เมนู

A House หลังคาแยก เพื่อแบ่งพื้นที่ให้ต้นไม้เติบโต

บ้านทรง A

บ้านหลังคาเจาะรู

ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นเจ้าของที่ดินผืนผ้าสี่เหลี่ยมสวย บางครั้งด้วยงบประมาณและทำเลที่พอใจก็อาจจำเป็นต้องได้ครอบครองที่ดินรูปร่างแปลก ๆ จึงต้องออกแบบบ้านให้เข้ากันได้กับสิ่งที่มี เหมือนเช่นบ้านหลังนี้ในเวียดนามก็ถูกออกแบบมาเพื่อเอาชนะข้อจำกัดที่ดินรูปร่างบิดเบี้ยว สถาปนิกจึงตัดสินใจออกแบบบ้านโดยได้รับแรงบันดาลใจจากรูปร่างของตัวอักษร A สลับพื้นที่สีเขียว เกิดเป็นพื้นที่ใช้สอยใจกลางเมืองในอุดมคติในแบบที่แตกต่างออกไป

ออกแบบ : Nguyen Khac Phuoc Architects
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านรูปตัว A มีช่องว่างบนหลังคา

บ้านสองชั้นตั้งอยู่บนถนน Truong Chinh เมือง Vinh จังหวัดเหงะอาน ประเทศเวียดนาม สถาปนิกสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกเห็นด้วยสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากตัวอักษร “A” กับรูปทรงหลังคาที่ถูกแยกออกจากกันเป็นสองส่วน เมื่อมองจากด้านบนจะเห็นหลังคากระเบื้องสีแดงโดดเด่นด้วยช่องว่างขนาดใหญ่ตัดกับต้นไม้เขียวขจีมากมายที่เติบโตอยู่รอบบ้านและในบ้าน

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

จัดสวนระหว่างรั้วกับตัวบ้าน

ในภาพรวมของการใช้งาน เจ้าของบ้านต้องการให้ด้านหน้าเป็นพื้นที่ธุรกิจของครอบครัว ส่วนพื้นที่ใช้ชีวิตและนั่งเล่นจัดไว้ด้านหลัง สถาปนิกจึงเสนอวิธีแก้ปัญหาพื้นที่อยู่อาศัยให้มีความเป็นส่วนตัว เงียบสงบ แต่ยังคงเชื่อมต่อพื้นที่อยู่อาศัยและธุรกิจ โดยเลือกออกแบบตามโครงสร้างเชิงพื้นที่รูปตัว A แยกอาคารออกเป็นสองส่วนมีพื้นที่สวนคั่นเพื่อเป็นกันชนระหว่างพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่ธุรกิจ โซลูชันนี้นอกจากจะแก้ปัญหาของที่ดินบิดเบี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังนำคุณค่าทางสุนทรียภาพอันเป็นเอกลักษณ์มาสู่บ้านและภูมิทัศน์โดยรอบอีกด้วย

ต้นไม้ช่วยกรองแสงให้บ้าน

คอร์ทยาร์ทระหว่างอาคาร

ต้นไม้สีเขียวกระจายทั่วพื้นที่ใช้งานสร้างบรรยากาศสดชื่นใจกลางเมือง สวนระหว่างอาคารและแนวต้นไม้ที่ปลูกหน้าบ้าน ทำหน้าที่หลากหลาย อาทิ ลดเสียงรบกวนและกรองฝุ่นควัน สร้างร่มเงาให้ตัวบ้าน ช่วยควบคุมอากาศและสร้างความรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติ สวนที่ชั้นบนจะเชื่อมต่อกันด้วยสะพานทางเดิน ทำให้พื้นที่ครอบครัว 2 แห่งเชื่อมต่อกันได้ทั้งสองชั้นแบบไม่ขาดตอน

ห้องนั่งเล่นประตูกระจกโปร่งสว่าง

ห้องนั่งเล่นสไตล์ร่วมสมัย

พื้นที่ใช้สอยและนั่งเล่นประกอบด้วย 3 ชั้น ชั้นแรกมีห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร และห้องนอน พื้นที่ใช้งานส่วนรวมออกแบบมาเพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อทั้งทางสายตาและพื้นที่ ด้วยการออกแบบแปลน open plan แทนที่จะใช้ผนังคอนกรีต สถาปนิกใช้กระจกเพื่อเพิ่มแสงสว่างและขยายมุมมองไปยังสวน แต่ใส่ความเป็นส่วนตัวด้วยการใช้ต้นไม้และกำแพงอิฐช่องลมเป็นตัวช่วย

ห้องทานข้าวประตูกระจกเปิดเชื่อมต่อห้องนั่งเล่น

การตกแต่งภายในใช้โทนสีหลักอย่างสีน้ำตาลเข้มและสีขาวมาจัดวางสลับกัน เพิ่มความสง่างามและสร้างความรู้สึกอบอุ่นให้กับพื้นที่ โต๊ะอาหารยาวรองรับความต้องการของครอบครัวและเลี้ยงญาติและเพื่อนฝูงในวันหยุดสุดสัปดาห์ เมื่อต้องการขยายพื้นที่ให้มากขึ้นเมื่อมีแขกมาก็เปิดประตูบานเลื่อนเชื่อมต่อไปยังห้องด้านหน้าได้

ช่องแสงรูปแบบต่างๆ ในบ้าน

มุมนั่งเล่นที่ระเบียง

ชั้น 2 เป็นพื้นที่สำหรับห้องนอนพ่อแม่ ห้องนอนลูก 2 ห้อง และห้องสุขาส่วนกลาง ชั้นที่ 3 ประกอบด้วยห้องบูชา โกดัง ลานตากผ้า  การออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์และการใส่ช่องว่างในตำแหน่งต่างๆ ของบ้าน ช่วยให้สมาชิกในครอบครัวมีช่องทางโต้ตอบและสื่อสารกันได้ แม้จะอยู่ต่างชั้นหรืออยู่คนละอาคาร สังเกตได้จากจากจุดนี้ที่เจ้าของบ้านสามารถคุยกับลูกๆ ได้อย่างง่ายดาย

ระบียงบ้านหันหน้าเข้าหาสวน

บ้านเปิดผนังได้โล่งรับลมและแสง

ห้องนอนชั้นบนโปร่งโล่งเปิดหันหน้าเข้ามาสวน จึงเชื่อมต่อกับธรรมชาติได้ดี และยังมีความเป็นส่วนตัวจากสายตาผู้คนที่ผ่านไปมา เมื่ออยากเปิดห้องรับแสงแดดรับลมและความสดชื่นจากต้นไม้ก็สามารถเปิดประตูออกกว้างๆ ได้เต็มที่

ระเบียงทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคาร

เหนือชั้นนี้จะมีสวนดาดฟ้า 2 แห่งที่เชื่อมต่อกันด้วยสะพานทางเดินทอดยาวสองช่วงตึก

จัดสวนบนห้องใต้หลังคา

สวนสีเขียวขนาดเล็ก 2 แห่งบนดาดฟ้านี้เพื่อสร้างการเชื่อมต่อกับธรรมชาติในมุมสูง การออกแบบหลังคาแบบ “เจาะรู” สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ช่วยให้ต้นไม้ได้รับแสงแดดที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตทุกวัน เป็นอีกหนึ่งลานพักผ่อนที่สมาชิกชอบขึ้นมาใช้เวลานั่งเล่น นอนเล่น รับลม ชมวิวเมือง ท้องฟ้า และดวงดาวยามค่ำ

บรรยากาศบ้านช่วงค่ำ

ระบบไฟสีเหลือง warm white ที่ส่องแสงกระจายผ่านช่องว่าง ทำให้บ้านดูโดดเด่นและน่าอยู่ยิ่งขึ้นในช่วงค่ำ

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : ในยุคปัจจุบันนี้เราจะเห็นบ้านที่ออกทำหลังคาแปลกออกไป จากหลังคาที่ต้องครอบคลุมทุกส่วนของบ้านปกป้องภายในจากแดด ฝน แมลง ก็จะถูกเจาะบางส่วนให้เป็นช่องว่าง เพื่อให้บริเวณบ้านในตำแหน่งนั้นๆ ได้รับแสง รับลม หรือปล่อยให้ต้นไม้ได้เติบโตทะลุหลังคาบ้านขึ้นมา ซึ่งตรงจุดนี้ควรออกแบบระบบป้องกันบ้านน้ำรั่วซึม ประตูหรือมุ้งลวดกันยุงกันแมลง เพื่อไม่ให้ช่องว่างนำมาซึ่งความไม่สบายจากปัจจัยภายนอก

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด