เมนู

บ้านคอนกรีตไม่ดูกระด้าง ด้วยช่องว่าง มุมโค้ง และงานไม้

คอนกรีตโค้ง

บ้านคอนกรีต

บ้านคอนกรีต ภายในกรุไม้ เติมความอบอุ่นให้บ้านทั้งหลัง

บ้านคอนกรีตใครบอกว่าต้องดิบเท่านั้น สำหรับคนที่ชื่นชอบการสร้างบ้านแบบโมเดิร์น ที่ไม่ต้องมีรายละเอียดของตัวอาคารที่รุงรัง แต่ก็ยังรู้สึกว่าความเฉียบคมของงานคอนกรีตนั้นดูแข็งและดิบเกินไป วันนี้บ้านไอเดียจะพาไปดูโปรเจ็คบ้านริมทะเลหลังหนึ่งในสเปน ที่ออกแบบมาได้ดีมาก เพราะด้านหน้าอาคารมีช่องแสงขนาดใหญ่ติดกระจกดูสะดุดตา ส่วนของฟาซาดหน้าบ้านไม่ได้ปิดทึบเต็มอาคาร แต่สถาปนิกเลือกเฉือนออกทำให้พื้นบ้านเว้าเข้าไปแบบไม่เสียดาย เกิดเป็นช่องว่างมุมโค้งโล่ง ๆ ทำให้บ้านรับบรรยากาศภายนอกได้เต็มที่ ส่วนภายในก็ลดความกระด้างของคอนกรีตด้วยงานไม้เต็มพื้นที่  บรรยายเป็นคำพูดเท่านั้นคงยังไม่พอ ถ้าอยากเห็นแล้วต้องรีบเลื่อนลงไปชมภาพกันเลยครับ

ออกแบบEstudiosic
เรียบเรียงบ้านไอเดีย

บ้านคอนกรีต 3 ชั้น

บ้านคอนกรีต 3 ชั้นดีไซน์เรียบแต่เต็มไปด้วยรายละเอียดบนเนินต่างระดับนี้ มีชื่อเก๋ ๆ ว่า G เฮ้าส์ ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองที่กำลังขยายตัวบนเกาะเตเนรีเฟ ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศสเปนและได้รับสมญานามว่า “เกาะแห่งฤดูใบไม้ผลิตลอดกาล” เพราะมีอากาศอบอุ่นทั้งปีในหน้าหนาว อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20 – 22 องศาเซลเซียส ส่วนหน้าร้อนอุณหภูมิไม่เกิน 30 องศา จึงทำให้ที่นี่อากาศดีมาก บ้านในแถบนี้มีทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ รูปร่างรูปทรงแตกต่างกันไปตามแต่รสนิยมของเจ้าของบ้าน แต่บ้านหลังนี้มีแนวคิดในการสร้างคือต้องการสร้างบ้านที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เพื่อให้บ้านได้รับความสบายเต็มที่และทำให้เมืองดูสวยงาม ซึ่งก็ถือว่ามีความท้าทายพอสมควรเนื่องจากบ้านอยู่บนเนิน หน้าที่ดินกว้างเพียง 6.5 เมตรและยังติดผนังรัวของเพื่อนบ้านด้วย การออกแบบจึงต้องทำอย่างรอบคอบให้บ้านออกมาตรงใจผู้อยู่ที่สุด โดยไม่รบกวนทัศนียภาพรอบข้างชั้นล่างสุดมองเห็นพื้นเพดานเจาะช่องโค้ง

มุมมองจากห้องนั่งเล่น

ผนังกระจกขนาดใหญ่ เปิดรับแสงธรรมชาติและลมเข้าสูตัวบ้าน เพิ่มความสว่างสดชื่น และเชื่อมต่อระหว่างภายนอก-ภายในได้ดี

ราวระเบียงโค้งตามรูปบ้าน

บ้านคอนกรีตเปิดโล่งบริเวณกลางบ้าน

ด้วยโจทย์ที่ต้องดีไซน์บ้านทำให้สอดรับกับภูมิอากาศของเกาะนี้ ทำให้สถาปนิกเลือกสร้างอาคารด้วยคอนกรีตหล่อในที่สูง 3 ชั้น เพื่อให้ตัวบ้านเปิดรับวิวทะเลได้ชัด และเสริมให้บ้านมีความคงทนต่อสภาพอากาศใกล้ชายฝั่งที่มักถูกกัดกร่อนด้วยไอทะเล ด้านหน้าต้องการเปิดให้บ้านเชื่อมบรรยากาศภายนอกเข้าสู่ภายในได้มากที่สุด จึงลดทอนพื้นและเพดานจากที่ควรจะปูให้เต็มพื้นที่อาคาร ก็ทำการเจาะเปิดให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ทั้งสี่เหลี่ยมและมุมโค้ง ทำให้ลมพัดไหลเวียนจากข้างล่างไปชั้นบนได้สะดวก จังหวะการเว้นที่ว่างนี้ไม่ได้ทำเพื่อดึงลมอย่างเดียว แต่ยังช่วยควบคุมมุมมองและปริมาณแสงในตัวอาคารด้วย

ระเบียงเหล็กสีขาวหัดมุมตามรูปอาคาร

ราวระเบียงในชั้นที่สองและชั้นที่สามทำเป็นมุมโค้งรับกับตัวบ้าน มุมที่เห็นนี้ช่วยลดทอนความกระด้างของวัสดุเรียบ ๆ อย่างคอนกรีตได้เป็นอย่างดี โดยที่แทบจะไม่ต้องตกแต่งอะไรเพิ่มเติม

เจาะพื้นคอนกรีตมุมโค้งให้กลายเป็นพื้นที่โล่ง

บันไดเชื่อมต่อพื้นที่ชั้นล่างเปิดขึ้นสู่ชั้นบน เมื่อเงยหน้าขึ้นจะเห็นช่องว่างที่โอบล้อมหน้าบ้านโล่งแจ้งวนขึ้นไป ทำให้มองเห็นท้องฟ้าได้ชัดเจน บ้านหลังนี้เป็นตัวอย่างในการออกแบบรูปทรงสถาปัตยกรรม ที่โดดเด่นเรื่องการจัดวางจังหวะของที่ว่าง (Open Space) ที่เชื่อมต่อพื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร และพื้นที่เปิดโล่งสู่ท้องฟ้าโดยการสร้างหลังคาโปร่ง ลานโล่งภายใน และดาดฟ้า ทำให้บ้านเกิดสุนทรียทางสายตา และสามารถตอบสนองความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้อยู่ และสภาพแวดล้อม ได้เป็นอย่างดี

หน้าต่างสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่

ช่องหน้าต่างสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่บริเวณส่วนหน้าบ้านชั้นสอง รับได้ทั้งแสงและลมเปิดมมุมมองให้บ้านได้กว้าง มองไกล ๆ จะเห็นส่วนนี้ของบ้านสะดุดตามากดูคล้าย  ๆ โชว์รูมแสดงสินค้า

การตกแต่งภายในด้วยไม้

จากภาพลักษณ์ภายนอกของอาคารที่ใช้คอนกรีตเป็นวัสดุโครงสร้างหลักดูเรียบ เย็น ไร้สีสัน ทำให้คิดว่าภายในน่าจะเป็นการตกแต่งแบบเน้นคอนเซ็ปโชว์ความดิบ เปลือย สไตล์ลอฟท์หรืออินดัสเทรียล เพื่อให้ล้อไปด้วยกันทั้งหมด แต่กลับผิดคาดเพราะการตกแต่งภายในเป็นคนละอารมณ์อย่างสิ้นเชิง จากความดิบแข็งภายนอกกลับกลายมาเป็นความโปร่งสว่างและอบอุ่น ด้วยการกรุผนังด้วยไม้ธรรมชาติสีอ่อน ๆ ทั้งหลัง ทำให้ทุกมุมของบ้านอบอวลไปด้วยความผ่อนคลายของวัสดุจากธรรมชาติ

ภายในตกแต่งโปร่งโล่ง

การจัดลูกเล่นของช่องแสงที่ทำเป็นช่องสี่เหลี่ยมขนาดต่าง ๆ กัน ทั้งด้านข้างผนังและช่องหลังคา (Skylight) ทำให้เกิดมิติของแสงและเงาที่ตกกระทบสร้างความแปลกตาให้บ้าน

เพดานสูงแบบ double volume

เส้นสายงานไม้ในตัวบ้าน

การจัดจังหวะของช่องแสงธรรมชาติที่เหมาะสม ทำให้ตัวบ้านได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ในตอนกลางวันได้ในจุดที่บ้านต้องการ ความสว่างนี้จะทำให้ผู้อยู่ภายในไม่รู้สึกว่าบ้านเป็นพื้นที่ที่ถูกปิดกั้น เมื่อบวกเข้ากับการเปิดพื้นที่ว่างแนวตั้ง ให้เพดานสูงเป็นสอง- สามเท่าของระดับเพดานปกติแบบ Double Volume ยิ่งช่วยเพิ่มความโปร่งให้ตัวบ้านได้มาก ส่งผลดีต่อการระบายความร้อนภายในบ้านขึ้นสู่ที่สูงได้ดีอีกด้วย

ภายในกรุผนังด้วยไม้

สวนบนหลังคาดาดฟ้า

บันไดเหล็กสีขาวในตัวบ้านสร้างเชื่อมต่อออกมาได้ถึงบริเวณหลังคาบ้านหรือดาดฟ้า พื้นที่นี้เปิดมุมมองให้ตัวบ้านสามารถมองเห็นวิวในมุมสูงที่งดงามล้อมรอบได้แบบ 360 องศา การทำ Rooftop garden หรือสวนบนหลังคา ยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้บ้านโดยไม่ง้อพื้นดินชั้นล่าง และช่วยความร้อนจากหลังคาลงสู่ตัวอาคารได้ด้วย นับว่าเป็นการออกแบบบ้านที่คำนึงถึงรายละเอียดครบถ้วนรอบด้านตั้งแต่หลังคาจรดพื้นจริง ๆ ครับ

บ้านคอนกรีต 3 ชั้นวิวทะเล

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด