เมนู

วิธีเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ IKEA ด้วยตนเอง วิธีที่แฟนอีเกียใช้กันทั่วโลก

เฟอร์นิเจอร์ IKEA

การเลือกซื้อ เฟอร์นิเจอร์ IKEA ด้วยตนเอง

ทำความเข้าใจ Self Serve วิธีซื้อเฟอร์นิเจอร์ IKEA ด้วยตนเองซึ่งเป็นวิธีที่แฟนอิเกียใช้กันทั่วโลก ปรัชญาการออกแบบ และที่มาของชื่อ ‘อิเกีย’


ออกเสียงให้ชัดๆ ได้เลยว่า อิเกีย อย่าได้กังวล อย่าได้สับสน สำหรับแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชื่อก้องโลกจากประเทศสวีเดนที่เขียนว่า IKEA ซึ่งบัดนี้มาลงหลักปักฐานเปิดสาขาในประเทศไทยแล้วด้วยพื้นที่ขนาด 43,000 ตารางเมตร พร้อมพื้นที่จอดรถ 1,500 คัน มีรายการสินค้าให้เลือกซื้อ 7,500 รายการ เป็นอิเกียสาขาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บนถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 8 จึงได้ชื่อ อิเกีย บางนา เหมือนเป็นนัยว่าจะมีสาขาอื่นตามมาอีก นอกจากโชว์รูมสินค้าที่นำเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านสวยงามนานาชนิดมาจัดวางในลักษณะ ‘ห้องตัวอย่าง’ แบบที่เราเคยเห็น อิเกียยังนำประสบการณ์ใหม่ในการซื้อเฟอร์นิเจอร์ซึ่งเป็น วัฒนธรรมอีเกีย มาด้วย วัฒนธรรมนี้เป็นที่รู้จักและใช้ในอีเกีย 330 สาขา ใน 38 ประเทศทั่วโลก

Self Serve แกะรอยสินค้าด้วยตัวเอง
++ในการเลือกซื้อสินค้าทั่วไป ถ้าเป็นของชิ้นเล็ก ของน้ำหนักเบา ผู้ซื้อสามารถหยิบใส่ตะกร้าหรือรถเข็นตามปกติได้ทันที ที่อิเกียก็เป็นแบบนี้เช่นกัน แต่ที่แตกต่างมากกว่านั้นคือ ขณะเดินเลือกหรือชมสินค้า คุณจะสังเกตป้ายราคาสินค้าอิเกียมีด้วยกัน 2 สี คือ ‘สีแดง’ และ ‘สีเหลือง’ ป้ายราคาสีเหลือง จะแสดงถึงสินค้าขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก หรือมีด้วยกันหลายชิ้นส่วน ไม่สะดวกหยิบเอง ต้องแจ้งกับพนักงานที่จุดบริการเพื่อรายละเอียดของสินค้าหรือการเคลื่อนย้าย เช่น ชุดห้องครัว ส่วน ป้ายราคาสีแดง นี่แหละที่เป็นวัฒนธรรมการชอปปิงแบบอิเกีย

++ป้ายราคาสีแดงหมายถึงสินค้าประเภท Self Serve (เซลฟ์ เสิร์ฟ) มีความหมายตรงตัวคือ ‘บริการตัวเอง’ เป็นสินค้าที่คุณต้องเดินไปหยิบเอง ณ ตำแหน่งที่กล่องบรรจุภัณฑ์ของสินค้าชนิดนั้นๆ จัดวางอยู่ แน่นอนว่าไม่ใช่ภายในโชว์รูม ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 1 แต่สินค้าประเภท ‘เซลฟ์ เสิร์ฟ’ จะถูกแยกเก็บไว้ที่ชั้นล่าง (ชั้น G) ภายในส่วนที่เรียกว่า ‘มาร์เก็ตฮอลล์’ มีสินค้ากว่า 3,500 รายการ เช่น โคมไฟ พรม เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องนอน สินค้าห้องน้ำ ฯลฯ และอีกส่วนที่เรียกว่า ‘คลังสินค้าบริการตัวเอง’ ต่อไปแฟนอิเกียคงจะเรียกกันติดปากว่า ‘เซลฟ์ เสิร์ฟ สโตร์’ มีพื้นที่ 7,264 ตารางเมตร ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ต้องนำไปประกอบเอง หรือสินค้าที่อิเกียเรียกว่า ทำเองก็ได้ง่ายนิดเดียว (DIY) รวมแล้วกว่า 4,000 ชิ้น เช่น เก้าอี้ ชั้นวางหนังสือ ตู้ลิ้นชัก โต๊ะทำงาน ตู้แขวน ตู้เสื้อผ้า ฯลฯ

–การหาสินค้าที่ต้องการภายในพื้นที่กว่าเจ็ดพันตารางเมตร ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะอิเกียออกแบบระบบไว้เป็นอย่างดี บนป้ายราคาสีแดงมีข้อมูลที่เปรียบเสมือนลายแทงขุมสมบัติ เมื่อเข้าไปในอิเกีย ให้มองหาจุดวางแผ่น ชอปปิง ลิสต์ (Shopping List) หรือใบจดรายการสินค้า ชอปปิงลิสต์แบ่งเป็น 6 ช่องเรียงกันไปคือ จำนวน ชื่อสินค้า รหัสสินค้า ราคา แถว ช่อง นี่คือรายละเอียดสินค้าชิ้นที่เราต้องการและต้องจดลงไป ข้อมูลทั้งหมดนี้ปรากฏอยู่บนป้ายราคาสีแดง “ข้อมูลทั้งหมดต้องจดให้ครบ โดยเฉพาะ ‘แถว’ และ ‘ช่อง’ เพราะเป็นข้อมูลที่บอกว่าสินค้าที่คุณต้องการ วางอยู่แถวที่เท่าไรภายในสโตร์ และช่องที่เท่าไรของแถวนั้น” อานนท์ ศิริภาพ ผู้จัดการแผนกเซลฟ์ เสิร์ฟ กล่าวและว่า ที่สำคัญอีกอย่างคือ รหัสสินค้า สินค้าชิ้นเดียว แต่อาจมีรหัสมากกว่า 1 รหัส เช่น เก้าอี้ Poang (พัวแอง) ดูเป็นเก้าอี้ตัวเดียว แต่มีสองรหัส เพราะเก้าอี้ตัวนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ‘โครงเก้าอี้’ กับ ‘เบาะนั่ง’ ดังนั้นบนป้ายราคาจะแสดงรหัสไว้ 2 รหัส รหัสของโครงเก้าอี้ และรหัสของเบาะนั่ง ถ้าจดมารหัสเดียว คุณก็จะได้เก้าอี้ไม่ครบตัวกลับบ้าน
เมื่อบันทึกข้อมูลไว้ในชอปปิงลิสต์เรียบร้อยแล้ว เดินลงไปชั้น G ไปเอารถเข็นที่ออกแบบไว้เป็นเศษสำหรับบรรทุกสินค้า อิเกียแยกส่วนประกอบของสินค้าออกเป็นชิ้นๆ แล้วบรรจุไว้ในบรรจุภัณฑ์แบบ ‘กล่องแบน’ หรือไม่ก็เป็นกล่องที่สะดวกต่อการขนย้าย เดินไปที่หมายเลขแถวและหมายเลขช่องตามที่จดมา คุณจะพบกล่องบรรจุภัณฑ์มากมายเรียงเป็นระเบียบอยู่ที่นั่น ขั้นต่อไปคือ ตรวจสอบรหัสสินค้าที่จดมา ให้ตรงกับรหัสสินค้าบนบรรจุภัณฑ์บนชั้นที่วางอยู่ คุณก็จะได้สินค้าชิ้นนั้นตามต้องการ เมื่อชำระเงินก็นำสินค้ากลับบ้านได้เลย ไม่ต้องรอคิวการจัดส่ง (หรือเลือกบริการจัดส่งสินค้าของอิเกียก็ได้) เมื่อไปถึงบ้านก็แกะกล่องนำชิ้นส่วนต่างๆ ออกมาประกอบเป็นสินค้าตามคู่มือที่แนบไว้ในกล่อง แล้วใช้งานได้ทันที  บนป้ายราคาสีแดง นอกจากมีข้อมูลที่ระบุตำแหน่งว่าสินค้าวางอยู่ไหนในสโตร์ ยังมีข้อมูลวิธีดูแลรักษา วิธีทำความสะอาด ขนาดของสินค้าอย่างละเอียด ประเภทวัสดุของสินค้า พร้อมข้อความนี้ ‘สินค้ายังไม่ได้ประกอบ’ นั่นหมายความว่าถ้าคุณซื้อสินค้าชิ้นนี้ คุณต้องนำไปประกอบเอง
การที่ลูกค้าทำเองตั้งแต่จดรหัสสินค้า แล้วเดินไปหยิบบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่ต้องการภายในสโตร์ด้วยตัวเอง จ่ายเงิน ประกอบสินค้าด้วยตัวเองที่บ้าน คือการบริการตัวเองที่เรียกว่า เซลฟ์ เสิร์ฟ เป็นวัฒนธรรมการซื้อเฟอร์นิเจอร์ของอิเกียที่แฟนอิเกียทั่วโลกรู้จักกันดี

ทำไมต้องมี ‘เซลฟ์ เสิร์ฟ’
ทำไมต้องมีระบบ ‘เซลฟ์ เสิร์ฟ’ คำตอบของคำถามนี้สามารถตอบข้อสงสัยในราคาที่ย่อมเยาของอิเกียได้ด้วย
ลาเซีย เชอร์ล็อค (Lacia Sherlock) ซึ่งเคยทำงานกับอิเกียที่แคนาดาและรัสเซียก่อนมารับตำแหน่งผู้จัดการ ‘อิเกีย สโตร์ บางนา’ กล่าวว่า นอกจากความมุ่งมั่นในการผลิตสินค้าเพื่อสร้างสรรค์ชีวิตประจำวันที่ดีกว่าสำหรับคนทั่วไปในทุกๆ วัน ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ในการผลิตสินค้า อิเกียยังมีสัญญาใจกับผู้ซื้อทั่วโลกด้วยว่า You do your part. We do our part. Together we save money หรือ “คุณทำหน้าที่คุณ เราทำหน้าที่เรา เพื่อสินค้าราคาย่อมเยาที่เราช่วยกันสร้าง”
“คุณทำหน้าที่คุณ” หมายถึงจากการที่ลูกค้าทำสิ่งง่ายๆ ที่ทำได้ด้วยตนเอง เช่น เลือกสินค้าที่ถูกใจในโชว์รูม หยิบสินค้าที่ต้องการในเซลฟ์เสิร์ฟสโตร์ได้ด้วยตัวเอง นำสินค้ากลับบ้านแล้วประกอบด้วยตนเอง ทำให้ลดต้นทุนได้ส่วนหนึ่ง “เราทำหน้าที่เรา” คืออิเกียออกแบบสินค้าที่ตรงใจลูกค้า ดีไซน์สวยงาม ประโยชน์ใช้สอยคุ้มค่า เป็นดีไซน์ที่สามารถถอดออกเป็นชิ้นๆ แล้วบรรจุลงใน ‘กล่องแบน’ เพื่อความสะดวกในการขนย้าย ทำให้สามารถตัดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหลายอย่าง ประกอบกับการเสาะหา ‘ซัพพลายเออร์’ ที่เลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมที่สุดในการผลิต และการสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากอันเนื่องมาจากความต้องการของลูกค้า
ผลลัพธ์จาก ‘สัญญาใจ’ ที่ได้ คือต้นทุนที่ลดลง
ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่ทำให้อิเกียควบคุมราคาสินค้าได้ย่อมเยาสมเหตุสมผล คือIKEAใช้วิธี ออกแบบสินค้าจาก ‘ราคาขาย’ ตั้งราคาขายเป็นโจทย์ไว้ก่อน แล้วให้ทีมดีไซเนอร์ช่วยกันออกแบบ คิดหาวิธีผลิตว่าจะผลิตด้วยวัสดุใด ใช้ขั้นตอนการผลิตอย่างไร บรรจุและขนส่งอย่างไร เพื่อให้ขายสินค้าได้ในราคาที่ตั้งไว้ นั่นคือโจทย์หลักที่นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องนำไปคิด

หากสังเกต จะเห็นว่าสินค้าชิ้นเดียวกันของอิเกียมี ราคาลดลงทุกปี โดยเฉพาะสินค้ายอดนิยม เมื่อมีความต้องการสูง อิเกียก็สามารถลดต้นทุนและลดราคาลงได้ เจ้าหน้าที่อิเกียคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ที่สิงคโปร์มีสินค้าบางชิ้นเคยขายในราคา 200 เหรียญสิงคโปร์ แต่ด้วยความเป็นสินค้ายอดนิยม ปัจจุบันอิเกียสามารถทำราคาลงมาเหลือ 50 เหรียญสิงคโปร์เท่านั้น

ตัวตนของอิเกีย
การออกแบบสินค้าจาก ‘ราคาขาย’ เป็นกรรมวิธีของอิเกีย แต่ แนวคิดหลัก ที่อิเกียใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบสินค้า คือความคิดที่ว่า “ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมควรมีโอกาสได้ใช้เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านที่มีรูปแบบสวยงาม ใช้งานได้อย่างคุ้มค่าและปลอดภัยในราคาไม่แพง ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากก็สามารถแต่งบ้านให้ดูดีได้” ลาเซีย เชอร์ล็อคกล่าวและว่า ปัจจัยที่ทำให้อิเกียประสบความสำเร็จได้ คือความเข้าใจรูปแบบการใช้ชีวิตและความต้องการที่แตกต่างของผู้คนทั่วโลก เช่นเดียวกับการมาที่เมืองไทย อีเกียได้สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์คนไทยและก็พบว่าคนไทยมีความต้องการและให้ความสำคัญกับที่อยู่อาศัยไม่น้อยไปกว่าคนในประเทศอื่น ข้อที่แตกต่างคือ คนไทยให้ความสำคัญกับ ลูกๆ ดังนั้นที่ ‘อิเกีย บางนา’ จึงมีเฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็กให้เลือกมากขึ้น
ในขณะที่ไทยก็มี ‘แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ท้องถิ่น’ ที่แข็งแกร่ง แต่ลาเซีย เชอร์ล็อคเชื่อว่า จากปรัชญาและระบบต่างๆ ที่ IKEA ออกแบบ เช่น เซลฟ์เสิร์ฟ แนวคิดหลักในการออกแบบสินค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์จากราคาขาย ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปประกอบได้เองซึ่งทำให้เกิด กิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัว (Family Affair) เช่น พ่อแม่กับลูกๆ ช่วยกันต่อเฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่คู่รัก องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้รูปแบบธุรกิจของอิเกียมีเอกลักษณ์โดดเด่นและแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากธุรกิจอื่น

ชื่อ IKEA มาจากไหน
อิเกีย เกิดจากตัวอักษรตัวแรกของชื่อเฉพาะ 4 ชื่อ คือ
I = Ingvar (อิงวาร์) ชื่อของผู้ก่อตั้ง
K = Kamprad (คัมปราด) นามสกุลผู้ก่อตั้ง
E = Elmtaryd (เอล็มทารีด) ชื่อฟาร์มที่อิงวาร์อาศัยอยู่สมัยเด็ก
A = Agunnaryd (อากูนนารีด) ชื่อหมู่บ้าน
อิเกียถือกำเนิดจากความคิดของผู้ชายชื่อ อิงวาร์ คัมปราด เขาเกิดที่เมืองสมอลันด์ (Smaland) ในประเทศสวีเดน เป็นเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบและผู้คนใช้ชีวิตกันอย่างยากลำบาก อิงวาร์ในวัยเด็กเริ่มการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ด้วยการซื้อไม้ขีดไฟมาแบ่งขายให้เพื่อนบ้าน จากนั้นก็เริ่มขายปลา เขาฝ่าฟันอุปสรรคของชีวิตวัยเด็กจนกลายมาเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ ‘อิเกีย’ ในปี ค.ศ.1943 และเริ่มเปิดตัวธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1948 (พ.ศ. 2491) และกลายมาเป็นธุรกิจระดับโลกทุกวันนี้

คำแนะนำ
IKEA บางนามีกำหนดเปิดบริการวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 สำหรับผู้ต้องการความรวดเร็ว ไม่มีเวลาเดินจดข้อมูลผลิตภัณฑ์ในโชว์รูม แฟนอิเกียสามารถเข้าไปจดข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนได้ที่เว็บไซต์ ikea.co.th รวมทั้งใน แค็ตตาล็อก สำหรับผู้ได้รับแจกไปล่วงหน้า แต่ต้องขอบอกว่า ถ้าไปถึงอิเกียบางนาแล้ว ไม่ควรพลาดการเดินชมโชว์รูม เพราะทีมอิเกียออกแบบและตกแต่งห้องตัวอย่างไว้ให้ชมมากถึง 60 ห้อง ละลานตาด้วยสินค้ากว่า 7,500 รายการ

ภาพ : เอกรัตน์ ศักดิ์เพชร

ข้อมูลโดย กรุงเทพธุรกิจ http://www.tb-credit.ru/microzaimy.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด IKEA อิเกีย


โพสต์ล่าสุด