เมนู

บ้านสไตล์นอร์ดิก สเปซพิเศษเพื่อความเป็นส่วนตัว

บ้านสไตล์นอร์ดิก

บ้านสไตล์นอร์ดิก

ดีไซน์และฟังก์ชันของบ้านนั้นมีความสำคัญก็จริง แต่ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่เจ้าของบ้านไม่ควรมองข้าม นั่นคือ การจัดวางระดับความเป็นส่วนตัวให้กับบ้าน เพื่อให้การอยู่อาศัยตรงกับวิถีชีวิตมากที่สุด บางบ้านจะโชว์ในส่วนที่เปิดเผยได้ แต่บางบ้านก็มีมุมความเป็นส่วนตัวสูง ไม่ค่อยอยากโชว์พื้นที่ข้างในก็จะต้องวางแผนว่า หากไม่เปิดจุดนี้มีจุดไหนที่เปิดได้เพื่อไม่ให้บ้านดูอึดอัดและขาดการติดต่อ อย่างเช่นบ้านนี้ หากมองจากภายนอกจะเห็นเพียงเส้นสายบ้านหลังคาจั่วสูงสไตล์นอร์ดิก ไม่ได้ใส่ลูกเล่นอะไรมากมาย แต่เรื่องราวระหว่างการออกแบบทั้งความเป็นส่วนตัว การใส่ความแตกต่างอย่างง่าย ๆ เส้นสาย และสี ก็สร้างสเปซนี้ให้มีความพิเศษขึ้นมาได้เช่นกัน

ออกแบบ : Edwards White Architects
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านหลังคาจั่วทูโทนขาวดำ

บ้านของครอบครัวนี้ตั้งอยู่ระหว่างถนนที่พลุกพล่านและสวนสาธารณะที่ติดกับแม่น้ำไวกาโต ประเทศนิวซีแลนด์ จากหน้าถนนด้านทิศตะวันออก พื้นที่จะลาดลงไปทางสวนทิศตะวันตก เจ้าของบ้านที่ค่อนข้างรักความเป็นส่วนตัวจึงออกแบบบ้านให้ดูปิดจากสายตาเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียง ในลักษณะที่เป็นอาคารหลังคาจั่วสไตล์นอร์ดิก โชว์ความตัดต่างของสีผนังอิฐสีขาวในส่วนโรงจอดรถ และผนังไม้สีน้ำตาลในโซนใช้งานประจำวัน ในขณะเดียวกันก็เปิดกว้างต่อมุมมองและปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในส่วนอื่นแทน

บ้านหลังคาจั่วสไตล์นอร์ดิก

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

ผนังเมทัลชีทกรอบหน้าต่างเหล็ก

จากสวนสาธารณะมองเข้ามาที่ด้านข้างบ้าน จะเผยให้เห็นลักษณะบ้านหลังคาจั่ว 3 ส่วนที่ต่างสี ต่างความสูง และวัสดุ แต่เชื่อมต่อกันเป็นแถวยาว ส่วนที่สะดุดตาที่สุดอยู่ที่กระจกบานใหญ่มีกรอบสี่เหลี่ยมเหล็กเป็นซับวงกบยื่นออกมาให้เส้นสายตาชัดเจนทันสมัย และพื้นที่นั่งเล่นกลางแจ้งที่มีหลังคาคลุมเปิดพื้นที่ใช้สอยออกสู่พื้นที่สีเขียวในบ้านให้ต่อเนื่องลื่นไหล ด้านนี้จึงดูเปิดออกมากกว่าอีกด้านแ ต่ยังคงรักษาระดับความเป็นส่วนตัวของบ้านเอาไว้ในส่วนที่ต้องการ

ทางเข้าบ้าน

ทางเข้าบ้านจะอยูตรงกลางระหว่างโรงรถกับบ้านส่วนหลัง มีกำแพงยื่นยาวหลบสายตาจากเพื่อนบ้าน

ช่องแสงเหนือผนังใต้หลังคา

จากประตูทางเข้าจะนำมาสู่บ้านสองชั้น ที่จัดแบบ open plan และรายล้อมด้วยผนังกระจก บ้านจึงเต็มไปด้วยความโปร่งและสว่าง แต่กระจกที่เลือกใช้เป็นแบบติดฟิล์มที่มองทะลุได้ด้านเดียว คนที่อยู่ภายนอกจะมองไม่เห็นภายในบ้าน จึงใช้ชีวิตได้แบบไม่ต้องกังวลสายตา ในส่วนชั้นล่างจะเป็น Public Zone พื้นที่ใช้งานสาธารณะที่มีความเคลื่อนไหวมากทั้งวัน ประกอบด้วย ห้องนั่งเล่น ครัว โต๊ะทานข้าว ที่วางเฟอร์นิเจอร์เรียงกันไปแบบไม่มีผนังกั้น สามารถเข้าถึงกันได้หมด ส่วนชั้นบนจะจัดวางห้องนอนซึ่งเป็น Private Zone ที่ไม่ต้องการความพลุกพล่าน เหมาะสำหรับพักผ่อนยามค่ำคืน

ครัวสไตล์โมเดิร์นสีขาวดำ

ห้องนั่งเล่น

มุมนั่งเล่นที่จัดให้อยู่ในระดับต่ำลงไปเป็นเหมือนหลุมที่อบอุ่น ล้อมรอบด้วยชุดโซฟาสีเขียวกำมะหยี่หนานุ่ม อีกด้านหนึ่งเป็นม้านั่งไม้บิลท์อินวางเบาะยาวเอาไว้เป็นเบย์วินโดว์ที่ชวนให้มานั่งริมหน้าต่าง วิธีการแยกฟังก์ชันแบบนี้ให้ความเป็นสัดเป็นส่วนโดยที่ไม่ต้องก่อผนังกั้นให้เสียพื้นที่ และยังทำให้บ้านดูน่าสนุกขึ้นด้วย

ชั้นวางของบิลท์อิน

ชั้นวางของบิลท์อิน

พื้นที่นั่งเล่นบนเฉลียง

ประตูด้านข้างของครัว เป็นบานสไลด์กระจกเปิดออกเชื่อมต่อมายังพื้นที่นั่งเล่นบริเวณเฉลียงไม้มีหลังคาคลุม ระบบหลังคาเปิดและปิดได้ตามสภาพอากาศ ความต่อเนื่องลื่นไหลระหว่างภายในกับภายนอกนี้ทำให้สมาชิกในบ้านออกมาใช้งานส่วนกลางแจ้งมากขึ้น จากจุดนี้จะเห็นว่ามีวิวที่หันหน้าออกไปที่สวนสาธารณะของเมือง เป็นที่มาของการสร้างพื้นที่เปิดให้บ้านมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกได้เต็มที่

ห้องน้ำ

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านที่ดีควรมี Zoning ที่ชัดเจน เริ่มจากการตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า ตรงส่วนใหนที่ต้องการความเคลื่อนไหวมาก เคลื่อนไหวน้อย ต้องการปิดเป็นส่วนตัว หรือเปิดเชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ถนน เพื่อนบ้าน  ซึ่งส่วนใหญ่แบ่งลำดับการเข้าถึงไว้ 3 โซน คือ พื้นที่ใช้งานสาธารณะ (Public Zone) ได้แก่ เฉลียง ระเบียง ชาน คอร์ทยาร์ดนอกตัวบ้าน บริเวณห้องรับแขก  ส่วนต่อมาจะเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ (Semi-public Zone) ที่อาจมีคนเดินผ่านไปมาใช้งานช่วงกลางวันเป็นประจำ อาทิ ห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร รวมถึงห้องนั่งเล่น
 และระดับสุดท้ายเป็นโซนส่วนตัว (Private Zone) จะค่อนข้างสงบ ไม่พลุกพล่าน บุคคลภายนอกต้องได้รับอนุญาตก่อนเข้าถึง  เช่น ห้องนอน ห้องน้ำชั้นบน เป็นต้น

 

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด