เมนู

5 แนวคิด “บ้านหายใจได้” เย็นสบายทุกฤดูกาล

ออกแบบบ้านเย็น

บ้านหายใจได้

การดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ต้องพึ่งพาการหายใจเพื่อเอาออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงร่างกาย  “บ้าน” แม้ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต แต่เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ห่อหุ้มให้สิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์ได้อยู่อาศัย การออกแบบบ้านให้สามารถหายใจได้ เป็นการกระตุ้นให้ภายในบ้านเย็นสบายมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดสภาวะอยู่สบาย และยังช่วยให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้อย่างยั่งยืน

เนื้อหาชุดนี้ “บ้านไอเดีย” จะพาไปเรียนรู้แนวทางการออกแบบบ้าน โดยเริ่มจากส่วนบนสุดที่ต้องปะทะกับแสงแดดตลอดทั้งวัน นั่นก็คือ ส่วนของหลังคาบ้าน ต่อด้วยการออกแบบผนัง, การทำช่องลมเข้า ช่องลมออก, การเลือกวัสดุสำหรับพื้นของบ้าน รวมไปถึงการเรียนรู้ทิศทางลมครับ

เนื้อหา : บ้านไอเดีย

1. หลังคาสูงโปร่ง มีช่องระบายอากาศ

หากจะกล่าวว่าความร้อนภายในบ้านส่วนใหญ่ เข้ามาทางหลังคาบ้านก็คงไม่ผิด เพราะหลังคาเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบจากแสงอาทิตย์โดยตรง ส่วนที่เหลือผ่านมาทางผนังและกระบวนการออกแบบบ้าน การออกแบบหลังคาบ้านให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นอย่างประเทศไทย จึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยป้องกันความร้อนไม่ให้เข้าสู่ตัวบ้านได้



หลังคาบ้านหายใจได้ เป็นหลังคาที่มีความสูงโปร่ง มีพื้นที่ใต้โถงหลังคามาก พร้อมกับออกแบบให้มีช่องระบายอากาศใต้โถงหลังคา ซึ่งช่องระบายอากาศจะทำหน้าที่ถ่ายเทความร้อนที่เก็บสะสมไว้ใต้หลังคา เกิดอากาศใหม่เข้ามาหมุนเวียนอยู่เสมอ หลักการนี้ให้นึกถึงการจอดรถยนต์ไว้กลางแดดครับ ขณะที่เราเพิ่งเปิดประตูเข้าไปนั่งในรถ จะสังเกตได้ว่ามีความร้อนอบอ้าวสูงมาก แต่เมื่อเปิดกระจกรถเพื่อถ่ายเทอากาศเก่าออกและรับอากาศใหม่เข้ามาแทน ความร้อนดังกล่าวจะหายไปอย่างรวดเร็ว วิธีการนี้ช่วยให้แอร์ทำความเย็นได้เร็วขึ้นอีกด้วยครับ

นอกจากช่องระบายอากาศใต้โถงหลังคาแล้ว ฝ้าชายคายังมีส่วนช่วยถ่ายเทอากาศได้ดีเช่นกัน จึงควรเลือกวัสดุฝ้าที่มีร่องระบายอากาศ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้หลังคาบ้านหายใจได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นครับ

2. ผนัง 2 ชั้น หรืออิฐมวลเบา

วัสดุก่อสร้างมีบทบาทต่อความเย็นของบ้าน วัสดุบางชนิดนำความร้อน วัสดุบางชนิดอมความร้อน และวัสดุบางชนิดเป็นฉนวนกันความร้อน สำหรับผนังหายใจได้ที่ให้ความแข็งแรงทนทานและเป็นที่ยอมรับของงานก่อสร้างทั่วไป คือ อิฐมวลเบา เนื่องด้วยมีลักษณะเป็นรูพรุนเล็กๆ จึงช่วยระบายอากาศให้กับผนังได้และยังมีคุณสมบัติเป็นฉนวน ซึ่งหากเทียบระหว่างอิฐมวลเบาและอิฐมอญในความหนาที่เท่ากัน อิฐมวลเบาจะให้ความเย็นที่ดีกว่าครับ

วิธีก่ออิฐมอญ 2 ชั้น

ภาพโดย : Bloggang.com

แต่หากท่านใดต้องการสร้างบ้านด้วยอิฐมอญ แนะนำให้ก่อผนัง 2 ชั้น ในฝั่งทิศตะวันตกและทิศใต้ โดยการก่ออิฐจะต้องเว้นระยะห่างแต่ละชั้นประมาณ 5 เซนติเมตร พร้อมกับออกแบบช่องระบายอากาศผนังด้านนอก เพื่อให้ความร้อนที่สะสมระหว่างผนังมีการหมุนเวียนอากาศใหม่ เป็นหลักการเดียวกับโถงใต้หลังคานั่นเองครับ

3. ช่องลมเข้า ช่องลมออก

กระบวนการถ่ายเทอากาศที่สมบูรณ์ที่สุด จำเป็นต้องมีทั้งช่องลมเข้าและช่องลมออก โดยช่องลมเข้าทำหน้าที่ส่งอากาศและช่องลมออกทำหน้าที่ดูดอากาศ ช่องลมทั้ง 2 ช่องนี้ต้องอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามหรือเยื้องกัน ลักษณะช่องลมที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นช่องหน้าต่างลักษณะบานเปิด ยิ่งเปิดมากอากาศยิ่งถ่ายเทเข้ามาได้มาก แต่หากมีช่องหน้าต่างเพียงช่องเดียว ลมจะไม่สามารถเข้ามาได้ครับ

ทิศทางลม ภายในบ้าน

ภาพโดย : Eco Architect

ลองดูซิ : หากผู้อ่านมีห้องใดที่มีช่องหน้าต่าง 2 ด้าน ให้ทดสอบเปิดหน้าต่าง 1 บาน และปิด 1 บาน และหลังจากนั้น ทดลองเปิดทั้ง 2 บานพร้อมกัน จะเห็นความแตกต่างของปริมาณลมเข้าออกได้เป็นอย่างดี

4. พื้นรอบบ้านหายใจได้

สิ่งต้องห้ามในหัวข้อนี้ คือ การเทพื้นคอนกรีตรอบๆ ตัวบ้าน เนื่องจากคอนกรีตมีคุณสมบัติอมความร้อน แสงแดดที่สาดส่องในช่วงกลางวันจะค่อยๆ สะสมภายในเนื้อคอนกรีต และจะคายความร้อนหลังพระอาทิตย์ตกดิน ส่งผลให้ช่วงกลางดึกบ้านจะร้อนอบอ้าวมากกว่าปกติ การเลือกวัสดุปูพื้นนอกบ้านจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้บริเวณรอบบ้านถ่ายเทและป้องกันความร้อนได้ดียิ่งขึ้น

ภาพโดย : SCG

พื้นนอกบ้านโซนไหนที่จำเป็นต้องปูพื้น ให้เลือกวัสดุปูพื้นที่มีช่องว่าง เช่น บล็อกปูพื้น, บล็อกหญ้า, เหมาะสำหรับตำแหน่งทางเดิน โรงจอดรถยนต์ ส่วนโซนไหนที่ไม่ใช่ทางเดิน การปลูกพืชคลุมดินจะช่วยสะท้อนความร้อนได้ดีกว่าพื้นที่ทำจากวัสดุอื่นๆ อีกทั้งพืชคลุมดินยังช่วยเก็บอุณหภูมิความเย็นของผิวดินได้ดีอีกด้วยครับ

5. เรียนรู้ทิศทางลม

ปิดท้ายกันด้วยหัวข้อทิศทางลม ซึ่งเป็นเสมือนจุดกำเนิดพลังงานลมของบ้าน ช่วยกระตุ้นให้บ้านของเราหายใจสะดวกยิ่งขึ้น วิธีกำหนดทิศทางลมสามารถกำหนดได้ด้วยการจัดผังภูมิทัศน์รอบบ้าน เริ่มจากรั้วบ้านที่โปร่ง ไม่สูงหรือปิดทึบจนเกินไป กรณีต้องการใช้รั้วทึบ ควรมีระยะร่นของบ้านมากกว่าปกติ เพื่อให้ลานหน้าบ้านก่อกำเนิดลมได้

บริเวณรอบบ้านควรปลูกไม้ยืนต้นเพื่อให้ร่มเงาและใช้กำหนดทิศทางลม นอกจากนี้ต้นไม้ยังมีหน้าที่หลักในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสังเคราะห์แสง โดยเฉพาะโซนทิศใต้และทิศตะวันตกซึ่งมีแดดแรงเป็นพิเศษ ต้นไม้สามารถสังเคราะห์แสงได้เต็มประสิทธิภาพ เมื่อสังเคราะห์แสงแล้วจะเกิดการคายน้ำออกมา ทำให้บริเวณใต้ต้นไม้มีความเย็น  เมื่อลมพัดผ่านเข้ามาจะพัดพาความเย็นจากต้นไม้มาให้ด้วย

ออกแบบทิศทางลมให้บ้าน
ภาพโดย : Eco Architect

แต่ทั้งนี้การปลูกต้นไม้ที่ดี จำเป็นต้องหมั่นตัดแต่งกิ่งเพื่อไม่ให้พุ่มหนาเกินไป เพราะจะกลายเป็นปิดกั้นทิศทางลม และไม่ควรปลูกบดบังหน้าบ้าน หรือตำแหน่งทิศทางลมเข้า พร้อมกับจัดผังต้นไม้ให้สามารถหล่อเลี้ยงลมหมุนเวียนให้กระจายไปรอบบ้านได้


เมื่อบ้านหายใจได้ ผู้อยู่อาศัยย่อมหายใจได้คล่องขึ้น ทั้ง 5 แนวทางนี้เป็นหลักการออกแบบเพื่อให้บ้านสอดรับกับหลักธรรมชาติ หากทำครบทั้ง 5 ข้อ รับประกันได้เลยว่า บ้านของคุณจะเย็นสบาย แม้จะไม่ได้เย็นฉ่ำเท่ากับเปิดแอร์ แต่ก็สามารถอยู่อาศัยภายในบ้านช่วงฤดูร้อนโดยไม่ต้องเปิดแอร์ได้ครับ หรือหากเปิดแอร์ บ้านที่มีอุณหภูมิต่ำเป็นทุนเดิม จะช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ช่วยลดค่าไฟได้เป็นอย่างดี สร้างบ้านทั้งทีควรคิดถึงความยั่งยืนให้มากๆ เพื่อการอยู่อาศัยที่สุขสบายไปอีกนาน http://credit-n.ru/vklady.html http://www.tb-credit.ru/zaim.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด