เมนู

ต่อเติมบ้านหลังเล็ก สะดุดตาที่หลังคาลายเกร็ดงู

ไอเดียต่อเติมบ้าน

ต่อเติมบ้าน

การปรับปรุงบ้านไม่ได้หมายถึงการรื้อถอนบ้านเสมอไป อย่างกรณีของค็อทเทจแสนสบายในแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย การปรับปรุงเป็นเรื่องของการทำของเดิมให้ดีขึ้นแล้วขยายพื้นที่ออกมาให้เข้ากันได้อย่าง Austin Maynard Architects พยายามรักษาเสน่ห์ของกระท่อมหลังสงครามให้ยังคงอยู่ ในขณะที่เพิ่มพื้นที่ใช้งานใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์ชีวิตได้มากขึ้น ซึ่งโครงการนี้สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนจำนวนมาก ในการเลือกขยับขยายบ้านที่มีอยู่แทนที่จะทุบ รื้อ แล้วเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

ออกแบบAustin Maynard Architects
ภาพถ่าย : Derek Swalwell
เนื้อหาบ้านไอเดีย

ผนังกรุกระเบื้องเต็มพื้นที่

ต่อเติมบ้านใหม่ในพื้นที่เดิม

บ้านเล็กๆ ที่มีผิวหนังเหมือนเกล็ดงูนี้ เป็นการปรับปรุงและขยายบ้านพักที่สร้างตั้งแต่หลังสงคราม บนถนนวงแหวนสายประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย แม้ว่าทางเลือกที่ง่ายกว่าคือการรื้อถอนอาคารและออกแบบสิ่งที่ใหญ่กว่า ใหม่กว่า แต่ทั้งสถาปนิกและลูกค้าซึ่งเป็นครอบครัวสามคนต้องการรักษาลักษณะภายนอกและส่วนที่ดีที่สุดของบ้านหลังเก่าเอาไว้ บทสรุปเบื้องต้นจึงอยู่ที่การปรับปรุงในส่วนที่ใช้งานได้ไม่ดีนักในบ้านเก่า แล้วเพิ่มส่วนที่ต้องการใช้งานเพิ่มลงไปอย่างเคารพมรดกของอาคารเดิมที่สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถัน

มุงหลังคาและผนังด้วยกระเบื้องสีขา

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่


ทางเดินเชื่อมสองบ้าน

สร้างความเชื่อมต่อระหว่างเก่าใหม่

“ปัญหาใหญ่ที่สุดสองประการคือ เราจะสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาคารใหม่กับอาคารเดิม โดยไม่ขัดแย้ง ไม่ทำลายคุณค่าของเก่าได้อย่างไร และเราจะสร้างพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องได้อย่างไรเ มื่อระดับพื้นที่ค่อนข้างลาดเอียงและการวางแนวของบ้านบังสวนมากเกินไป” Austin Maynard กล่าวถึงอุปสรรคของเนื้องานที่พบเจอ แต่ท้ายที่สุดก็มีคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้ ด้วยการรื้อผนังบ้านเดิมออกเพียงบางส่วน เพื่อไม่ให้ตัวบ้านได้รับความเสียหายมาก ใส่ประตูหน้าต่างกระจกแทน แล้วมีการเพิ่มอาคาร 2 หลังทางด้านทิศใต้และทิศตะวันออกของบ้าน ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยทางเดินกระจกแบบซีทรูและสวน

ต่อเติมห้องน่ารัก ๆ

ทั้งอาคารเก่าและใหม่ตั้งบนฐานอิฐสีแดง เพื่อให้มีส่วนร่วมที่ดูกลมกลืน ผนังเก่าก่ออิฐโชว์แนวทาสีขาว บ้านใหม่ก็ใช้วัสดุที่ให้โทนสีเดียวกัน ต่างกันที่รูปร่างหลังคาและวัสดุมุง ในส่วนต่อเติมจะไม่ใช้หลังคาทรงปั้นหยาหลังคากระเบื้อง แต่เปลี่ยนมาเป็นทรงแหลมสูง วัสดุมุงหลังคาเลยมาถึงผนังใช้แผ่นโลหะรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดที่ทำด้วยมือ ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้เข้ากับรูปลักษณ์ที่มีอยู่ของกระท่อม นำมาค่อย ๆ วางเรียงซ้อนกันอย่างประณีตดูคล้ายเกล็ดงู

มุงหลังคาและผนังด้วยวัสดุสีขาว

หลังคาเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ทักษะการวัด การตัด และการเชื่อมโยงของแผ่นโลหะมุงหลังคาแต่ละชิ้น เพื่อให้เห็นรูปทรงเรขาคณิตที่เฉียบคม ซึ่งแต่ละแผ่นมีความแม่นยำทางคณิตศาสตร์สูงมาก บอกถึงความเชี่ยวชาญของช่างได้เป็นอย่างดี

อาคาร 2 หลังที่เติมเข้ามานี้ อาคารหนึ่งมีห้องครัวสำหรับครอบครัวและห้องรับประทานอาหาร ส่วนอีกหลังเป็นห้องนอนใหญ่และห้องน้ำในตัว เค้าโครงภายในของบ้านหลังใหญ่ (บ้านเก่า) ได้รับการจัดระเบียบใหม่เช่นกันเพื่อให้ห้องใหม่เหล่านี้เชื่อมต่อกับพื้นที่ที่มีอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ เมื่อรวมกันแล้วกลายเป็นกลุ่มอาคารโปร่งโล่งที่เต็มไปด้วยหน้าต่าง ซึ่งโอบกอดสวนหลังบ้านอันเขียวชอุ่มอยู่ทุกด้าน

ครัวและมุมทานข้าวเปิดผนังกว้าง

หลังคาไม้และ skylight ในครัว

ครัวสุดโปร่ง แปลกตา มีมิติ

ห้องครัวตั้งอยู่อาคารส่วนที่ค่อนข้างใหญ่และกว้าง อยู่ใต้โครงหลังคาที่ไม่สมมาตรซึ่งทำให้ส่วนนี้ดูมีมิติแปลกตา ผนังไม้และเพดานโอบล้อมให้ครัวดูอบอุ่น อีกด้านของหลังคาเป็นแถวของสกายไลท์หันหน้าไปทางทิศเหนือ ทำให้บ้านได้รับแสงไปพร้อมระบายอากาศ ประตูกระจกทั้งสองด้านของห้องช่วยให้ครอบครัวเพลิดเพลินไปกับสายลมขณะทำอาหารหรือรับประทานอาหาร รายละเอียดอื่น ๆ ได้แก่ ไอส์แลนด์ที่มีเคาน์เตอร์ที่ยื่นออกมาและที่นั่งริมหน้าต่างที่ติดตั้งไว้ที่ส่วนท้ายของท็อปครัว ทำให้การใช้งานสะดวกและผ่อนคลายมากกว่าครัวแบบเดิม ๆ

ผนังกระจกและหลังคา skylight

ผนังกระจก

ทางเดินเชื่อมระหว่างบ้านตั้งใจให้ดูโปร่งใสที่สุด เพื่อทลายกรอบระหว่างสองบ้านลง แม้ว่าจริง ๆ แล้วจะยังมีผนังกั้นอยู่ก็ตาม การเลือกใช้ผนังกระจก บานเกล็ด และสกายไลท์รอบบ้าน ทำให้หมดปัญหาเรื่องแสงในอาคาร และลดการใช้พลังงานไปได้ค่อนข้างมาก

มุมนั่งเล่นข้างบ้าน

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : ในบ้านทรงโรงนาตะวันตก จะมีลักษณะเป็นอาคารทรงสูงหลังคาจั่วแหลม ไม่มีกันสาด ไม่มีชายคา ช่องแสงน้อย ซึ่งจะเหมาะกับสภาพอากาศฝั่งยุโรปที่ค่อนข้างหนาวเย็น เมื่อนำมาปรับใช้กับโซนที่อากาศค่อนข้างอบอุ่น จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนบางฟังก์ชันให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศมากขึ้น อาทิ ใส่ประตูหน้าต่างที่เปิดออกได้กว้างเพื่อรับแสงและระบายอากาศ หรือใช้วัสดุที่ทนแสงแดด ทนความชื้นได้ดี มุงจากหลังคาลงมาที่ผนังเป็นผืนเดียวกัน เพื่อให้วัสดุนั้น ๆ ทำหน้าที่ปกป้องผนังจากแดดและฝนแทนกันสาดและชายคา เป็นต้น

 

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด