บ้านโมเดิร์นทรอปิคอลเย็นสบายยั่งยืน
เรื่องเล่าของบ้าน ยังคงมีให้ติดตามอยู่เสมอว่าจะมีอะไรใหม่ๆ ให้เก็บเป็นไอเดีย แต่บางวัสดุก็เคยได้รับความนิยมในบางยุคสมัยและตกเทรนด์ไปในบางช่วง อย่างอิฐที่ไม่มีวัสดุไหนเลียนแบบได้ ทำให้อิฐยังคงอยู่ในใจของใครหลายๆ คน และนำไปใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งนี้อิฐแดงเปลือยไม่ฉาบทับ หรือการทำเป็นผนังช่องลม หรือกระเบื้องดินเผา (ที่บ้านเราแทบไม่เห็นใช้งานแล้ว) ก็เป็นวัสดุอย่างหนึ่งที่กลับมาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านแบบเขตร้อน Tropical อย่างประเทศไทย เวียดนาม หรือที่อินเดียก็มีการหยิบจับไปประยุกต์ใช้ได้อย่างน่าสนใจ
ออกแบบ : Koshish
ภาพถ่าย : Justin Sebastian
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
บ้านสองชั้นพื้นที่ 238.5 ตารางเมตรนี้ เต็มไปด้วยเรื่องราวของกระเบื้อง 14,858 ชิ้น บนบ้านโครงสร้างเหล็ก ตั้งอยู่ในใจกลางของ Kochi ประเทศอินเดีย เริ่มต้นด้วยการเดินลัดเลาะไปตามถนนโคลนแคบ ๆ ที่นำไปสู่ทางเข้าที่สาดสีแดงที่มีชีวิตชีวาจัดจ้าน ที่เป็นเสมือนด่านหน้าปกป้องบ้านสไตล์โมเดิร์นทรอปิคอลข้างใน ออกแบบโดย Koshish ที่สนับสนุนสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน โดยการนำกระเบื้อง เหล็ก และหน้าต่างเก่าของโรงงานสิ่งทอที่ทรุดโทรมกลับมาใช้งานใหม่ กระเบื้องที่เหลือถูกจัดหามาจากสถานที่ต่าง ๆ สี่แห่ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำมาใช้เป็นทางเดิน ผนัง และหลังคาของโครงการ บ้านจึงเสร็จเร็วได้ภายในเวลาไม่ถึงหกเดือน
รั้วอีกด้านเก๋ ๆ ด้วยการเรียงบล็อกคอนกรีตให้มีระยะห่างแทรกด้วยแผ่นกระเบื้องวางเอียงๆ ไม่เหมือนรั้วบ้านไหน ๆ
การเลือกวัสดุกระเบื้อง Mangalore ที่เคยถูกลืมไปในบางช่วงเวลา และอิฐพื้นถิ่นมาปรับประยุกต์ในรูปแบบที่ร่วมสมัย ทำให้ได้บ้านที่ดูโมเดิร์น texture สวยงาม สามารถใส่ลูกเล่นให้ผนังมีพื้นผิวที่แตกต่างและใส่ลูกเล่นให้กระเบื้องยื่นออกมาเหมือนกันสาดเล็ก ๆ ชวนให้โฟกัสสายตา ในขณะเดียวกันวัสดุบ้านๆ นี้ยังให้อุณหภูมิที่เย็นกว่า การระบายอากาศที่ดี ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนชื้นได้เป็นอย่างดี
บ้านเขตร้อนชื้นที่ร้อนจัดและมีฝนตกชุกพร้อมๆ กัน ต้องการพื้นที่รับลมเพิ่มความเย็น ระบายความร้อน ความชื้นใต้อาคาร ซึ่งการยกพื้นขึ้นสูงแบบมีใต้ถุนนั้นค่อนข้างตอบโจทย์แต่ก็จะดูล้าสมัย บ้านนี้จึงปรับประยุกต์ให้เป็นห้องกระจกข้างล่างที่สามารถเปิดและปิดได้ มีพื้นที่ว่างทำมุมนั่งเล่น มีสระบัวให้ไอเย็นจากน้ำไหลเข้าสู่ตัวบ้าน พื้นที่โล่งใต้อาคารเป็นเหมือนใต้ถุนบ้านที่ดูทันสมัยขึ้น และยังใช้งานได้สารพัดประโยชน์พร้อมรับลมช่วงบ่ายได้ดี
การออกแบบบ้านนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อของธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนกับโครงสร้างหลัก โครงสร้างบ้านทำจากเหล็ก recycle ยกสูงรองรับด้วยเสาแบบ sandwiched L-section กระจกแบบหมุนที่ได้กว้าง และผนังที่หุ้มด้วยกระเบื้องดินเผา ทำให้เส้นแบ่งระหว่างพื้นที่กลางแจ้งและในร่มถูกเบลอเข้าด้วยกัน เกิดการทำงานร่วมกันของบ้านกับบริบทแวดล้อมตามที่ต้องการ
แต่ละชั้นมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน โดยชั้นล่างเป็นพื้นที่เอนกประสงค์ แพนทรี มีห้องกระจกที่อยู่ติดกับบ่อปลาคาร์ฟ และห้องน้ำ ส่วนของห้องกระจกนี้ดูจากภายนอกก็ธรรมดา แต่เมื่อเข้ามาแล้วจะพบว่าดูสวยแปลกตากับผนังเป็นช่องๆ กรอบสีดำดูทันสมัย หน้าต่างที่รายล้อม แถมพื้นยังใช้สีดำตัดกับสีเหลืองที่วางโชว์เครื่องปั้นดินเผาอยู่ ทำให้จุดนี้กลานเป็นการต้อนรับเข้าสู่ตัวบ้านที่โดดเด่นอย่างคาดไม่ถึง
เมื่อขึ้นบันไดเหล็กสีดำมาที่ชั้นบนจะเป็นพื้นที่สาธารณะใช้งานร่วมกัน มีโซนทำงาน อ่านหนังสือกว้างๆ ไม่มีผนังแบ่งกั้น จึงมีความยืดหหยุ่นปรับเปลี่ยนการใช้งานได้แบบอเนกประสงค์ ปูพื้นด้วยหินขัดและล้อมรอบห้องโถงใหญ่ที่เจาะเพดานให้เป็นช่องว่า Double Volume ความสูงสามระดับ ที่เชื่อมแต่ละชั้นเข้าด้วยกัน ผนังบ้านกรุด้วยแผ่นกระเบื้องดินเผา มีหน้าต่างบ้านกรอบเหล็สีดำขนาดใหญ่แทรกเป็นระยะๆ มีระเบียงยื่นออกไปทางทิศเหนือ และกระจกที่ทอดยาวไปถึงยอดทางด้านตะวันออกของอาคาร ให้ทัศนียภาพที่สมบูรณ์ของพื้นที่ที่เหลือ โดยเน้นการระบายอากาศที่เพียงพอและแสงธรรมชาติ บ้านจึงดูโปร่ง โล่ง สบายเหมือนบ้านไม่มีขอบเขตทั้งภายนอกและภายใน
อีกหนึ่งจุดเด่นของบ้านอยู่ที่ช่องว่างโถงสูงขนาดใหญ่ที่รายล้อมด้วยฟังก์ชันต่างๆ ของบ้าน โดยมีบันไดเหล็กสีดำแบบไร้ลูกตั้งเป็นแกนหลักในการเชื่อมต่อทุกชั้นเข้าด้วยกัน นอกจากจะเป็นพื้นที่ว่างแนวตั้งที่ทำให้บ้านดูโอ่อ่าแล้ว ตรงกลางยังเชื่อมแสงและความสว่างของชั้นล่างเข้ากับชั้นบน ไปจนถึงลอยบนสุดที่เป็นห้องประชุม ระหว่างชั้นจึงรู้สึกได้ถึงช่องทางที่ปฏิสัมพันธ์กันได้ มีแสงที่กระจายอย่างทั่วถึง ไม่เหมือนบ้านหลายชั้นแนวคิดเดิมทั่วไป
ชั้นสุดท้ายอยู่ใต้หลังคา ซึ่งทำหน้าที่เป็นห้องระดมความคิด ที่นำแสงไปยังพื้นที่ทำงานหลักผ่านบริเวณจั่วบ้านที่เป็นกระจกสามเหลี่ยม ผนังอีกด้านกระจกใสหมด เพื่อสร้างการโต้ตอบกันของอาคารในแต่ละระดับชั้น ผู้อยู่อาศัยจะได้สัมผัสกับลำดับของความสูงจากมากไปน้อย ขณะที่พวกเขาเปลี่ยนผ่านแต่ละพื้นที่ก็เต็มไปด้วยน่าตื่นตา ไม่ใช่แค่สเปซและวัสดุเท่านั้น แต่รวมไปถึงการเล่นแสงแดดและเงาที่คิดมาอย่างละเอียดทั่วพื้นที่ช่วยให้มั่นใจได้ว่าไม่มีช่วงเวลาใดก็จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของที่นี่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เติมชีวิตชีวาให้กับผู้อยู่อาศัยด้วยวัสดุและสถาปัตยกรรมที่เหนือกาลเวลา
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : กระเบื้องดินเผา เป็นวัสดุก่อสร้างแบบโบราณทำมาจากดินเหนียวผสมน้ำ โดยใช้วิธีนวดให้เข้ากันแล้วนำมาขึ้นรูป จากนั้นก็เผาด้วยความร้อนสูง กระเบื้องแบบนี้แม้จะระบายความร้อนใต้หลังคาได้ดี การนำพาความร้อนต่ำ แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักในปัจจุบัน อาจเพราะรูปลักษณ์ที่ดูเชย ปรับประยุกต์ให้เข้ากับบ้านโมเดิร์นได้ยาก และมีอัตราการดูดซึมน้ำสูง ความแข็งแรงค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกระเบื้องแบบใหม่ ในบ้านเราส่วนใหญ่จะใช้กับ เรือนไทยหรือวัด โบสถ์ ซึ่งหากใครเข้าปนั่งในวิหารหรือศาลาวัดจะรู้สึกได้ถึงความเย็น แม้ไม่มีฝ้าเพดาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลังคาที่สูงเป็นพิเศษเอื้อให้อากาศร้อนลอยตัวได้ดี และการมุงด้วยกระเบื้องดินเผานี้เอง หากมีการปรับรูปแบบใ้เข้ากันได้กับบ้านสมัยใหม่มากขึ้น และปรับคุณสมบัติบางประการ ก็อาจกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง |
แปลนบ้าน