เมนู

บ้านน้อยในป่ายาง สวยเท่ ๆ วิถีชาวใต้ @พัทลุง

Phatthalung House

บ้านในสวนยาง เรียบง่ายแต่เท่แบบไม่ธรรมดา

ถ้าให้นึกถึงบ้านในสวน เราคงพอนึกออกว่าต้องเป็นบ้านที่แวดล้อมด้วยต้นไม้ ดอกไม้ สวย ๆ  แต่ถ้าบอกว่าบ้านอยู่ในสวนยางพารา เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะนึกภาพไม่ออก เพราะในภาพจำที่คุ้นตาสวนยางทั้งทึบและชื้น แต่เนื้อหาชุดนี้ “บ้านไอเดีย” จะพาไปรู้จักกับบ้านหลังหนึ่งในอำเภอกงหรา ตำบลท่าแค จังหวัดพัทลุง เป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิกฝีมือเยี่ยม คุณรักษ์ชัย นรธีร์ดิลก ที่จะมาเปลี่ยนภาพลักษณ์เดิม ๆ ของสวนยาง เติมคุณค่าใหม่ ๆ แบบที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน ด้วยแบบบ้านชั้นเดียวที่สร้างสรรค์ให้ลูกค้า V.I.P คุณสกมล นรธีร์ดิลก ซึ่งก็คือคุณแม่ของสถาปนิกเอง งานสำหรับคุณแม่ทั้งที ภายในบ้านแต่ละจุดจะมีแนวคิดอย่างไร จะเก๋น่าอยู่ถูกใจคุณแม่ขนาดไหน ตามไปชมด้วยกันเลยครับ

ออกแบบ |ภาพถ่าย : Rakchai Norateedilok
เรียบเรียงบ้านไอเดีย

หลังจากที่คุณสกมลใช้เวลามากกว่า 20 กว่าปีในกรุงเทพฯ แล้วรู้สึกว่าอิ่มตัวกับการอยู่ในเมืองใหญ่ และอยากกลับมาดูแลคุณตาคุณยายอย่างใกล้ชิดที่บ้านเดิม จึงตัดสินใจย้ายกลับไปที่จังหวัดพัทลุง โดยมีแนวคิดว่า “อยากได้พื้นที่ส่วนตัวที่อยู่ท่ามกลางสวนยาง แต่ก็ยังคงให้มีความสัมพันธ์กับตัวบ้านเดิมอยู่”  สถาปนิกจึงทุ่มเทออกแบบบ้านในเวลาอันรวดเร็วเพื่อก่อสร้างให้ทันวันรวมญาติ จนได้ผลงานออกมาเป็นบ้านน้อยชั้นเดียวกลางสวนยางที่เงียบสงบ เรียบง่าย ในงบประมาณที่รวมทุกอย่างแล้วเพียง 7 แสนบาทเท่านั้น

ส่วนหน้าของบ้าน

มุมมองหลังบ้านจากป่ายางพารา

สถานที่สร้างบ้านอยู่กลางสวนยาง ซึ่งเป็นชุมชนเกษตรกรรมในท้องถิ่นอันเงียบสงบ บ้านใหม่อยู่ระหว่างป่ายางและห้องครัวของบ้านเก่าที่อยู่ด้านหน้า ครัวจึงเป็นฟังก์ชั่นที่ยึดเชื่อมให้เกิดความต่อเนื่องสัมพันธ์กันระหว่างบ้านสองหลังเอาไว้ การออกแบบเน้นการใช้วัสดุที่กลมกลืนกับบริบทแวดล้อมให้มากที่สุด โดยใช้วัสดุเพียงไม่กี่อย่าง แต่เลือกที่คุณสมบัติสอดรับกับการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ อย่าง ผนังปูนเป็นปูนฉาบบาง skim coat ผิวด้าน เคลือบน้ำยากันคราบกันเชื้อรา ตกแต่งด้วยไม้เพื่อเชื่อมต่อกับธรรมชาติและสร้างบรรยากาศที่ดูอบอุ่น ลดทอนความแข็งกระด้างของเหล็กและผนัง



การวางแนวอาคารเป็นไปตามทิศทางของแดด ลม ฝน เพื่อให้บ้านตอบสนองต่อสภาพภูมิอากาศและอยู่สบายมากที่สุด ด้านสั้นของอาคารจะรับแดดจากทิศตะวันตก และตะวันออก ด้านทิศเหนือ-ใต้ เปิดกว้างเพื่อเป็นการรับมุมมองและลม พร้อมทั้งเชื่อมต่อพื้นที่กิจกรรมกับส่วนครัวของบ้านเดิม ในภูมิภาคนี้ของประเทศมีฝนตกชุก จึงขยายชายคาขนาดใหญ่ออกมาคลุมตัวบ้านทุกด้าน หลังคาลาดเอียงเพื่อให้ระบายน้ำฝนได้ดี ตัวบ้านสูงจากพื้น 45 เซนติเมตร ป้องกันความชื้นบริเวณพื้นที่อาจจะสร้างความเสียหายให้ตัวบ้านได้

ประตูหน้าบ้านทำหน้าที่ฟาซาดสร้างความเป็นส่วนตัวให้บ้านไปด้วยในตัว บานเหล็กสีดำตีไม้ระแนงทับในแนวทะแยงเพื่อความสบายตา ไม้ที่ใช้ทำระแนงคือ ไม้เสียดช่อ ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งพันธุ์พื้นเมืองของมาเลเซียที่พบมอดและปลวกน้อยมาก เหมาะสำหรับทำพื้น ประตู หน้าต่าง นำมาเคลือบด้วยน้ำยาและสีย้อมไม้เพื่อรักษาเนื้อไม้

พื้นที่ใช้สอยของบ้าน แบ่งออกเป็น 3 พื้นที่หลัก คือ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ สถาปนิกกำหนดให้ห้องนั่งเล่นอยู่ตรงกลาง และวางพื้นที่ห้องน้ำและตู้เสื้อผ้าขนาบข้างทิศตะวันตกและตะวันออก เพื่อเป็นปราการกันไม่ให้ห้องนั่งเล่นได้รับความร้อนจากทั้งสองด้านของบ้าน ภายในอาคารจัดเป็นห้องโถงโล่ง ๆ มีห้องนอนกับห้องนั่งเล่นอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยมีพาร์ทิชันปูนเปลือยแสดงขอบเขตมุมสันทนาการกั้นแบ่งห้องนอนด้านหลัง แบบไม่ได้ก่อผนังปิดทึบแยกขาดออกจากกัน จึงมีพื้นที่ว่างเหลือให้บ้านหายใจ และสามารถใช้งานพื้นที่ได้อย่างยืดหยุ่นลื่นไหล

มุมทำงานเล็กๆ ไม่เปลืองเนื้อที่ มีช่องแสงแนวนอนขนานไปกับโต๊ะ ช่วยเปิดวิสัยทัศน์ในขณะทำงาน และดึงแสงสว่างเข้ามาในบ้านได้อีกหนึ่งช่องทาง

มุมนั่งเล่นจัดง่าย ๆ มีเพียงโซฟาตัวใหญ่ ตู้บิวท์อินสำหรับเก็บและวางของ ติดตั้งประตูบานใหญ่ตรงส่วนนั่งเล่นทั้งสองด้านของผนัง ให้แสงธรรมชาติและอากาศสามารถไหลผ่านพื้นที่กระจายเข้าไปทะลุได้ทั้งหมด

เมื่อเปิดบานประตูไม้ระแนงในห้องนั่งเล่นออก จะเห็นชานกลางแจ้งที่ตีพื้นเชื่อมต่อออกไปรับกับวิวสวนยาง วิธีนี้นอกจากจะสร้างความต่อเนื่องของพื้นที่ภายในภายนอก มีพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งแล้ว ยังเป็นกลวิธีในการเพิ่มพื้นที่ใช้งานตัวบ้านให้มากขึ้นจนกลายเป็นห้องกึ่งเอาท์ดอร์ขนาดใหญ่

ชานที่ยื่นจากห้องนั่งเล่นตีพื้นด้วยไฟเบอร์ซีเมนต์ทาสีโทนน้ำตาลธรรมชาติ ต่อเชื่อมกับส่วนนั่งเล่นในบ้านออกไปรับกับวิวสวนป่าที่แสนสดชื่น

พื้นที่กลางแจ้งช่วยดึงผู้อยู่อาศัยออกมาจากตัวอาคาร เพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ ใช้ชีวิต slow life อิ่มใจกับการชมชมทิวทัศน์ ซึมซับบรรยากาศธรรมชาติที่ในตัวบ้านไม่มี ไม่ว่าจะเป็นยามเช้าหรือบ่ายคล้อย ก็สามารถใช้พื้นที่นี้ทำกิจกรรมที่ชอบแบบอเนกประสงค์

ช่องว่างระหว่างซี่ระแนงไม้ที่ตีเป็นเส้นอยู่บนโครงเหล็ก เปิดช่องว่างสำหรับให้แสงผ่อนลอดได้ ทำให้เกิดลวดลายของแสงเงาที่ตกกระทบเพดาน พื้น ผนัง สร้างมิติทางสายตาที่สวยงามให้กับบ้าน

ถ้าธรรมชาติไม่มาหาเราก็เพียงแค่นำตัวเองเข้าไปใกล้ชิดอย่างถึงที่สุด ด้วยการสร้างห้องน้ำปูนเปลือยกึ่งเอาท์ดอร์ เปิดโล่งด้านบนและด้านข้าง รับสายลม แสงแดด แสงจันทร์ ทุกครั้งที่อาบน้ำร่างกายจะได้รับสัมผัสธรรมชาติที่แตกต่างในแต่ละช่วงของวันในฤดู

ยามค่ำคืนเมื่อแสงของไฟส่องลอดผ่านซี่ไม้ระแนง ทำให้บ้านดูเปร่งสว่างคล้ายตะเกียงดวงใหญ่ตั้งอยู่กลางธรรมชาติ เกิดแสงเงาที่ทำให้ลวดลายทะแยงดูคล้ายเส้นสายฝนที่สาดเป็นเส้นอยู่หน้าบ้าน

สวนยางที่มีมาแต่เดิมมีความร่มรื่นสวยงามอยู่แล้ว สถาปนิกเพียงใช้สายตาอันเฉียบคม เลือกมุมที่จะสร้างพื้นที่ให้มีความหมายมากยิ่งขึ้น โดยการยื่นชานบ้านออกไปรับกับสวนป่ายางด้านหลัง และเลือกวัสดุที่ส่งเสริมให้บ้านหลังนี้ดูธรรมดา เรียบ เฉียบ เข้ากับเปลือกไม้ที่รายล้อม แต่ก็แทรกรายละเอียดทางสายตาที่น่าสนใจ จึงตอบโจทย์ตั้งแต่แนวคิด การออกแบบดีไซน์บ้าน ฟังก์ชั่นการใช้งาน ออกมาเป็นบ้านกลางสวนยางที่พร้อมต้อนรับคุณแม่ครับ

แปลนบ้าน

สำหรับใครที่ชื่นชอบผลงานของสถาปนิกและอยากติดตามสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถคลิกเข้าไปได้ที่ fb.com/rakchai.norateedilok http://credit-n.ru/offers-zaim/viva-dengi-credit.html http://www.tb-credit.ru/microkredit.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด