เมนู

บ้าน ECO คิดมาอย่างดีเพื่อให้อยู่อย่างยั่งยืน

บ้านชั้นเดียวหลังเล็ก

บ้าน ECO

บ้าน ECO บ้านยั่งยืน รักษ์พลังงาน รักษ์ธรรมชาติ

นวัตกรรมในการสร้างบ้านยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีหยุดยั้งจริง ๆ ครับ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เราทุกคนได้อยู่ในบ้านที่สวย สร้างง่าย อยู่สบายแบบยั่งยืน ยิ่งสมัยนี้บ้านสำเร็จรูปแบบ ECO เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก รักษ์พลังงาน ยิ่งน่าจับตามอง เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่เทรนด์แต่เป็นวิถีที่จะนำชีวิตไปสู่การใช้ชีวิตได้อย่างยั่งยืนไปสู่ยุคสมัยหน้า วันนี้บ้านไอเดียจะพาไปชมบ้านคอนกรีตสำเร็จรูปในประเทศบราซิล เป็นหลังเล็ก ๆ ชั้นเดียวนี่แหละครับ แต่ออกแบบมาได้น่าประทับใจมาก ๆ ทั้งวิธีการก่อสร้าง การจัดพื้นที่ และการจัดการพลังงาน ที่ทำให้บ้านนี้น่าอยู่และเป็นอีกทางเลือกสำหรับบ้านในฝันในอนาคต

ออกแบบMindlin Loeb+Dotto Arquitetos
เรียบเรียงบ้านไอเดีย

บ้านคอนกรีตสำเร็จรูป

บ้านชั้นเดียวขนาด 50 ตารางเมตร รูปทรงโมเดิร์นหลังเล็ก ๆ มีชื่อว่า AQUA เป็นแบบบ้านสำเร็จรูป ที่ออกแบบโดยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาสิ่งก่อสร้างอย่างยั่งยืนในพื้นที่ ซึ่งได้รับคัดเลือกจากหน่วยงานเกี่ยวกับนวัตกรรมทางวิศกรรม (Inovatech Engineering) ให้พัฒนาโปรเจ็คจากภาพบนกระดาษให้กลายมาเป็นบ้านจริง ๆ และนี่คือหน้าตาของบ้านที่สร้างโดยยึดหลักเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระดับสูง อุณหภูมิภายในบ้านสบาย ปล่อยของเสียสู่ชุมชนน้อย เป็นอาคารที่สร้างเสร็จเร็ว ขนส่งและเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนสะดวก ประหยัดงบประมาณ และคิดมาให้เข้ากันได้ดีกับสภาพภูมิอากาศของประเทศบราซิลได้อย่างดีเยี่ยม

บ้านชั้นเดียวหลังเล็ก

โครงสร้างหลักของบ้าน ประกอบด้วย แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปและเหล็กเส้น ซึ่งแผงคอนกรีตนี้จะเข้ามาแทนที่เสา คาน และผนังของอาคาร เมื่อได้โครงบ้านแล้วค่อยเติมส่วนประกอบหลังคาและส่วนตกแต่งอื่นๆ เข้าไปในภายหลัง ขั้นตอนการสร้างบ้านก็ง่ายมาก คือ ทำชิ้นส่วนที่โรงงานก่อนจะเคลื่อนย้ายไปประกอบในที่ดิน ทำให้การส่งมอบบ้านทำในระยะเวลาเพียง 10 วันเท่านั้น

สะพานทางเดินเชื่อมเข้าสู่ตัวบ้าน

หลักการออกแบบบ้านหลังนี้ตั้งอยู่สมมุติฐานที่ว่า ถ้าบ้านไม่มีเครื่องปรับอากาศและใช้เพียงแสงธรรมชาติ บ้านจะต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจเรื่องระบบการไหลเวียนถ่ายเทอากาศที่ดี จึงเลือกทำ Facade สีเขียวเจาะรูและปลูกต้นไม้ไว้ข้างในที่ช่วยเรื่องการระบายอากาศและกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน มีระบบหลังคาสีเขียวหรือหลังคาลดร้อน (green roof system)  โดยเว้นพื้นที่ว่างระหว่างหลังคากับตัวอาคารให้อากาศสามารถระบายออกทางด้านหน้า และสร้างช่องแสงช่องลมเป็นประตูบานเลื่อนกรุกระจกขนาดใหญ่ มีพื้นที่ทางเข้ากลางบ้านที่โปร่งโล่งให้ลมเข้า-ออกจากตัวบ้านได้สะดวก ระบบการทำความร้อนภายในบ้านมาจากแผงโซล่าร์เซลล์ซึ่งนอกจากจะใช้ในกับอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างหลอดไฟ (LED พลังงานต่ำ) เครื่องทำน้ำร้อน แล้วยังใช้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้อีก แถมยังมีระบบสำรองน้ำฝนขนาด 79 ลิตรสำหรับเก็บน้ำไว้ใช้ในบ้านด้วย

สะพานเชื่อมเข้าสู่ตัวบ้าน

รอบ ๆ บริเวณบ้านสร้างภูมิทัศน์ที่น่าอยู่ด้วยการปลูกต้นไม้แวดล้อม มีสะพานทางเดินเชื่อมพื้นที่และบรรยากาศภายนอกเข้าสู่ตัวบ้าน

พื้นที่นั่งเล่นกลางแจ้งหน้าบ้าน

ชานนั่งเล่นหน้าบ้าน

นักออกแบบกำหนดฟังก์ชั่นการใช้งานให้บ้านให้มีทั้งพื้นที่ indoor-outdoor ที่เชื่อมต่อเนื่องกันทุกจุด หน้าบ้านนอกจากมีทางเดินเป็นเส้นนำสายตาเชื่อมสู่ตัวบ้านและสร้างจุดสนใจให้ตัวบ้านแล้ว ยังมีลานกลางแจ้งหน้าบ้านให้สมาชิกนั่งเล่นชมวิว ทานอาหารไปพร้อมกับสูดอากาศสดชื่นรอบ ๆ บ้านไปด้วย

พื้นที่นั่งเล่น

การตกแต่งภายใน ห้องนั่งเล่นมีพื้นที่น้อยจึงต้องใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ขนาดเล็กและปรับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายได้ง่าย การติดประตูกระจกรอบด้านช่วยสร้างความรู้สึกกว้างและสว่างให้กับตัวห้อง สีของเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ก็มีความสำคัญ เนื่องจากวัสดุที่เป็นแผ่นคอนกรีตจะให้ความรู้สึกดิบและแข็งกระด้าง การใช้เฟอร์นิเจอร์สีอ่อน ๆ หรือเป็นวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ หวาย กระจูดจะช่วยเพิ่มความนุ่มนวลให้กับพื้นที่ได้ค่อนข้างมาก

มุมนั่งเล่นเล็ก ๆ ในบ้าน

ห้องนอนบรรยากาศสบาย ๆ

บ้านแบบ open plan ที่โล่งทะลุกันทั้งพื้นที่ทำให้จัดสรรการใช้งานได้ง่ายในหลากหลายรูปแบบ ตามแต่ใจและไลฟสไตล์ของผู้อยู่ โครงบ้านเป็นกรอบสี่เหลี่ยมเว้นพื้นที่โล่งตรงกลาง เมื่อนำมาวางต่อเนื่องกันจะเกิดพื้นที่ว่างในบ้านเป็นช่วง ๆ ตามแนวแท่งคอนกรีต ซึ่งสามารถแบ่งพื้นที่การใช้งานให้เป็นสัดส่วนได้โดยไม่ต้องตีผนังทึบหรือติดประตูให้บ้านดูอึดอัดคับแคบ เมื่อต้องการพื้นที่ส่วนตัวก็อาจจะติดม่านกั้นเข้าไปเท่านั้น

ห้องนอนเล็ก ๆ บรรยากาศสบาย

ห้องนอนไม่มีประตูปิด หรือผนังกั้นแบ่งจากพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของบ้าน ทำให้บ้านโล่งสบายและเข้าถึงกันได้ทุกจุด

ตกแต่งหัวเตียง

บ้านนี้ติดตั้งระบบตรวจสอบปริมาณการใช้พลังงานอัตโนมัติ ซึ่งจะวัดการใช้พลังงานจริงของผู้อยู่อาศัยด้วยอุปกรณ์ควบคุมระยะไกล ทั้งนี้เพื่อให้สามารถคาดการณ์การใช้พลังงานได้ดียิ่งขึ้น และช่วยลดการใช้พลังงานให้ได้ 30% เมื่อเทียบกับที่อยู่อาศัยที่ไม่มีระบบการตรวจสอบ เป็นแบบบ้านอัจฉริยะที่ยั่งยืน สวยง่ายใช้งานได้จริง จนอยากให้บ้านเรามีคนทำบ้านแบบนี้ขายกันบ้างนะครับคงจะประหยัดงบประมาณและพลังงานได้สุด ๆ  ^_^

ภาพจำลองอาคาร

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด