เมนู

รื้อบ้านไม้ มาทำบ้าน Loft จังหวะที่เข้ากันได้ของไม้กับปูน

บ้านไอเดียแฟมิลี่

บ้านไทยสไตล์ลอฟท์ ดิบปนอบอุ่นในเมืองรถม้า

ใครที่ชื่นชอบการมาแอ่วเมืองเหนือ นอกจากเชียงใหม่ เชียงราย น่าน คงต้องมาแวะเที่ยวเมืองเก่าแก่ที่ชื่อเขลางค์นครหรือลำปางกันด้วยแน่ ๆ ที่นี่นอกจากจะมีถ้วยตราไก่ รถม้า และพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของลำปางแล้ว ยังเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีบ้านสวย ๆ ซุ่มซ่อนตัวอยู่หลายหลัง อย่างเช่นบ้านที่เราเคยนำเสนอไปของ ป้าเฒ่าเฝ้าสวน ที่ทำบ้านสไตล์ลอฟท์ชั้นเดียวออกมาได้อย่างน่ารัก

วันนี้เราจะพานั่งรถม้าไปชมบ้านอีกหนึ่งหลังที่ต้องบอกก่อนว่า หากบ้านคือสิ่งที่จะบ่งบอกตัวตนหนึ่งของผู้อยู่อาศัย บ้านหลังนี้ก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างไม่มีที่ติ เพราะทุกตารางเมตรอัดแน่นไปด้วยแนวคิดที่ชัดเจน เป็นบ้านสไตล์ลอฟท์ที่ผสมวัสดุง่าย ๆ ในท้องถิ่นที่ปรับประยุกต์ให้เข้ากับการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ให้สามารถเข้ากันได้กับผู้อยู่อาศัยหลายเจเนอเรชั่น เจ้าของบ้านคือคุณชนดล ฟุ้งขจรเกียรติ และภรรยา สมาชิกกลุ่มบ้านไอเดียที่ยินดีนำผลงานการสร้างบ้านมาแบ่งปันให้ชมกันค่ะ

ออกแบบVasfah Sathapattaya
เจ้าของ : คุณชนดล ฟุ้งขจรเกียรติ
งบประมาณ :  ประมาณ 2 ล้านบาท (ไม่รวมเฟอร์นิเจอร์ทำเองและไม้บ้านเก่า)
เนื้อหาบ้านไอเดีย

-เริ่มต้นชัดเจน ได้บ้านที่เจนชัด-

บ้านสองชั้นขนาดประมาณ 200 ตารางเมตร 90% ของไม้ที่ใช้เป็นไม้สัก สร้างบนเนื้อที่ 1 ไร่ หลังนี้  คุณชนดลเล่าที่มาของโครงการสร้างให้ “บ้านไอเดีย” ฟังว่า หลังจากแต่งงานก็วางแผนไว้ว่าจะมีลูกตอนอายุ 30 ตัวบ้านที่เคยอยู่ (ซึ่งเป็นพื้นที่ของคุณพ่อคุณแม่ภรรยา) ทรุดโทรมมาก เพราะสร้างมานานหลายสิบปีและไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต จึงอยากสร้างใหม่โดยมีแนวคิด คือ

” อยากได้บ้าน 2 ชั้น เพราะอยากแยกความเป็นส่วนตัวกับกิจกรรมที่ครอบครัวทำรวมกันออกจากกัน คือชั้นบ้านต้องการให้มีแต่ห้องนอน โดยกำหนดว่าอยากได้  3 ห้องนอนพร้อมห้องน้ำในตัวทั้งหมดเพื่อความสะดวกและความเป็นส่วนตัวที่สุด ในส่วนของชั้นล่างเปิดโล่ง แบบ Open plan แทบจะไม่กั้นห้องในส่วนของชั้นล่างเลย ไม่ว่าจะเป็นห้องครัว ห้องทานอาหาร หรือในส่วนของนั้งเล่นดูทีวี เพื่อให้การสัญจรในบ้านไหลลื่น และจะสามารถมองเห็นกันทั้งหมด ไม่ว่าใครจะทำอะไรอยู่ตรงไหน”

