เมนู

การประมาณราคางานก่อสร้าง สร้างบ้านงบไม่บาน

การประมาณราคาสร้างบ้าน

หลากหลายปัจจัย ก่อให้เกิดงบบาน

อาจเรียกว่า เป็นคำถามที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดเลยก็ว่าได้ในแฟนเพจบ้านไอเดีย เมื่อสมาชิกพบเห็นแบบบ้านที่ถูกใจ หลังจากกดไลค์กันไปแล้ว คำถามต่อมาก็คือ ราคาเท่าไหร่ งบสร้างเท่าไหร่ เนื่องจากหลายๆ แบบที่แอดมินไม่ได้แจ้งราคาไว้อาจเรียกว่าเป็นส่วนมากเลยก็ว่าได้ ซึ่งก็มีเหตุผลหลายประการ ที่ไม่สามารถแจ้งได้ โดยเฉพาะบางหลัง ที่ไม่มีข้อมูลขนาดพื้นที่ใช้สอย หรืออาจใช้เทคโนโลยีอื่นๆ วัสดุแปลกใหม่ในการสร้างบ้าน ก็จะขอเว้นไว้ ไม่ขอแจ้งราคามั่วให้เกิดความเข้าใจผิดกัน ส่วนแบบบ้านที่มีขนาดพื้นที่ใช้สอยอย่างชัดเจน แบบบ้านเหล่านี้ก็สามารถแจ้งราคาได้ครับ แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น เมื่อแจ้งไปแล้ว หลายคนก็ไม่เข้าใจ ว่าเป็นราคาประมาณการเท่านั้น ราคากลาง แต่ผู้อ่านไม่เป็นกลาง ก็กลับกลายเป็นประเด็นต่อเนื่อง เคยมีแบบบ้านบางหลัง แฟนเพจนำไปประยุกต์สร้างจริง เมื่อสร้างเสร็จ งบบานได้ราคาที่สูงกว่าที่เคยประมาณราคาไว้ กลายเป็นว่าบ้านไอเดียผิด ที่ให้ประมาณราคาให้ได้ไม่ตรง (ทั้งๆ ที่มันเป็นการประมาณราคา) เอาหละครับ วันนี้จึงขอนำบทความ ปัจจัยต่างๆ ของราคา ว่าทำไมราคาในการสร้างบ้าน ถึงได้แตกต่างกัน

บทความ : บ้านไอเดีย
ภาพประกอบ : Otodom
ผู้เขียน อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์

สร้างบ้าน งบไม่บาน

วิธีคิดคำนวณ งบประมาณการสร้างบ้าน

การคำนวณง่ายๆ หลักการแรก คิดคำนวณโดยอ้างอิงตามพื้นที่ใช้สอย โดยปกติแล้วจะคำนวณกันเป็น ตารางเมตร ตั้งแต่ 8,500 – 20,000 บาท/ตารางเมตร เช่น หากในเว็บบอกข้อมูลไว้ว่า บ้านหลังนี้มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 200 ตร.ม. ก็ให้ตั้งไว้เลย บ้านหลังดังกล่าว มีราคาคร่าวๆ ที่ 2 ล้านบาท แต่หลายหลังก็ไม่ได้บอกไว้ ตรงส่วนนี้ต้องขออภัยไว้ด้วยนะครับ หากแอดมินทราบข้อมูลก็จะบอกไว้ ที่ไม่บอก เพราะสถาปนิกไม่ได้แจ้งมา ก็ไม่ทราบจริงๆ ครับ แต่หากตัวบ้านดูไม่ซับซ้อนมากนัก ก็อาจจะบอกพื้นที่กันแบบประมาณคร่าวๆ ได้ ส่วนข้อแตกต่าง รายละเอียดของความแตกต่างของราคาสร้างบ้านนั้น เกิดขึ้นจากอะไรบ้าง มาดูกันครับ

ปัจจัยที่ทำให้งบบาน & ราคาที่แตกต่าง

– สถานที่ก่อสร้าง จัดได้ว่าเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่จะมีผลในการประเมินราคา แม้บ้านจะมีขนาดพื้นที่เท่ากัน ใช้วัสดุเหมือนกันทุกอย่าง แต่หากมีสถานที่ แตกต่างกัน ก็อาจทำให้บ้านราคาแตกต่างกันได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ สร้างบ้านในจังหวัดเชียงใหม่ VS สร้างบ้านในจังหวัดสงขลา 2 จังหวัดนี้ เป็นจังหวัดใหญ่พอๆ กัน แต่เนื่องจาก จ.สงขลา ค่าครองชีพ ค่าแรง ค่าวัสดุต่างๆ แพงกว่าเชียงใหม่ การสร้างบ้านในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงสามารถหาผู้รับเหมาตีราคาได้ถูกกว่าสงขลาพอสมควร หรือแม้แต่ พื้นที่ภายในจังหวัดเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องราคาเท่ากันเสมอไป อาทิเช่น บ้านนาย ก. อยู่ชานเมือง ผู้รับเหมาสามารถขนส่งวัสดุต่างๆ ได้สะดวก อีกทั้งยังมีพื้นที่ไว้สำหรับทำบ้านพักคนงานชั่วคราว บ้านนาย ข. อยู่ในเมือง ยากต่อการขนส่งวัสดุชิ้นใหญ่ เช่น เสาเข็ม อีกทั้งยังไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับสร้างบ้านพักชั่วคราวของคนงาน ผู้รับเหมาจึงจำเป็นต้องเช่าบ้านให้คนงานอยู่อาศัย เป็นอย่างไรบ้างครับ นี่เพียงตัวอย่างเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ยังมีความเปรียบต่างกันอีกมากมาย

– วัสดุก่อสร้าง ของใช้ชนิดเดียวกัน วัตถุดิบต่างกัน ยี่ห้อต่างกัน ลวดลายแตกต่างกัน ย่อมมีราคาที่แตกต่างกันออกไป หากเป็นชิ้นเล็กๆ เพียงไม่กี่ชิ้น คงไม่เห็นข้อแตกต่างมากนัก แต่สำหรับการสร้างบ้าน ปกติแล้วจำเป็นต้องซื้อวัสดุก่อสร้าง วัสดุตกแต่งในปริมาณที่มาก ยกตัวอย่างกันง่ายๆ อีกครั้ง อาทิเช่น กระเบื้องปูพื้น ปัจจุบันมีหลายเกรด กรรมวิธีผลิตที่แตกต่างกัน ในพื้นที่ 1 ตาราเมตรเท่ากัน บางรุ่น ตารางเมตรละร้อยกว่าบาท บางรุ่นตารางเมตรละ สามสี่ร้อย ส่วนต่างเหล่านี้ เมื่อนำไปคูณกับพื้นที่ทั้งหมด ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันมาก อาจมากกว่าเท่าตัวก็เป็นได้ ดังนั้น จึงเป็นการยาก ที่จะมองเพียงภายนอกว่า บ้านหลังดังกล่าวที่สร้างมานั้น ถูก หรือแพง แต่ต้องมองไปถึงรายละเอียดของวัสดุที่เลือกใช้เช่นกัน

– ฝีมือผู้รับสร้าง ไม่ว่าจะเป็น บริษัทรับสร้างบ้าน ผู้รับเหมาทั่วไป หรือแม้แต่นายช่างตามชนบท ก็ย่อมมีเครดิตฝีมือที่แตกต่างกัน บางท่านเน้นงานละเอียด งานปราณีต จึงจำเป็นต้องคิดในราคาแพง บางรายฝีมือระดับหยาบๆ จึงคิดค่าแรงในราคาถูกได้ รวมไปถึงประสบการณ์ และผลงานที่เคยได้ทำมา แน่นอนว่า ผู้เพิ่งเรียนจบมาใหม่ๆ จะให้เงินเดือนเท่านายช่างใหญ่ ซึ่งมีประสบการณ์นับสิบปี ก็จะดูขัดๆ ต่อความเป็นจริง ดังนั้น การที่จะบอกว่า บริษัทนั้น ผู้รับเหมาคนนี้ คิดค่าแรง ถูก หรือแพง ก็ไม่สามารถตัดสินได้ จำเป็นต้องดูผลงานควบคู่กันไปด้วยครับ

– ปัจจัยอื่นๆ ทั้ง 3 ข้อที่ว่ามานั้น เป็นส่วนสำคัญหลัก ในการประเมินความแตกต่างของงบประมาณในการสร้างบ้าน แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ที่อาจทำให้เกิดงบบานได้ ทั้งสภาพอากาศ ความล่าช้าของการทำงาน เวลาก็สำคัญ ข้อมูลบ้านในวันนี้ กลับไปดูอีก 2 ปีข้างหน้า ก็คงไม่ใช่ราคาเดิมแน่นอนครับ หรือความสูงของตัวบ้าน ก็สำคัญไม่น้อย หากเปรียบเทียบเพียงแค่พื้นที่ใช้สอย ก็ไม่อาจได้คำตอบที่ถูกต้องเสมอไป ต้องดูความสูงของบ้านด้วยครับ ยังมีอีกหลายๆ ปัจจัยเลยครับ ฯลฯ

วิธีแก้งบบาน

– ตั้งงบเผื่อไว้ซิ : คำตอบนี้อาจดูกวนใจใครหลายๆคน ก็ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ แต่เจตนานั้น ไม่ได้ต้องการจะกวนอย่างไร เพียงแต่ส่วนใหญ่เลยก็ว่าได้ ในช่วงการเสนอราคา ปกติแล้วบริษัทรับสร้างบ้านหรือผู้รับเหมาทั่วไป ต้องการที่จะได้ลูกค้าไว้ก่อน จึงอาจจะเน้นการคำนวณราคาแบบปกปิด อาจจะบอกไม่หมด ประมาณว่า ค่อยว่ากัน ส่วนเจ้าของบ้านส่วนใหญ่ ก็อยากจะได้ของถูก คาดหวังว่า ผู้รับเหมาจะเสนอราคาถูกๆ มาให้ ซึ่งเราจะเจอกรณีเช่นนี้กันเป็นส่วนใหญ่ จะมีน้อยรายที่เสนอราคาเผื่อไว้ และมีเจ้าบ้านน้อยราย ที่ต้องการหาผู้รับสร้างในราคาสูง เราจึงอาจจำเป็นต้องตั้งงบเผื่อไว้ อาทิเช่น สร้างบ้าน 1.5 ล้านบาท อาจเผื่องบไว้ที่ 2 ล้านบาท เมื่อตอนสร้างจริง เสร็จสิ้นแล้ว 1.9 ล้านบาท อีก 1 แสน ถือเป็นกำไร เอาไว้ซื้อของประดับ ซื้อต้นไม้มาจัดสวนสนุกๆ คิดงบเผื่อไว้ ก็ยากยิ่งที่จะบาน

– ตกลงให้ชัดเจน : ตามพฤติกรรมคนไทยส่วนใหญ่เลยก็ว่าได้ มักเกรงใจกันก่อนแล้วค่อยไปทะเลาะกันตอนหลัง หากเป็นการดำเนินงานในต่างประเทศ กระบวนการติดต่อ จะเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลาในการตัดสินใจอย่างละเอียดมาก พวกเขาจะไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ตรวจสอบหลักฐานต่างๆ อย่างรัดกุม ใช้การพูดคุยให้เครียกันไปตั้งแต่แรก หลังจากตกลงกันได้แล้ว ก็จะไว้ใจโดยทันที แต่สำหรับพวกเราคนไทย ส่วนใหญ่แล้วตอนตกลงงานกันนั้น มักจะไม่ค่อยตรวจสอบรายละเอียดอะไรมากนัก และมักจะละเลยอ่านข้อตกลง ข้อสัญญาต่างๆ ให้ความไว้วางใจในเอกสาร แต่เมื่อดำเนินงานจริงไม่ค่อยไว้ใจ จึงอาจเป็นที่มาของผู้รับเหมาหนีงาน ที่มาของปัญหาทะเลาะกันต่างๆ นานาน เพราะฉะนั้น ทางที่ดี เราควรจะชัดเจนแจ่มแจ้งกันไปตั้งแต่แรกนะครับ อะไรที่ค้างคาใจ ก็อย่าปล่อยให้เลยผ่านไป เพราะเมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง สิ่งที่ค้างคาใจ มันย่อมแสดงออกมาอยู่ดี

* เนื้อหาชุดนี้ เขียนมาเพื่อผู้อ่านทั่วไป ที่กำลังคิดอยากสร้างบ้าน เน้นเหตุปัจจัยต่างๆ และการประเมินราคาบ้านโดยประมาณเท่านั้น สำหรับราคาจริง จะสามารถเกิดได้ขึ้นต่อเมื่อ ผู้รับเหมาได้ประมาณราคาให้แล้ว
http://credit-n.ru/zaymyi-next.html http://www.tb-credit.ru/news.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ความรู้ คู่บ้าน


โพสต์ล่าสุด