บ้านนี้ ต้อนรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์
สถิติผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในประเทศไทย พบได้ในกลุ่มทั่วไป เฉลี่ยอายุ 65 ปี มีสัดส่วนร้อยละ 5 กลุ่มอายุ 75 ปีเฉลี่ยร้อยละ 15 และกลุ่มอายุ 85 ปีประมาณร้อยละ 30- 40 นั่นหมายถึงเมื่อตัวเราเองหรือคนในครอบครัวแก่ตัวขึ้น โอกาสที่จะเป็นอัลไซเมอร์สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ การเตรียมพร้อมรับมือและเรียนรู้เพื่อหาแนวทางป้องกัน จึงเป็นสิ่งสำหรับที่ต้องวางแผนกันไว้ล่วงหน้า เนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย” นำเสนอในมุมมองของผู้ดูแล ถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรงในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นคุณพ่อของผู้เขียนเอง เพื่อต้องการถ่ายทอดความรู้ให้กับมือใหม่ที่ต้องเผชิญหน้ารับมือกับการดูแล คุณพ่อ คุณแม่หรือผู้สูงอายุในบ้านที่ต้องเจอกับโรคอัลไซเมอร์
ผู้เขียน : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์
รูปภาพ | www.sixtyandme.com
อาการของอัลไซเมอร์ ไม่ใช่แค่ลืม
ก่อนหน้านี้ผู้เขียนทราบเพียงแค่ว่า อาการของอัลไซเมอร์มีเพียงความจำที่หายไป แต่เมื่อได้สังเกตอาการของคุณพ่อด้วยตนเองกลับทำให้พบอาการแปลก ๆ ที่คาดไม่ถึง โดยเฉพาะอาการหลงและการมองเห็นภาพหลอน ในบางเวลาคุณพ่อไม่สามารถควบคุมหรือรู้ทันความคิดที่ออกมาจากสมอง จู่ ๆ ก็คิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา จู่ ๆ ก็มีอีกเรื่องอื่นมาประติดประต่อ และจุดอันตรายคือช่วงเวลากลางคืน หลังจากนอนหลับไปสักระยะแล้ว ในบางคืนคุณพ่อตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการหลอนกลัว เสมือนว่าพ่อไม่สามารถแยกระหว่างความฝันกับความจริงได้ ส่วนอาการเห็นภาพหลอน มักจะเกิดจากการมองเห็นวัตถุใด ๆ กลายเป็นคน กลายเป็นเด็ก หากใครดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หากผู้ป่วยนั่งคุยกับใครที่เราไม่เห็น ก็ไม่ต้องตกใจกลัวไปนะครับ เพราะสิ่งนี้คืออาการปกติของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือการจัดสถานที่ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น
พื้นที่กิจกรรม
ลูก ๆ หลาน ๆ หรือผู้ดูแล จำเป็นต้องสังเกตพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ชื่นชอบเป็นพิเศษ เพราะผู้ป่วยจะสามารถเพลิดเพลินและอยู่กับสิ่งนั้นได้ตลอดทั้งวัน โดยไม่เบื่อเลย ช่วงแรกที่ทราบว่าพ่อเป็นอัลไซเมอร์ ผู้เขียนได้แต่ชวนให้พ่อมานั่งดูทีวี หรือมีกิจกรรมฝึกสมอง แต่นั่นอาจไม่ได้ทำให้พ่อมีความสุขที่จะทำนัก จึงได้สังเกตเห็นว่า พ่อชอบจัดสวน โดยเฉพาะการปูพื้นแผ่นทางเดิน จึงได้สั่งซื้อแผ่นทางเดินมาให้คุณพ่อปู ทุก ๆ เช้า พ่อจึงตื่นมาพร้อมกับการปูแผ่นทางเดินในสวนกระทั่งเย็น และไม่ต้องกังวลว่าจะต้องซื้อเพิ่มเยอะ ๆ นะครับ เพราะในพื้นที่เพียงไม่กี่ตารางเมตร พ่อปูวนเวียนไปมา ใช้เวลานานนับเดือน
จุดที่สังเกตได้คือ พ่อมีอารมณ์ดีขึ้นมาก สามารถลดปริมาณยาที่คุณหมอสั่งได้ และที่สำคัญช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ดูแล เมื่อผู้ป่วยมีกิจกรรมแล้ว ผู้ดูแลสามารถทำงานอื่น ๆ ได้ตามปกติ เพียงแค่ออกไปดูเป็นครั้งคราวเท่านั้น
รูปภาพ |www.easyvoyage.com
ติดกล้องวงจรปิด
สิ่งแรกที่ผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจ การติดกล้องเพื่อเฝ้ามองติดตามอาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยรักษาและช่วยให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการแอบมองอย่างไม่เหมาะสม เพราะบางอาการเราไม่อาจทราบได้เลยหากไม่เฝ้าดูในช่วงเวลาส่วนตัว อย่างในบ้านของผู้เขียนเองทำการติดกล้องวงจรปิดที่สามารถดูออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าสังเกตอาการ ติดบริเวณโซนกิจกรรม หน้าบ้าน และห้องนอนของคุณพ่อ
สิ่งที่พบ บางคืนคุณพ่อยืนด้วยความหวาดระแวงที่หน้าประตู เมื่อเห็นว่ายืนอยู่นานนับชั่วโมง จึงได้เข้าไปเคาะประตูสอบถาม หากผู้ป่วยไม่ตอบโต้ใด ๆ ไม่ต้องตกใจนะครับ เพราะผู้ป่วยจะระแวง และไม่รู้ว่าเป็นใคร หรือแม้แต่บางครั้งผู้ป่วยอาจจะจำผู้ดูแลไม่ได้ ค่อย ๆ เรียก ค่อย ๆ เปิดประตู จากการสอบถามคุณพ่อเล่าให้ฟังว่า มีกลุ่มโจรจะมาทำร้าย พ่อบอกว่ามันอยู่ด้านหลัง มันยังอยู่ ผู้ดูแลต้องค่อย ๆ คุย เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความสบายใจและส่งเข้านอนใหม่อีกครั้ง การใกล้ชิดกับผู้ป่วยจะทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและนอนหลับสนิทยิ่งขึ้น
ห้องนอนโล่ง ๆ ดีที่สุด
อย่างที่ได้แจ้งอาการไว้เบื้องต้น ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักมองเห็นภาพหลอนและในช่วงกลางคืน อาจจะตื่นขึ้นมาพร้อมกับเรื่องราวใด ๆ ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ ในช่วงแรกเริ่มที่ยังไม่ปรับห้อง ห้องนอนยังเต็มไปด้วยตู้เสื้อผ้า ราวแขวน และของใช้อื่น ๆ ผลที่ได้คือ พ่อรื้อข้าวของเหล่านี้ หรือบางครั้งเห็นตระกร้าผ้าเป็นเด็ก เห็นตู้เสื้อผ้าเป็นคนร้าย หลังจากรู้อาการแล้วจึงทำการย้ายข้าวของออกหมด เหลือเพียงแค่เตียงนอนกับชุดเครื่องนอน และโต๊ะเก้าอี้ ไว้นั่งเขียนหนังสือ นั่งทานอาหารเท่านั้น ผลที่ได้คุณพ่อมองเห็นภาพหลอนน้อยลง และผู้ดูแลไม่ต้องเหนื่อยกับการจัดเก็บข้าวของใหม่ครับ
ปรับแสงห้องนอนให้น่านอน
พระอาทิตย์ตกดิน เป็นสัญญาณธรรมชาติที่กำลังบอกให้สิ่งมีชีวิตทราบว่าแสงถึงเวลาพักผ่อนแล้ว การปรับแสงสว่างภายในห้องนอนอย่างเหมาะสม จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้นอนหลับง่ายยิ่งขึ้นครับ หลอดไฟสำหรับใช้ในห้องนอนเหมาะกับแสงไฟสีวอร์ม เป็นโทนแสงที่ใกล้เคียงกับแสงพระอาทิตย์ตกดิน ในทางกลับกันหากเป็นหลอด Day Light แสงสว่างจ้าย่อมทำให้ผู้นอนรู้สึกตื่นตัว นอนหลับยากยิ่งขึ้นครับ
แต่ทั้งนี้ไม่ควรหลี่ไฟให้มืดจนเกินไป เพราะหากคืนใดผู้ป่วยสะดุ้งตื่นขึ้นมาจะยิ่งตกใจมากยิ่งขึ้น ห้องนอนผู้ป่วยอัลไซเมอร์จึงสามารถเปิดไฟไว้ได้ตลอดเวลา เว้นแต่ผู้ป่วยเรียกร้องให้ปิดครับ
ห้องน้ำกว้าง สว่างทั้งค่ำคืน
“คุณพ่ออาบน้ำแล้วยัง คำตอบที่ได้ยินทุกครั้งคือ อาบแล้ว” แรกเริ่มผู้เขียนคิดไปเองว่า คุณพ่อคงอาบน้ำแล้วจริง ๆ แต่มารู้คำตอบภายหลังด้วยการสัมผัสผิวกายและสบู่ที่ยังแห้งสนิท ทำให้ทราบว่าพ่อเริ่มอาบน้ำไม่เป็น แม้ผู้ป่วยจะเข้าไปห้องน้ำเป็นเวลานาน แม้จะมีเสียงน้ำก็อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะทำกิจกรรมส่วนตัวได้อย่างถูกต้องนะครับ ทุก ๆ ครั้งที่ผู้ป่วยเข้าห้องน้ำ ให้ตามตรวจเช็คความเรียบร้อยเสมอ และเมื่ออาการหลง ๆ ลืม ๆ เริ่มมากขึ้น การทำกิจกรรมบางอย่างจะถูกลดทอนความสามารถออกไป
การออกแบบห้องน้ำ หากผู้อ่านยังไม่สร้างบ้านในตอนนี้ ควรมีห้องใดห้องหนึ่งสำหรับรองรับกับการใช้งานของผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ควรมีขนาดห้องที่กว้างเพียงพอต่อการจัดวางเก้าอี้นั่งอาบน้ำ และการใช้งานพร้อมกัน 2-3 คน เพื่อให้ผู้ดูแลช่วยทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกราบรื่น และไม่ก่อให้เกิดอันตรายในขณะที่ผู้ป่วยเข้าทำธุระเพียงลำพัง และเมื่อถึงเวลาค่ำคืน แนะนำให้เปิดไฟห้องน้ำทิ้งไว้ได้เลยครับ หากผู้ป่วยลุกขึ้นเข้าห้องน้ำกลางดึก จะได้มองเห็นห้องน้ำจากแสงไฟ
ประตูที่ต่างกัน
บ้านหลังเล็กมีไม่กี่ห้องคงไม่เป็นปัญหาครับ แต่สำหรับบ้านหลังใหญ่ บ้านที่มีห้องติดกันหลาย ๆ ห้อง และมีประตูแบบเดียวกันทั้งหมด จะส่งผลให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์เกิดอาการมึนงงในการหาห้องนอนตนเองได้ยาก ในระยะแรกเริ่มของอาการ แนะนำให้ทาสีประตูห้องนอนใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถจดจำสีประตูห้องของตนเองได้ง่าย มิเช่นนั้นผู้ป่วยจะเปิดประตูผิด จากการสังเกตคุณพ่อ ในบางครั้งกว่าจะเปิดหาห้องนอนตนเองเจอ ทยอยเปิดห้องต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ เมื่อเปิดแล้วชะเง้อคอดู เมื่อไม่ใช่ต้องหาใหม่ และบางคนวกวนกลับมาหาที่ห้องเดิม การทาสีที่เด่นชัด แยกจากห้องอื่น ๆ เป็นอีกสิ่งที่จะช่วยสื่อสารให้ผู้ป่วยจดจำและหาห้องในขณะอยู่ลำพังได้ครับ
เตรียมทางลาดไว้ให้พร้อม
ปัจจุบันคุณพ่อของผู้เขียนยังมีร่างกายแข็งแรง เดินวิ่งได้ตามปกติครับ มีเพียงสมองเท่านั้นที่เสื่อมไปก่อนอวัยวะอื่น ๆ แต่เมื่อได้ศึกษาลำดับอาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์แล้ว จะมีระยะที่ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย หรือที่เรียกกันว่า “ผู้ป่วยติดเตียง” เมื่อถึงเวลานั้นบางเวลาอาจต้องพาไปหาคุณหมอเพื่อตรวจเช็คอาการ การเคลื่อนย้าย เดินทาง ย่อมลำบากขึ้น และอาจต้องใช้รถเข็น
การดูแนวทางทำทางลาดเผื่อไว้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเอื้ออำนวยความสะดวกต่อการใช้งาน สำหรับบ้านที่ยังไม่เริ่มสร้าง ไม่เริ่มออกแบบ อย่าลืมให้สถาปนิกเผื่อพื้นที่เหล่านี้ไว้ด้วยนะครับ หากยังไม่จำเป็นต้องใช้ก็อาจไม่ต้องทำในปัจจุบัน แต่จำเป็นต้องมีพื้นที่เผื่อรองรับ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ในอนาคต หรือจะทำรองรับเผื่อไว้ตั้งแต่เริ่มสร้างบ้านได้เช่นกันครับ
พื้นที่สำหรับผู้ดูแล
กรณีผู้ป่วยเริ่มช่วยเหลือตนเองไม่ได้ อาจจำเป็นต้องมีผู้ช่วยดูแลตลอดเวลา ห้องนอนจึงควรมีพื้นที่เพียงพอสำหรับให้ผู้ช่วยนั่ง นอน พักผ่อนได้
รั้วรอบขอบชิด ติดเบอร์โทรไว้หน้าบ้าน
อาจจะเป็นอีกหนึ่งข้อดี ที่โดยปกติบ้านคนไทยนิยมออกแบบให้มีรั้วบ้านเป็นส่วนใหญ่กันอยู่แล้ว เพราะหากไม่มีรั้วบ้าน ผู้ป่วยจะสามารถเดินออกนอกบริเวณได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้เดินหายไปได้ บ้านไหนยังไม่มีรั้วจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีรั้ว และให้มีทางเข้าออกเพียงทางเดียว พร้อมกับติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ตรงตำแหน่งทางเข้าออก หน้ารั้วควรติดเบอร์โทรศัพท์ เผื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น เพื่อนบ้านจะสามารถโทรหาได้ทันท่วงทีครับ
บทความนี้ “บ้านไอเดีย” ต้องการถ่ายทอดประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และประยุกต์เนื้อหาให้เข้ากับแนวทางของเว็บไซต์ที่พูดถึงเรื่องบ้าน และนอกเหนือไปจากการเตรียมความพร้อมในเรื่องที่อยู่อาศัยแล้ว ตัวของผู้ดูแลเอง ต้องเตรียมกาย เตรียมใจให้พร้อมรับมือกับแต่ละช่วงอาการของผู้ป่วย ไม่ลืมหาเวลาพักผ่อนให้กับตัวเองอย่างเพียงพอ เรียนรู้ที่จะปล่อยวาง จะได้ดูแลคนที่เรารักอย่างมีความสุขในทุก ๆ วันครับ http://www.tb-credit.ru/our-company.html