เมนู

อิฐช่องลมกับลูกเล่น ที่ทำให้บ้านหน้าแคบดูกว้างขึ้น

อิฐช่องลมสีแดง

บ้านหน้าแคบผนังอิฐช่องลม

การสร้างบ้านหนึ่งหลังไม่ได้มีความราบรื่นไปทั้งหมด อาจจะมีข้อกำหนดหรืออุปสรรคที่ต้องแก้ไข ตั้งแต่รูปร่างที่ดินไปจนถึงฟังก์ชันภายนอกภายใน อย่างบ้านหลังนี้ก็ประสบปัญหาที่ดินหน้าแคบ แต่สถาปนิกก็แสดงให้เห็นถึงพลังของการออกแบบเชิงพื้นที่อย่างมีจุดมุ่งหมาย และการวางแผนเพื่อมอบฟังก์ชันการทำงานที่ลื่นไหลและมีเสน่ห์ เป็นหนึ่งข้อพิสูจน์ว่าแม้กระทั่งแปลงที่มีข้อจำกัดแต่ถ้าเราบริหารพื้นที่ดี ลองใส่มุมมองใหม่ ๆ เข้าไป อาจจะไม่ได้ใช้วัสดุราคาแพงระยิบ เพียงแต่อิฐก้อนธรรมดาที่เรียงตัวให้แตกต่าง บ้านก็ดูมีคุณค่าอย่างประเมินค่าไม่ได้

ออกแบบ : Srijit Srinivas 
ภาพถ่าย : Justin Sebastian
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านอิฐช่องลมหน้าแคบลึก

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

เจ้าของบ้านอยู่ในวัยทำงาน ทั้งคู่ทำงานเป็นวิศวกรไอที ได้เป็นเจ้าของไซต์ที่แคบมากในเมือง Thiruvanthapuram ประเทศอินเดีย ซึ่งสถาปนิกถือเป็นความท้าทายโดยธรรมชาติที่จัดการได้ สำหรับการทำงานบนที่ดินหน้ากว้างเพียง 4.8 ม.  แต่โชคดีที่ยังพอมีความลึกค่อนข้างมาก จึงออกแบบเป็นอาคาร 2 ชั้นรองรับพื้นที่ใช้สอย 117 ตร.ม. แม้จะมีความแคบของเปลือกอาคารภายนอก แต่พื้นที่ภายในกลับดูโปร่งโล่ง ด้วยการทำฟาซาดช่องลมจากอิฐ ที่ช่วยให้การเคลื่อนไหวของแสงและการไหลเวียนของอากาศทำได้ดี

มุมทานข้าวบนพื้นที่ยกระดับ

คอร์ทยาร์ดใจกลางบ้าน

เมื่อเข้ามาในบ้าน จะพบกับคอร์ทยาร์ดภายในที่มีต้นไม้สีเขียวขจีอาบด้วยแสงธรรมชาติจากช่องแสงเหนือศีรษะ  เป็น’โอเอซิส’ ขนาดเล็กที่สร้างบรรยากาศสดชื่นต้อนรับกลับบ้าน นอกจากนี้จะเห็นพื้นที่ข้างๆ ลานมีการเล่นระดับทั้งสูงและต่ำลงไป เป็นการใช้ประโยชน์จากความลาดเอียงตามยาวของไซต์จัดสรรภายในให้มีความต่างระดับตามรูปทรงธรรมชาติของที่ดิน ทั้งยังใช้ระดับที่ต่างกันนี้เป็นตัวแยกพื้นที่ใช้งานออกจากกันให้ชัดเจนโดยไม่ต้องก่อผนังกั้น แต่ก็เป็นส่วนเชื่อมโยงห้องนั่งเล่นและพื้นที่รับประทานอาหารเข้าด้วยกันในคราวเดียว

บ้านเล่นระดับ

ข่อจำกัดของบ้านหน้าแคบแต่ลึก จะเหมือน ๆ กันคือ ขาดแสงช่วงกลางอาคาร หากเป็นไปได้สถาปนิกจะพยายามไม่แบ่งการใช้งานเป็นห้องเล็กห้องน้อยที่ทำให้บ้านดูแคบ แสง ลม และคนเดินทางลำบาก จึงจัดแปลนชั้นล่างแบบ open plan แบ่งช่องว่างสามส่วนของบ้านที่ใช้งานร่วมกันได้ เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัว โดยมีห้องทานข้าวอยู่ตรงกลาง ต่ำลงไปทางขวามมือเป็นห้องนั่งเล่น และห้องครัวตั้งอยู่ต่ำลงไปทางด้านซ้าย ทางด้านหลังของพื้นที่และจัดวางที่ระดับล่าง

ห้องนั่งเล่นพักผ่อนผนังอิฐ

มุมทานข้าวเจาะเพดานโถงสูง

นอกจากการเชื่อมต่อในแนวนอนแล้ว การใช้ปริมาตรภายในที่ขยายออกในแนวตั้ง พร้อมกับการใส่วัสดุกระจกในบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในบริเวณห้องรับประทานอาหารที่มีความสูงสองเท่า เชื่อมต่อกับแผนผังบ้านชั้นบนและเน้นประสบการณ์การมองเห็นโดยรวมของอาคาร วิธีนี้ยังช่วยให้บ้านรับแสงได้ดี การไหลเวียนอากาศและการติดต่อระหว่างชั้นทำได้ง่ายขึ้น เพิ่มการรับรู้ของสเปซ ลบล้างความรู้สึกอึดอัดคับแคบของไซต์

บันไดสไตล์มินิมอลในคอนกรีตเปลือยล้อมรอบพื้นที่สีเขียวชั้นล่างที่ทอดขึ้นไปด้านบน เมื่อเงยหน้าขึ้นยังให้ภาพที่น่าสนใจแสงจาก skylight และแสงที่ผ่านการตัดกันของเส้นเหล็กดัดในช่องหน้าต่างด้านข้าง

ผนังอิฐช่องลม

ในส่วนของชั้นบนจะเป็นห้องนอน ที่มีการวางแผนพื้นที่อย่างระมัดระวัง แม้ว่าจะมีพื้นที่ขนาดเล็กสำหรับนอนแต่ก็มีพื้นที่อ่านหนังสือและตู้เสื้อผ้าแบบวอล์กอิน ในห้องนอนใหญ่ชั้นบนเปิดออกสู่ระเบียงพร้อมผนังบล็อกช่องลมที่ให้ความเป็นส่วนตัวและลมเย็นพัดโชย พร้อมแสงและเงาที่ผสมผสานกันระหว่างวัน สำหรับคนที่กังวลเรื่องลมแรง ควัน ฝุ่น และแมลงที่จะเข้าสู่ตัวบ้านผ่านช่องว่างระหว่างก้อนอิฐก็สบายใจได้ เพราะจะมีผนังกระจกด้านในอีกชั้น ทำหน้าที่ผนังชั้นที่ 2 เพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้งานได้สอดคล้องกับสถานการณ์

บรรยากาศบ้านยามค่ำ

บรรยากาศบ้านยามค่ำ

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การแก้ปัญหาเรื่องบ้านหน้าแคบนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น การเล่นกับการรับรู้โดยพยายามสร้างความรู้สึกว่าบ้านโล่งและกว้างกว่าความเป็นจริง ผ่านการเชื่อมต่อพื้นที่ทั้งในแนวนอนและแนวตั้ง รวมฟังก์ชันการใช้งานไว้ในพื้นที่เดียวแบบไม่มีผนังแยกเป็นห้องเล็กห้องน้อย การเลือกใช้วัสดุที่มีความโปร่ง เบา อย่างกระจกในบริเวณกว้าง ช่วยเบลอขอบเขตภายในภายนอก และการใส่ฟาซาดช่องลม อาจจะเป็นบล็อก อิฐ หรือบานเฟี้ยมที่ฉลุเป็นลวดลาย ก็มีส่วนทำให้บ้านดูกว้างขึ้นได้เช่นกัน

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด