เมนู

บ้านเก่าร้อนมาก ปรับอย่างไรให้อยู่สบาย ไม่กระทบโครงสร้างเดิม

ปรับบ้านเก่าให้เย็นสบาย

วิธีลดร้อนให้บ้านเก่าโดยไม่ต้องทุบ

ช่วง 5-10 ปีมานี้ มีโครงการบ้านเพิ่มขึ้นมาใหม่จำนวนมาก ช่วงไปซื้อบ้านทางโครงการมักจะให้เข้าชมบ้านตัวอย่าง ซึ่งมีการจัดบรรยากาศไว้น่าอยู่ เปิดแอร์ไว้เย็นฉ่ำ ทำให้เกิดแรงจูงใจในการตัดสินใจซื้อ จนอาจลืมมองไปว่า ข้อจำกัดของบ้านในโครงการจัดสรรนั้นมีอยู่มาก อาทิ แบบบ้านเดียวกันแต่อยู่ต่างทิศกันย่อมมีผลกับความเย็นสบายที่ต่างกัน จึงเป็นเรื่องปกติที่เมื่ออยู่อาศัยไปสักระยะแล้วมักมีการต่อเติมตกแต่งใหม่ เพื่อให้รองรับกับการอยู่สบายมากขึ้น

เนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย” นำ 5 วิธีลดร้อนให้บ้าน แบบฉบับไม่ต้องทุบ ไม่ต้องรื้อ ไม่มีผลกระทบกับโครงสร้างบ้าน แค่เพียงตกแต่งเสริมเพิ่มในจุดที่เหมาะสมก็สามารถลดอุณหภูมิให้บ้านได้มากเลยครับ

เนื้อหา : บ้านไอเดีย

ติดฟิล์มกรองแสง

1. ติดฟิล์มกรองแสงกระจกหรือติดม่านกัน UV

สำหรับบ้านที่ติดผนังกระจกขนาดใหญ่เพราะชื่นชอบความโปร่ง สว่าง และเปิดมุมมองบ้านให้เห็นภายนอกได้ชัดเจน ก็จะต้องแลกมาด้วยอุณหภูมิในบ้านที่สูงมากกว่าบ้านจากวัสดุอื่น ๆ นั่นเป็นเพราะกระจกใสเป็นวัสดุโปร่งแสงมีค่าการตัดแสงประมาณเพียง 8% (สำหรับกระจกใสหนา 12 มิลลิเมตร) และยอมให้แสงผ่านได้มาก กระจกในยุคก่อน ๆ เป็นชนิดธรรมดาไม่มีคุณสมบัติสะท้อนแสง ตัดแสง และกันร้อน ทำให้ความร้อนตามเข้ามาตรงจุดนี้ได้มากด้วย วิธีการที่ง่ายที่สุดในการช่วยลดร้อนให้บ้านกระจก คือ การติดฟิล์มกระจก บางรุ่นสามารถช่วยลดความร้อนจากแสงแดดได้เกือบ 80% ช่วยประหยัดพลังงานและป้องกันรังสียูวีได้มากกว่า 99%

ติดผ้าม่านกันแสงแดด

หรือจะติดผ้าม่าน 2 ชั้น ชั้นในเป็นผ้าม่านโปร่ง ๆ ให้แสงผ่านได้บ้าง ส่วนชั้นนอกเป็นผ้าม่านหนา ๆ ช่วยกรองแสงในช่วงที่แดดจัด ทำให้มีทางเลือกที่ยืดหยุ่นตามสภาพอากาศและความรุนแรงของแสง อีกวิธีหนึ่งคือ การติดผ้าม่านกันแสง 100% (ผ้า Blackout 100%) เป็นชนิดผ้าที่ถักทออย่างหนาแน่นด้วยเส้นด้าย High Density Yarn ซึ่งป้องกันทั้งแสงแดดและรังสี UV แต่ไม่ทำให้ห้องมืดสนิท

2. ทาสีสะท้อนความร้อนภายนอก

อย่างที่เราทราบกันดีว่าบ้านได้รับความร้อนโดยตรงผ่านทางหลังคาประมาณ 70% และสะสมบริเวณผนังรอบบ้านอีก 30% การลดความร้อนให้บ้านอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจึงต้องลดความร้อนที่ผนังด้วย และวิธีการง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ทันที และเหมาะมากกับบ้านเก่าที่สภาพภายนอกเริ่มดูไม่สวยงาม หากต้องการจะทาสีใหม่ลองเปลี่ยนมาใช้สีทาภายนอกที่มีคุณสมบัติสะท้อนความร้อน ซึ่งสีประเภทนี้จะใส่ส่วนประกอบพิเศษทำให้เกิดประสิทธิภาพสะท้อนความร้อนได้มากขึ้นกว่า 95% จึงสามารถลดอุณหภูมิพื้นผิวสูงสุดถึง 12% มีทั้งฟิล์มสีชนิดเงา กึ่งเงา ใส และด้าน ให้เลือกตามความเหมาะสมกับภาพรวมของบ้าน โดยสีที่สามารถสะท้อนความร้อนได้ดีที่สุดเป็นเฉดสีขาวหรือโทนสีสว่างครับ

3. ติดตั้งกันสาดด้านทิศใต้/ตกเฉียงใต้

แสงแดดที่ส่องทะลุเข้ามาในบ้านมาก สาเหตุหนึ่งมาจากการสร้างบ้านที่ไม่มีชายคาหรือกันสาด ซึ่งจะพบได้มากในบ้านที่ทำหลังคาแบบเพิงหมาแหงนและบ้านสไตล์โมเดิร์นที่เน้นความเรียบของอาคาร การลดความรุนแรงของแสงจากภายนอกแบบไม่ซับซ้อนทำได้ด้วยการต่อเติมกันสาดให้ยื่นออกมาเพิ่มร่มเงา ทิศที่เหมาะกับการติดกันสาดจะอยู่ทางทิศใต้ เนื่องจากแสงส่องมาจากมุมบน อย่างไรก็ตามกันสาดเป็นส่วนที่ต้องต่อเติมเพิ่มติดกับตัวบ้าน หากโครงสร้างที่เพิ่มขึ้นมามีน้ำหนักมากเกินไปอาจจะส่งผลต่อโครงสร้างบ้านได้ ควรเลือกเป็นงานโครงสร้างเหล็ก และใช้ร่วมกับหลังคาชนิดโพลีคาร์บอร์เนต หรือแผ่นเมทัลชีทที่มีน้ำหนักเบา

stay cool

4.เพิ่มฉนวนกันร้อนบนฝ้าเพดาน

การเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดกั้นและหน่วงความร้อนจากหลังคาลงสู่ตัวบ้านได้ดีขึ้น ทำได้ด้วยการติดตั้งฉนวนกันร้อนใต้หลังคา ข้อนี้จึงต้องให้ช่างรื้อกันหน่อยแต่ไม่มีผลกระทบกับโครงสร้างบ้านเดิม เพราะต้องเปิดช่องทาง service ขึ้นไปใส่ฉนวนกันร้อนบนฝ้าเพดาน กรณีที่บ้านมุงหลังคากระเบื้องจะเหมาะกับการติดตั้งฉนวนใยแก้วกันความร้อน หรือฉนวน STAY COOL หนา 6 นิ้ว ร่วมกับการใช้แผ่นฝ้าสมาร์ทบอร์ดซึ่งจะมีค่าการนำความร้อนต่ำ  ส่วนหลังคาเมทัลชีทสามารถเลือกใช้วิธีอื่น เช่น การพ่นฉนวนโพลียูรีเทนโฟม (PU) พ่นเคลือบบนหลังคาหรือใต้หลังคาก็ช่วยป้องกันการแผ่กระจายความร้อนจากหลังคาลงสู่ตัวบ้านได้เช่นกัน

ระแนงบังแสง

5.ติดตั้งระแนง facade บังแสงให้ผนังบ้าน

จากข้อที่ 3 ได้แนะนำการติดตั้งหลังคากันสาดหรือชายคาบังแดดเพิ่มเติมในฝั่งทิศใต้ เนื่องด้วยแสงแดดที่ส่องมาทางทิศใต้จะส่องจากมุมบน การติดตั้งกันสาดจึงเป็นเสมือนการกางร่ม สวมหมวกให้บ้าน ส่วนการติดตั้งระแนงหรือ facade จะมีหลักการที่แตกต่างออกไป เนื่องด้วยระแนงเป็นส่วนปกป้องแสงแดดจากด้านข้างหรือส่วนผนังบ้าน ซึ่งจะเกิดขึ้นสองด้าน คือทิศตะวันออกและทิศตะวันตก โดยสองทิศนี้พระอาทิตย์จะอยู่ในระดับต่ำจึงมีผลกับผนังบ้านมากเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะทิศตะวันตกที่ผ่านการสะสมความร้อนมาตลอดทั้งวัน จะให้อุณหภูมิแสงที่ร้อนเป็นพิเศษ หากฝั่งทิศตะวันตกมีหน้าต่างกระจก หรือบานเปิดช่องแสงใด ๆ จะส่งผลให้บ้านร้อนมากเป็นพิเศษ จึงเหมาะกับการแก้ปัญหาด้วยการติดระแนงบังแสงอย่างยิ่งครับ

ตำแหน่งทิศทางแดดลมส่วนใหญ่ของเมืองไทย

จะเห็นได้ว่าทั้งหมด 5 ข้อที่เรารวบรวมมานี้ เป็นกระบวนการที่จะช่วยปรับปรุงบ้านให้ความร้อนทุเลาลง เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ที่ทำได้ง่าย ๆ ไปจนถึงการใช้งานช่างที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยที่มีส่วนแตะต้องโครงสร้างของบ้านน้อยมาก ทำให้แทบไม่มีผลกระทบกับตัวบ้านให้กังวลใจ อย่างไรก็ตามการปรับปรุงบ้านให้ลดร้อนอย่างได้ผลดีอาจต้องทำร่วมกันหลาย ๆ วิธี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือแม้แต่วิธีการที่ทำได้เลยอย่างการปลูกไม้ยืนต้นให้กับบ้านฝั่งทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ก็สามารถปกป้องความร้อนจากแสงแดดได้เป็นอย่างดีครับ ก่อนตัดสินใจเพิ่มเติมอะไรตรงจุดไหนจึงควรหาข้อมูลทั้งเรื่องทิศทาง วัสดุ ราคา และคุณสมบัติให้ดีจนมั่นใจค่อยลงมือลงทุนครับ

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ความรู้ คู่บ้าน


โพสต์ล่าสุด