บ้านอิฐโมเดิร์นทรอปิคอล
บ้านเขตร้อนชื้นอย่างเรามีทั้งฝนและแสงแดด ดังนั้นแนวคิดของการสร้างบ้านหลัก ๆ คือ ส่วนใหญ่ต้องปกป้องภายในจากสภาพแวดล้อมที่กล่าวมานี้ อย่างไรก็ตามในกระบวนการสร้างบ้านก็อาจจะมีปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้องและมีผลต่อการออกแบบบ้านด้วย เช่น ที่ตั้งของไซต์และสภาพแวดล้อม อย่างบ้านหลังนี้ก้มีต้นมะม่วงที่ปลูกมายาวหลานนับสิบปี ต้นมะพร้าว สะระแหน่ และอื่นๆ จึงพยายามที่จะแสดงออกถึงการเคารพสิ่งแวดล้อม ทำให้บ้านเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางกิ่งก้านของต้นมะม่วงที่ล้อมรอบ พร้อมผสมผสานกับพื้นผิวและสีสันของสถานที่ให้กลมกลืน
ออกแบบ : Enviarch Studio
ภาพถ่าย: Yash R Jain
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
บ้านขนาด 371 ตารางเมตร หลังนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางความเขียวขจีของต้นไม้นานาพันธุ์ ท้องฟ้าอันเงียบสงบ ในเมืองเหมืองหิน Shoolagiri ที่เรียบง่าย ตัวอาคารสร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันเมื่อเข้าสู่บริเวณบ้านจะได้กลิ่นสะระแหน่ที่หอมกรุ่นช่วยต้อนรับอย่างอบอุ่น สถาปนิกออกแบบให้ค่อยๆ เผยให้เห็นตัวบ้านทีละน้อย โดยมีฉากหลังเป็นเรือนยอดมะม่วงที่เขียวชอุ่ม ต้นไม้ที่มีอยู่แล้วในบริเวณนั้น พร้อมกับทางเดินปูแผ่นหินนำทางผู้มาเยือนไปยังทางเข้าบ้านที่ตั้งอยู่ที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือ องค์ประกอบการออกแบบนี้กระตุ้นให้เกิดการเดินทางทางประสาทสัมผัสก่อนเข้าไปในสถานที่อย่างสดชื่น
ด้วยบริบทของไซต์ที่เต็มไปด้วยแนวต้นไม้ สถาปนิกจึงตัดสินใจกระจายตัวอาคารแทนการสร้างบ้านขนาดใหญ่หลังเดียว แล้วแบ่งสัดส่วนการใช้งานให้ชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีการเชื่อมโยงด้วยโถงช่องว่างขนาดใหญ่ ทำให้สามารถสัญจรไปมาหากันได้หมด และยังใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างได้หลากหลาย ทั้งทำกิจกรรมและเป็นพื้นที่รับลมระบายอากาศด้วย
สำหรับวัสดุหลักของบ้าน แทนที่จะใช้ผนังคอนกรีตเหมือนบ้านยุคใหม่ทั่วไป กลับเลือกใช้อิฐที่เป็นวัสดุบ้าน ๆ จากท้องถิ่น ผนังนี้มีลวดลายที่สร้างเอฟเฟกต์ให้บ้านในหลายรูปแบบ อาทิ การก่อแถวโชว์แนวธรรมดา การเว้นช่องว่างคล้ายกับรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของอินเดียที่เรียกว่า จาลี (Jali) คือช่องแสงที่แกะสลักเป็นตาข่ายด้วยไม้หรือหิน และลวดลายแบบ 3 มิติด้วยส่วนของอิฐที่นูนออกมาเด่นชัดขึ้นที่ด้านบน ช่วยให้ภูมิทัศน์ดูโดดเด่นขึ้นที่ส่วนล่าง
ระหว่างอาคารไม่ปล่อยให้พื้นที่ว่างอย่างเปล่าประโยชน์ บางจุดเป็นสวนและสนามหญ้า แต่จุดนี้ทำเป็นสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ที่เข้าถึงได้จากห้องนอนที่มีกรอบหน้าต่างไม้ขนาดใหญ่ ทำให้บ้านอิฐที่ดูเหมือนธรรมดามีรายละเอียดฟังก์ชันที่ทันสมัยและน่าสนุกขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อเข้าไปในบ้านพัก จะพบกับห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัว ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่แยกจากห้องนอนส่วนตัว การจัดวางแบบเส้นตรงนี้ เสริมด้วยช่องเปิดที่กว้างขวางและจุดพักเป็นระยะๆ จะช่วยสร้างกรอบให้กับบ้านที่งดงาม ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเพลิดเพลินกับพื้นที่กลางแจ้งได้ในขณะที่อยู่ในบ้าน
พื้นที่รับประทานอาหารระหว่างพื้นที่ส่วนกลางอีกสองแห่ง จะมีพื้นที่ส่วนตัวที่ออกแบบให้แยกออกมาด้วยการยกระดับพื้นขึ้น เพื่อรองรับการพูดคุยสังสรรค์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีแขกมาเยี่ยมเยือนหลายๆ กลุ่ม หรือมีความต่างคนละช่วงอายุ โดยที่ยังมองเห็นกันได้ผ่านช่องเปิดที่ทำไว้เป็นจังหวะ และทุกพื้นที่จะหันหน้าออกชมทิวทัศน์สวนและสระน้ำได้เช่นกัน
ในส่วนของห้องนอนแต่ละห้อง จะมีห้องน้ำในตัวและออกแบบให้สามารถเข้าถึงได้โดยไม่กระทบต่อความเป็นส่วนตัวของพื้นที่อื่นๆ เพดานในห้องนอนเฉียงสูงตีฝ้าเพดานด้วยไม้ตามแนวหลังคา ช่วยเสริมให้ห้องดูเกิดความรู้สึกกว้างขวางและโอ่อ่า อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นหลังคาเฉียงสูงแต่รายละเอียดของหลังคาแต่ละห้องก็ไม่เหมือนกัน เช่น บางห้องติดกับผนังอิฐทึบ แต่บางห้องเปิดมุมมองเชื่อมต่อท้องฟ้าผ่านผนังกระจก นอกจากนี้ ห้องนอนยังหันหน้าออกสู่ทิวทัศน์ แหล่งน้ำอันเงียบสงบที่เป็นจุดเด่นของบ้าน ซึ่งสถาปนิกตั้งใจวางตำแหน่งให้ผสานโซนสาธารณะเข้ากับห้องนอนทั้งสามห้องได้อย่างลงตัว
ในบ้านนี้ไม่ได้มีเพียงอิฐสีส้มอมแดงเท่านั้น แต่ยังสีสันที่ตัดกันเล็กน้อยและวัสดุอื่นๆ ที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น หินโคตาและกาดาปา สะท้อนถึงสุนทรียศาสตร์ของผสมผสานกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้อย่างลงตัว หินจากเหมืองหินที่ถูกทิ้งเหล่านี้จะถูกเก็บรวบรวมอย่างพิถีพิถัน ขัดเกลา และจัดวางด้วยความในรายละเอียดสูงสุด นำมาตกแต่งทั้งส่วนผนังภายนอก ภายใน พื้น การออกแบบโดยรวมผสมผสานองค์ประกอบจากธรรมชาติและที่จับต้องได้เพื่อแสดงถึงแก่นแท้ที่จับต้องไม่ได้ของ “บ้าน”
แปลนบ้าน