ภาษีบ้าน
นายกสั่งชะลอภาษีบ้านแล้ว หวั่นประชาชนเดือดร้อน
วันนี้ (12 มี.ค.2558) นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมร่วมคณะกรรมการขับเคลื่อนชุดต่างๆ 5 คณะ ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในการประชุม ซึ่งนพ.ยงยุทธกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมให้ชะลอเรื่องการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปก่อน โดยจะยังไม่นำร่างพ.ร.บ.เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
ที่มา : ThaiPBS
นพ.ยงยุทธกล่าวว่า พล.อ.ประยุท์ธ์มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในระยะ ยาว และไม่ให้กระทบต่อประชาชน เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจชะลอตัว ประชาชนที่มีรายได้น้อยยังมีภาระด้านค่าครองชีพอยู่ จึงอยากให้ชะลอกฎหมายฉบับนี้ไปก่อน
“เรื่องการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น นายกรัฐมนตรีได้ให้ชะลอเรื่องนี้ออกไปก่อน และให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะขณะนี้เศรษฐกิจก็ยังมีปัญหาอยู่” โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว
อย่างไรก็ตาม นพ.ยงยุทธ กล่าวว่าการตัดสินใจชะลอกฎหมายนี้ ไม่ได้เป็นผลจากแรงกดดันหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่นายกรัฐมนตรีอยากให้มีความชัดเจนและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและดู แนวทางที่เหมาะสมในอนาคต โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบในการรวบรวมศึกษา
“จริงๆ เรื่องนี้ (พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ยังเป็นเรื่องที่อยู่ในช่วงของการหารือเป็นการภายในเท่านั้น เป็นเรื่องของการศึกษาข้อมูล หลังจากนี้ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาต่อไป” นพ.ยงยุทธกล่าว
ขณะที่นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมส่งหนังสือชี้แจงและแสดงความไม่เห็นด้วย หากนายกรัฐมนตรี จะชะลอกฎหมายดังกล่าว พร้อมยืนยันว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการยกเว้น และสิทธิลดหย่อน เพื่อบรรเทาภาระภาษีของประชาชน และคงเป็นไปไม่ได้ที่จะยุติแผนจัดเก็บภาษีที่ดิน เพราะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อบริหารการคลัง ดูแลการจัดเก็บรายได้ ตลอดจน ป้องกันการรั่วไหล ให้งบประมาณเพียงพอต่อการบริหารประเทศ
ส่วนความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจนั้นนายสมหมาย กล่าวว่า เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในอีก 2 สัปดาห์ โดยมีเป้าหมายกระตุ้นการไหลเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ตลอกจน มาตรการกระตุ้นการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
ก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมประกาศปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากคาดการณ์เดิมร้อยละ 4 หลังพบตัวเลขการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ฟื้นตัวต่ำกว่าคาดการณ์ และมีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี เพื่อสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจ.