และ 180 กก./ตร.ม. กรณีก่อผนัง 2 ชั้น รวมทั้งอิฐมอญมีขนาดเล็ก จึงใช้เวลาก่อผนังค่อนข้างมาก เป็นผลให้ค่าแรงเพิ่มขึ้น

อีกหนึ่งข้อเสียที่ไม่ควรมองข้าม คือเรื่องความร้อน โดยอิฐมอญมีคุณสมบัติอมความร้อน สังเกตได้จากผนังที่โดนแดด หากนำมือไปสัมผัสจะรู้สึกร้อนในช่วงกลางวัน และหลังตะวันตกดินไปแล้ว ช่วงค่ำก็ยังร้อนอยู่ จนกว่าจะตกดึกถึงจะคลายความร้อนได้หมด วิธีป้องกันความร้อนกรณีนำอิฐมอญมาใช้งาน นิยมก่อผนัง 2 ชั้นในด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ ซึ่งเป็นทิศที่แสงแดดสาดส่องในช่วงกลางวัน การก่อ 2 ชั้นจะต้องเว้นช่องว่างระหว่างอิฐแต่ละชั้นอย่างน้อย 5 ซม. เพื่อให้เกิดช่องว่างมีอากาศถ่ายเท พร้อมกับทำช่องระบายความร้อนให้กับอิฐชั้นนอกเพื่อให้ความร้อนถ่ายเทออกจากตัวบ้าน ส่วนอิฐชั้นในไม่ได้ถูกความร้อนโดยตรง ภายในบ้านจึงเย็นกว่าการก่อชั้นเดียวมาก แต่ทั้งนี้เจ้าของบ้านต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ในมุมมองของผู้เขียนเอง หากทำให้บ้านเย็นขึ้นได้ เมื่อมองระยะยาวแล้วนับว่าคุ้มมากครับ

รู้จักกับอิฐมวลเบา

อิฐมวลเบา หรือคอนกรีตมวลเบา มีส่วนผสมหลักคือปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ คุณสมบัติเด่น ให้น้ำหนักที่เบากว่าอิฐมอญ ขนาดของอิฐได้มาตรฐาน  ลดการสูญเสียได้ดี เหมาะอย่างยิ่งกับผนังบ้านที่ต้องการลดน้ำหนักของโครงสร้าง เพราะอิฐมวลเบามีน้ำหนักน้อยกว่าอิฐมอญ ประมาณ​ 1 ใน 3 ของอิฐมอญเท่านั้น ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ผลิตอิฐมวลเบาจำนวนมาก แต่ละแบรนด์มีส่วนผสมและคุณภาพแตกต่างกัน แนะนำให้เลือกซื้อเฉพาะผู้จำหน่ายที่มี มอก. รองรับ หรือแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือ

 

คุณสมบัติเด่นของอิฐมวลเบา นอกจากเรื่องน้ำหนักแล้ว ด้วยขนาดอิฐที่ใหญ่ ได้มาตรฐาน จึงช่วยให้กระบวนการก่ออิฐ เสร็จไวกว่าอิฐมอญมาก โดยช่างจะใช้ปูนก่อที่ผลิตมาเพื่ออิฐมวลเบาโดยเฉพาะ และเมื่อก่อเสร็จไวค่าแรงคนงานจึงลดลง ขนาดที่ได้มาตรฐานช่วยลดการสูญเสียของอิฐได้ดีกว่าอิฐมอญ

ส่วนคุณสมบัติด้านกันความร้อน และกันเสียง อิฐมวลเบาทำได้ดีกว่าอิฐมอญมาก (เมื่อเทียบกับกรณีก่ออิฐมอญชั้นเดียว) ส่วนข้อเสีย ด้วยลักษณะทางกายภาพของวัสดุที่มีรูพรุน ทำให้อิฐมวลเบาดูดซับน้ำ ซึ่งจะมีผลกับความชื้น การออกแบบจึงไม่นิยมใช้งานภายในห้องน้ำ ห้องครัว ส่วนการเจาะผนังเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้พุกที่ออกแบบมาเพื่ออิฐมวลเบาเท่านั้น ผู้เจาะควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด มิเช่นนั้นอาจทำให้อิฐมวลเบาเสียหายได้

สรุปแบบไหนดีกว่ากัน

อย่างที่แจ้งไปตอนต้นครับ อิฐทั้ง 2 ประเภทนี้ ดีคนละอย่างกัน หรือแม้หากอิฐไหนจะมีข้อเสียใด ก็สามารถแก้ไขได้ทุกจุด ในมุมมองของผู้เขียนเอง หากนำมาใช้งานจะเลือกใช้อิฐทั้ง 2 ประเภทร่วมกัน โดยแบ่งการใช้งาน ดังนี้

ก่ออิฐร่วมกันตามความเหมาะสม ทั้งอิฐมอญและมวลเบา

อิฐมอญ เลือกใช้ในบริเวณที่โดนความชื้นบ่อยครั้ง เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว หรือผนังส่วนที่โดนฝนสาดโดยตรง กรณีนำอิฐมอญมาใช้ร่วมกับผนังภายนอก จะเลือกก่ออิฐ 2 ชั้นเท่านั้น เพราะจะช่วยป้องกันความร้อน ป้องกันเสียงได้ดีไม่ต่างไปจากอิฐมวลเบา และเลือกใช้อิฐมอญร่วมกับตำแหน่งที่ต้องรับน้ำหนักมาก อาทิ อ่างล้างหน้า ท็อปโต๊ะ หรืองานผนังที่มีการกรุผนังตกแต่งวัสดุที่มีน้ำหนักมาก

อิฐมวลเบา เลือกใช้ร่วมกับผนังภายในบ้าน ผนังห้องนอน ห้องนั่งเล่น และห้องอื่น ๆ กรณีผนังภายนอก จะเลือกใช้เฉพาะด้านที่ไม่โดนฝนสาดโดยตรงครับ หรือหากใช้ผนังภายนอกทั้งหมด จะเลือกอิฐมวลเบาที่มีความหนาตั้งแต่ 10 ซม. ขึ้นไป

ตัวอย่างอัตราส่วนการใช้งาน

กรณีผู้เขียนสร้างบ้าน 1 ชั้น จะเลือกใช้อิฐมอญเป็นหลัก หากเป็นบ้าน 2 ชั้นเฉลี่ยแล้วอัตราส่วนเท่า ๆ กัน แต่หากบ้านสูง 3-4 ชั้นขึ้นไป เปอร์เซ็นส่วนใหญ่ที่จะเลือกใช้เป็นอิฐมวลเบาเป็นหลัก เพราะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างและค่าแรงคนงานได้ดีกว่าอิฐมอญมาก

เทียบค่าใช้จ่าย

หากเทียบกันเฉพาะค่าวัสดุ อิฐมวลเบาแพงกว่าครับ แต่หากนำค่าวัสดุมาบวกกับค่าแรงช่าง ระหว่างอิฐมวลเบากับอิฐมอญก่อ 2 ชั้น มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกันมาก โดยเฉลี่ยแล้ว อิฐมวลเบาจะมีต้นทุน 360 – 400 บาท/ตร.ม. ขึ้นอยู่กับรุ่นและแบรนด์ ส่วนอิฐมอญก่อ 2 ชั้น เฉลี่ย 400 – 420 บาท/ตร.ม. ค่าใช้จ่ายที่ไม่ต่างกันมาก การเลือกใช้ให้เหมาะกับลักษณะงาน จึงเป็นคำตอบที่สมดุลที่สุดครับ


สำหรับเนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย” ขอขอบคุณ สถาปนิกจากบริษัท ปันแปลน จำกัด ที่ให้ภาพประกอบจากหน้างานและความรู้ดี ๆ มาให้ผู้อ่านบ้านไอเดียได้เรียนรู้กัน สำหรับผู้อ่านท่านใดที่กำลังวางแผนออกแบบบ้านใหม่ หรือ มองหาแบบบ้านสำเร็จรูปคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมหรือปรึกษาข้อมูลได้ที่

facebook :  facebook.com/punplan | Line ID : @Punplan http://credit-n.ru/offers-zaim/zaym-na-kartu_migcredit.html http://www.tb-credit.ru/kredit.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ความรู้ คู่บ้าน


โพสต์ล่าสุด