บ้านเก่าก่อนที่จะรื้อนำไม้มาใช้ทำบ้านหลังใหม่ในพื้นที่เดิม

เสาบ้านในตำนานต้นเดิมยังคงอยู่ นำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง สานต่อร่องรอยแห่งความทรงจำที่คุ้นเคยในบ้านหลังใหม่

– บ้านของฉัน บ้านของเธอ บ้านของเรา  –

คุณชนดลเป็นคนชอบแนวโมเดิร์นลอฟท์ ในตอนแรกที่ออกแบบไว้เป็นวัสดุปูนทั้ง 2 ชั้น เพราะเคมีตรงกับปูนเปลือยกับอิฐโชว์แนวมาก คิดว่าจะรื้อไม้จากบ้านหลังเก่าไปขายแล้วนำเงินมาสร้างหลังใหม่ แต่พอนำแบบไปคุยกับทางพ่อและแม่ภรรยา ได้ข้อสรุปว่ายังอยากได้บ้านที่เป็นไม้อยู่ โดยท่านให้เหตุผลจากประสบการณ์ว่า

“บ้านไม้ถ้าเวลาผ่านไป 10 ปีหรือ 20ปี ถ้าเราอยากจะทำบ้านใหม่เราก็สามารถรื้อแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ถ้าเป็นปูนมีแต่ต้องทุบทิ้งเปล่า ๆไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้”

สุดท้ายจึงตัดสินใจใช้แบบแปลนเดิมมาปรับเล็กน้อยเพื่อความสมานฉันท์ ใช้เวลาออกแบบประมาณ 4 เดือน ซึ่งเจ้าของบ้านชัดเจนในสไตล์ตั้งแต่ต้น เมื่อนำภาพที่คิดมาทำงานร่วมกับสถาปนิกจึงคลิกกันได้ง่าย โดยชั้นล่างจะเป็นปูนเปลือยกับอิฐโชว์แนวแบบที่คุณชนดลชอบ แต่เปลี่ยนวัสดุบนชั้น 2 เป็นไม้ตามที่พ่อกับแม่ต้องการ  บ้านนี้จึงออกมาเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของบ้านที่มีสองสไตล์ในหลังเดียวกัน

– Loft to love พบกันครึ่งทางระหว่างปูนและไม้ –

คุณชนดลเลือกใช้อิฐแดงที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นเป็นวัสดุหลักในการก่อตัวบ้าน สลับกับคอนกรีต ปูนเปลือย ที่ปล่อยให้เห็นความดิบตามธรรมชาติของเนื้อวัสดุ งานเหล็ก และงานไม้ธรรมชาติที่เข้ามาช่วยลดทอนความแข็งกระด้างของปูน ทำให้บ้านไม่ขาดความสมดุลย์ ประตูทางเข้าโดดเด่นที่บานประตูบานเฟี้ยมตีช่องตารางติดกระจกโปร่ง ๆ 6 บานติดกัน ทำให้บ้านดูโปร่งเบา รับแสงธรรมชาติเข้ามาสาดส่องภายในได้พอดี และเปิดระบายอากาศร้อนออกไปได้เต็มที่

ชั้นล่างจัดแบบเปิดโปร่งโล่งถึงกัน มีพื้นที่นั่งเล่นอยู่บริเวณเดียวกับครัวแบบไม่มีผนังกั้น ทำให้สัญจรในบ้านได้สบายไม่รู้สึกว่าถูกปิดกั้น และง่ายต่อการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

โต๊ะทานอาหารทำจากไม้สักตัวยาว ด้านหนึ่งวางเก้าอี้มีพนักอ่อนช้อยสวยงาม ส่วนอีกด้านใช้ม้ามั่งยาววางแทนเก้าอี้ เพื่อเพิ่มความรู้สึกเป็นกันเองมากขึ้น สีของเฟอร์นิเจอร์ในครัวปรับให้สีออกน้ำตาลแดง เพื่อให้คงความต่อเนื่องของโทนสีของผนัง

อีกหนึ่งมุมโปรดของทุกคนในบ้าน คือ ครัว ที่ได้กลิ่นอายเสน่ห์ความตรงไปตรงมาของปูนเปลือยขัดมันและความอบอุ่นของอิฐสีแดง เป็นครัวรูปตัว U มีเคาน์เตอร์สำหรับใช้งานได้ ทั้ง 3 ด้าน เว้นพื้นที่ตรงกลางโล่งๆ ให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ในคราวเดียวหลาย ๆ คน โดยไม่ห่วงว่าจะเดินชนกัน เป็นดีไซน์เรียบง่ายที่ตอบโจทย์การใช้งานตามความต้องการในระยะยาวแบบไม่ต้องทำครัวเพิ่มนอกบ้าน

ส่วนครัวจะยกขึ้นสูงกว่าพื้นบ้านแยกพื้นที่ใช้งานให้เป็นสัดส่วน เคาน์เตอร์ที่ก่อด้วยปูนขัดมันทำให้ใช้งานและทำความสะอาดได้ง่าย ด้านที่หันไปทางโต๊ะทางข้าวจะสูงกว่าด้านใน คุณชนดลทำเป็นเคาน์เตอร์บาร์สำหรับทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่มชิล ๆ สำหรับเคาน์เตอร์ที่เหลืออีกสองด้านเอาไว้เตรียมอาหาร ใส่ซิงค์ล้าง ติดตั้งเตา บริเวณนี้ไม่ขาดช่องแสงที่ติดอยู่ด้านข้างบริเวณซิงค์ล้าง ช่วยระบายอากาศ กลิ่น ลดเชื้อโลกและความชื้นสะสม

ถัดจากครัวเป็นมุมซักล้าง

– วัสดุง่าย ๆ +งานฝีมือ ผลงานที่ไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง –

โคมไฟลุคเท่แบบ Industrial loft  ไม่มีขายที่ไหนแต่เป็นฝีมือ D.I.Y ของคุณชนดล ทำจากเศษไม้กับขวดโหลที่หาซื้อตามแมคโคร คุณชนดลเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า “ที่ทำงานไม้เป็น (และสวย) เพราะคุณพ่อแฟนเป็นช่างไม้เคยทำเก้าอี้ขายส่งให้โรงงานมาก่อน เลยทำให้ได้ทักษะเชิงช่างมาด้วย” นอกจากโคมไฟแล้ว โต๊ะ เก้าอี้ หรือแม้กระทั่งเตียงก็ลงมือทำกันเองไม่ได้ซื้อ ช่วยให้ประหยัดค่าเฟอร์นิเจอร์ได้มาก

บันไดขึ้นชั้นสองทำจากไม้สักติดราวกันตกเรียบ ๆ แบบโมเดิร์น บริเวณนี้เจาะทะลุเพดานถึงชั้นสองเป็นโถงสูงแบบ Double Volume ทำให้บ้านดูโอ่โถง ขณะเดียวกันก็ช่วยให้อากาศร้อนลอยตัวขึ้นสู่ด้านบนได้ดี บนหลังคาติดวัสดุโปร่งแสงช่วยให้สามารถรับแสงจากด้านบนเข้ามาเติมความสว่างให้บ้าน เพิ่มความปลอดภัยในการใช้บันได

ผลงานเตียงนอนขนาดใหญ่ที่เจ้าของบ้านลงมือทดลองต่อด้วยตัวเอง เป็นชิ้นงานมาสเตอร์พีซในห้องนอนหลัก

ชั้นบนเป็นส่วนของห้องนอนทั้งหมด 3 ห้อง แต่ละห้องใช้วัสดุทำพื้น ผนัง เพดานจากไม้สักที่มีลวดลายและโทนสีเข้มสวยอยู่แล้ว พื้นไม้จึงใช้เพียงยูรีเทนแบบใสเงาทาเพื่อความเงางาม ส่วนตัวผนังกับฝ้าเพดานใช้สีแบบใสด้าน ผนังห้องเจาะช่องแสงและช่องลมขนาดใหญ่ เปิดเพื่อรับลมให้ระบายอากาศ รับแสงธรรมชาติ และรับมุมมองของบริบทรอบข้างได้ดี

Walk-in closet แยกเป็นห้องออกมาต่างหากจากห้องนอน ติดราวแขวนจากเหล็กทั้งสองด้าน มีชั้นวางที่จัดเก็บเสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัวได้มากและเป็นสัดส่วน

ห้องน้ำตกแต่งผนังด้วยปูนขัดมัน ปูพื้นด้วยกระเบื้องลายสวยโทนสีเทาขาว เข้ากับสีของผนังและสุขภัณฑ์ ภายในจัดแบ่งโซนแห้งโซนเปียกแยกออกจากกัน ในส่วนชาวเวอร์มีประตูกระจกแบ่งกั้นป้องกันน้ำกระเซ็น ทำให้การใช้งานปลอดภัยสำหรับผู้สูงวัยและเด็ก

มุมมองด้านข้างอาคาร จะเห็นหลังคาลาดเอียงเล็กน้อยเพื่อให้ช่วยระบายน้ำฝนได้ดี ไม่มีน้ำตกค้างบนหลังคาที่อาจจะทำให้เกิดการรั่วซึมได้ บริเวณใต้หลังคาติดแผงระแนงไม้ เป็นปราการช่วยกั้นกรองแนวแสงแดดที่สาดส่องเข้าไปในส่วนพื้นที่พักผ่อนในวันที่แดดจัด ทำให้ตัวบ้านไม่ร้อนมาก

สิ่งสำคัญสำหรับการสร้างบ้านหลังนี้ไม่ใช่ที่ตัวอาคารอย่างเดียว แต่เป็นการจัดสรรสัดส่วนการใช้งานทั้งภายในและภายนอก ที่ต้องมีที่ว่างให้ทั้งคนและบ้านได้หายใจ นอกจากตัวบ้านที่โปร่งสบายแล้ว ยังจัดพื้นที่เฉลียงเชื่อมต่อกับที่ว่างข้าง ๆ บ้านสำหรับนั่งเล่นรับบรรยากาศธรรมชาติ ให้สีเขียวของต้นไม้ใบหญ้าเติมความมีชีวิตชีวาและลดความดิบกระด้างของตัวบ้านลงด้วย

หลังจากนั่งรถไฟไปต่อรถม้าเที่ยวชมเมืองและบ้านที่ลำปางด้วยกันแล้ว รู้สึกได้เลยใช่ไหมคะว่าบ้านยุคใหม่แถบนี้มีแนวคิดในการสร้างที่น่าจับตามอง ทั้งการเลือกใช้วัสดุและมุมมองในการนำสไตล์ใหม่ ๆ มาปรับประยุกต์ใช้กับท้องถิ่นได้อย่างสมดุล ดูแล้วรู้สึกได้เลยว่าไม่ใช่การสร้างบ้านเพื่อตอบสนองความชื่นชอบส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังลดอัตตาตัวตนเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับสมาชิกทุกคนได้อยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรทั้งในแง่ของความรู้สึกและฟังก์ชั่นในการอยู่อาศัย แม้จะเป็นบ้านที่ใช้วัสดุดิบ ๆ แต่ออร่าของความอบอุ่นกลับกระจายตัวอยู่เต็มพื้นที่ทีเดียวค่ะ ^-^ http://credit-n.ru/vklady.html http://www.tb-credit.ru/return.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด บ้านไอเดียแฟมิลี่


โพสต์ล่าสุด