เมนู

ชีวิตริมน้ำ เรียบง่ายในบ้านสังกะสี ประหยัดงบ

บ้านสังกะสี

บ้านราคาประหยัด

บ้านไม้ใส่สังกะสี สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นกลิ่นอายโมเดิร์นหลังนี้ ตั้งอยู่ในย่านชานเมือง เป็นชุมชนแออัดติดแม่น้ำโขงของเมืองเจิวด๊ก จังหวัดอานซาง ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม ที่นี่สร้างสำหรับ 3 ครอบครัว จึงต้องการพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด ทำให้ต้องเลือกสรรวัสดุที่ราคาถูกแล้วนำมาปรับประยุกต์รูปลักษณ์และฟังก์ชั่นใหม่ ๆ ใส่เข้าไป พร้อม ๆ กับการออกแบบบ้านให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตและสภาพแวดล้อม ทั้งทางวัฒนธรรมและสภาพอากาศเมืองร้อนที่ต้องเผชิญกับน้ำด้วย  ดูเหมือนจะเป็นโจทย์ที่ยาก แต่บ้านหลังนี้พิสูจน์แล้วว่างบประมาณน้อย ๆ แต่ก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เหมือนกันครับ

ออกแบบNishizawa Architects
เนื้อหาบ้านไอเดีย

งบประมาณในการสร้างบ้านนี้จะน้อยตามมาตรฐานค่าครองชีพท้องถิ่น ซึ่งทำให้นักออกแบบต้องเลือกใช้วัสดุหาง่าย ราคาถูกมาสร้างบ้าน อย่างไม้ ฝาขัดแตะ แผ่นสังกะสีลูกฟูกบาง ๆ แต่ทีมงานพยายามที่จะตอบสนองความพึงพอใจของผู้อยู่ ในแง่ของจิตวิญญาณในวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ผสมผสานการออกแบบบ้านให้ใช้งานได้สะดวกสบายในแบบโมเดิร์น บรรยากาศในบ้านเต็มไปด้วยบ้านโปร่งสบาย มีแสงแดดที่ส่องลงมาพอดี ๆ สดชื่นด้วยความเขียวขจีของพรรณไม้ และการระบายอากาศตามธรรมชาติ เหมือนอาศัยอยู่ในสวนกึ่งเอาท์ดอร์

โถงทางเข้าบ้านกรุด้วยฝาไม้ขัดแตะแบบบ้านดั้งเดิมของเวียดนาม ตกแต่งด้วยกระถางดอกไม้ด้านหน้า เป็นการเชื้อเชิญให้เข้าสู่ตัวบ้านอย่างเรียบง่ายและเป็นมิตรตามสไตล์คนเอเชีย

สภาพแวดล้อมของชุมชนเดิมรอบข้างที่เป็นชุมชนริมน้ำ บ้านจึงสร้างแบบยกเสาสูงหนีน้ำในฤดูน้ำหลาก ตัวบ้านก็ทำจากไม้และสังกะสีง่าย ๆ เหมือนกัน แต่เมื่อข้ามมาอีกฝั่งถนนจะเป็นบ้านติด ๆ กัน ซึ่งแต่ละหลังก็ต้องมีการปรับตัวให้ใช้ชีวิตก้ำกึ่งระหว่างพื้นราบและน้ำ ทั้งนี้จากการศึกษารูปแบบบ้านเหล่านี้จะเห็นว่ามักสร้างเพดานอยู่ต่ำเกินไป ไม่มีฉนวนกันความร้อน และหน้าต่างขนาดเล็กมากไม่เพียงพอสำหรับการระบายอากาศ บ้านหลาย ๆ หลังก็ใช้พื้นไต้ถุนทิ้งขยะ เลี้ยงเป็ดไก่ ดูไม่มีสุขอนามัย ในบ้านหลังนี้นักออกแบบจึงจัดการกับปัญหาทั้งหมด ด้วยวิธีการคือ

  1. เปลี่ยนรูปทรงหลังคาจากหลังคาธรรมดาเป็นหลังคาผีเสื้อที่มีความสูงต่าง ๆ กัน โดยไม่ปิดฝ้า เปิดเป็นโพรงด้านในให้ความร้อนลอยขึ้นสู่ที่สูงได้ดี
  2. รอบ ๆ ตัวบ้านทำช่องเปิดขนาดใหญ่ เพื่อปรับปริมาณแสงแดดและลมตามธรรมชาติ เป็นบานหมุน บานกระทุ้ง ที่ทำจากแผ่นสังกะสีตีกรอบไม้ อากาศร้อนจึงไม่สะสมในบ้าน
  3. แทนที่ผนังภายในที่เดิมมักทำจากอิฐ คอนกรีต เป็นพาร์ติชันหรือฉาก ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เพื่อสร้างพื้นที่ใช้งานภายในต่อเนื่องขนาดใหญ่

จากทางเดินหน้าบ้านจะแบ่งทางเข้าบ้านได้ 2 ทาง คือลงไปชั้นล่างที่อยู่ต่ำกว่าถนน และอีกทางหนึ่งด้านซ้ายมือแยกขึ้นไปส่วนที่อยู่ติดระดับเดียวกับถนน ซึ่งเป็นจุดทานอาหารและครัวแบบดั้งเดิม มุมนี้เป็นเหมือนชานเล็ก ๆ ปูพื้นด้วยไม้ มีแสงและลมเข้ามาระบายอากาศผ่านประตูสังกะสีบานหมุน ที่ทำหน้าที่เป็นประตูหน้าบ้านไปด้วยในตัว ผนังด้านข้างทำจากอิฐบล็อค ติดตั้งชุดเครื่องครัวทำจากไม้และสังกะสี มีซิงค์ล้าง ตู้เก็บของ ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ถัดจากจุดนี้จะมีบันไดต่อเชื่อมขึ้นไปที่ชั้นสอง

เมื่อเดินผ่านโถงทางเข้าลงมา จะเป็นส่วนของพื้นที่ใช้ชีวิตที่หลากหลาย มองไกลๆ เป็นเหมือนใยแมงมุมโปร่ง ๆ ที่แทรกฟังก์ชั่นการใช้งานที่ยืดหยุ่นสำหรับ 3 ครอบครัว

ในวิถีแบบเอเชียดั้งเดิมที่ไม่ขาดปฏิสัมพันธ์กับผืนดิน ไม่ว่าจะเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ เพราะปลูกต้นไม้ หรือเป็นลานบ้านให้เด็ก ๆ นั่งเล่น ทีมงานออกแบบจึงเว้นพื้นที่ด้านล่างให้เป็นลานดินกว้าง ๆ สำหรับปลูกต้นไม้อยู่ในร่ม และทำพื้นที่ครัวต่อเชื่อมกับลานดินโดยยกพื้นขึ้นทำเป็นพื้นไม้ระแนงที่ช่วยให้ระบายอากาศได้ดี บริเวณนี้เป็นครัวดิบ ๆ แบบลอฟท์สไตล์กลิ่นอายเอเชีย เพื่อให้ดูแลได้ง่าย แม้ในยามน้ำท่วมก็ยังไม่เสียหายมาก

ครัวเปิดกลางบ้าน บิวท์ไอซแลนด์จัดเตรียมอาหารจากคอนกรีตท็อปไม้เส้นสายเรขาคณิตคมชัดเรียบง่าย เคาน์เตอร์ครัวและผนังส่วนนี้ก็ทำจากวัสดุเดียวกันคือ คอนกรีตขัดมันไม่ทำสี ไม่ต้องตกแต่งเพิ่มเติมมากมายก็เผยเสน่ห์ของวัสดุได้เต็มที่ ใส่เฟอร์นิเจอร์ไม้เข้าไปแทรกในหลาย ๆ จุด เพื่อลดทอนความดิบแข็งของคอนกรีตได้อย่างลงตัว

ด้วยแนวคิดของการรักษาพื้นที่ชีวิตทางวัฒนธรรม ผสมผสานความเป็นธรรมชาติโดยรอบ และการจัดสรรพื้นที่ชีวิตให้รองรับกิจกรรมประจำวัน พร้อม ๆ กับตอบโจทย์สภาพอากาศ สถาปนิกจึงทำโครงสร้างไม้ลอยบนเสาคอนกรีต ตกแต่งด้วยวัสดุที่คุ้นเคย อาทิ ไม้แผ่น ไม้ระแนง สังกะสี ฝาไม้ขัดแตะที่ทำหน้าที่เป็นฉากกั้นแทนผนัง ทำให้ออกมาเป็นบ้านดูโปร่งสร้างสภาวะสบายทั่วบ้าน สามารถเข้าถึงธรรมชาติได้ดี มีจุดแทรกต้นไม้ในทุกระดับของบ้าน สอดรับกับทิศทางของแสง เงา และการถ่ายเทของอากาศ

ชั้นบนแบ่งเป็นมุมนั่งเล่น ห้องนอน ห้องน้ำปูพื้นด้วยไม้ให้ความรู้สึกอบอุ่นนุ่มนวล โดยไม่ได้ปูแบ่งพื้นที่ระหว่างชั้นทึบหมด แต่เปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นโถงสูงแบบ Double Volume ให้บ้านมีพื้นที่ว่างแนวตั้ง จึงดูไม่ทึบอับ

บริเวณผนังชั้นสองติดบานกระทุ้งทำจากแผ่นสังกะสีขนาดใหญ่ เปิดรับแสงและส่งต่ออากาศร้อนจากด้านล่างระบายออกจากตัวบ้านได้ในช่องทางนี้

มุมนั่งเล่นส่วนตัวชั้นบนปูด้วยพื้นไม้ระแนง ช่องว่างระหว่างแผ่นไม้ช่วยเรื่องการระบายอากาศ และเปิดเชื่อมให้คนที่นั่งอยู่จุดนี้สามารถปฏิสัมพันธ์กับคนในบ้านที่อยู่ตามมุมอื่น ๆ ของตัวบ้านได้แม้จะอยู่คนละชั้น พื้นระแนงนี้ไม่ได้ปูเต็มทั้งหมด แต่แบ่งพื้นที่ว่างให้ต้นไม้เติบโตได้ เป็นกลวิธีในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติได้อย่างน่าสนใจ

จากมุมนั่งเล่นชั้นบนในบ้าน เปิดต่อเชื่อมไปจุดนั่งเล่นชมวิวริมหน้าต่าง ซึ่งมีประตูเหล็กซี่บาง ๆ แบ่งกั้นขอบเขตการใช้งานของแต่ละครอบครัวเอาไว้ เพื่อความเป็นส่วนตัว

ปัจจุบันในเขตเมืองของเวียดนาม มีอาคารสไตล์แปลกใหม่ที่เกิดจากการส่งผ่านวัฒนธรรมจากทั่วโลก และเริ่มรุกเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์แบบชนบทดั้งเดิม ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้สถาปนิกชาวเวียดนามก็ตระหนักดี และพยายามเพิ่มทางเลือกใหม่ ๆ ที่ร่วมสมัย ด้วยการสืบทอดวัฒนธรรมของพวกเขาเข้ากับสถาปัตยกรรมใหม่ ๆ ไม่ใช่การหลุดออกจากจิตวิญญาณเดิม ซึ่งบ้านหลังนี้ก็ถ่ายทอดแนวคิดนี้ออกมาได้ดีทีเดียวครับ

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด