บ้านสไตล์พื้นถิ่นล้านนาประยุกต์
รากเหง้า เป็นหนึ่งแรงบันดาลใจสำคัญในสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ได้เช่นกัน เพราะในแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีที่มาและอัตลักษณ์เฉพาะที่ต่างกัน ในยุคสมัยที่ค่านิยมและแนวคิดใหม่ค่อยๆ กลืนกินวัฒนธรรมเก่า ๆ ให้เลือนจางลง ทำให้เกิด “สถาปัตยกรรมแบบเมือง” ที่ผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เราอาจได้เห็นบ้านคอนกรีตหนักแน่น หรือบ้านโมเดิร์นขาวสะอาดตา ตกแต่งเหมือนคาเฟ่ แต่ก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยังรู้สึกคิดถึงบ้านไม้สีเข้มๆ ที่ขัดพื้นจนมันวับ ได้กลิ่นควันจากครัวไฟลอยมาหอมๆ ที่ย้ำเตือนบรรยากาศความอบอุ่นได้อย่างน่าประหลาด จึงเกิดบ้านพื้นถิ่นประยุกต์เช่นบ้านหลังนี้ ที่บ่งบอกถึงรื่องราวความทรงจำในอดีตให้ยังกระจ่างชัด ในขณะที่มีฟังก์ชันใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน รวมทั้งมีการสอดแทรกองค์ประกอบในงานสถาปัตยกรรมจากแหล่งอื่นๆ ให้เดินทางสู่อนาคตไปพร้อมกัน
ออกแบบ : Housescape Design Lab
ภาพถ่าย : Rungkit Charoenwat
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
“ความตั้งใจแรกของเจ้าของบ้านและผู้ออกแบบคือการรื้อบ้านไม้หลังเก่าอายุ 60 ปี ออกไป และนำไม้ทั้งหมดของบ้านหลังเดิมกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบของบ้านชั้นเดียว ที่มีพื้นที่ใช้สอยสมัยใหม่มากกว่าหลังเดิม” สถาปนิกจาก Housescape Design Lab เล่าถึงที่มาที่ไปของการออกแบบบ้าน ที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศอบอุ่นของบ้านไม้สไตล์ท้องถิ่นประยุกต์ในตำบลท่าศาลา จังหวัดเชียงใหม่ โดยทีมงานพยายามใช้วัสดุที่แสดงความเรียบง่ายของสถาปัตยกรรมให้ได้มากที่สุด จึงให้ความสำคัญกับการใช้ไม้เป็นตัวละครหลักในการบอกเล่าเรื่องราว ในขณะเดียวกันก็ผสมผสานวัสดุอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่น คอนกรีตและเหล็กเพื่อเพิ่มความแข็งแรง
จุดเด่นของโครงการคือหลังคาหน้าจั่วขนาดใหญ่ ที่ออกแบบให้สอดคล้องสภาพอากาศร้อนและฝนตกหนักของประเทศไทย ชายคาที่ยื่นออกมายาวเป็นพิเศษครอบคลุมโครงสร้างทั้งหมด เกิดเป็นพื้นที่เฉลียงขนาดใหญ่ที่มีร่มเงาชวนให้นั่งเล่น พื้นที่เหล่านี้ยังทำหน้าที่เสมือน ‘ฮ้านน้ำ’ เป็นพื้นที่ต้อนรับส่วนหน้าของบ้านในภาคเหนือ ประกอบด้วยหม้อดินเผาสำหรับน้ำดื่มขนาดใหญ่ และที่นั่งสำหรับรับรองแขกที่แวะมานั่งพักและเยี่ยมเยือนที่ไม่ได้อยู่ในโซนส่วนตัวของบ้าน
ภายในเป็นที่อยู่อาศัยชั้นเดียวที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและองค์ประกอบการออกแบบที่ทันสมัยเข้าด้วยกันอย่างลงตัว โดยเลย์เอาต์ใหม่นี้ได้รับการออกแบบตามการเดินทางของแสงธรรมชาติ จึงได้สรุปออกมาเป็นบ้านรูปตัว L ล้อมสนามหญ้าสีเขียวขนาดใหญ่ รายล้อมไปด้วยช่องเปิดและช่องแสงเรียงราย ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่สะดวกสบายและมีแสงสว่างเพียงพอ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการประจำวันของผู้อยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากเฉลียงกว้างๆ เข้าสู่ตัวบ้านจะพบกับสิ่งที่น่าสนใจ คือ ผนังไม้เก่าตกแต่งช่องแสงที่เรียกว่า “ฝาไหล” เป็นภูมิปัญญาการทำช่องเปิดแบบล้านนา ซึ่งทำจากไม้สองชั้นตีเว้นช่องสลับกัน สามารถเลื่อนไปมาได้ เพื่อเน้นการระบายอากาศและการรับแสงจากภายนอกอาคาร หากเลื่อนมาซ้อนกันจะเป็นฝาผนังที่ปิดทึบ แต่ถ้าเลื่อนขยับฝาชั้นในก็จะทำให้เกิดช่องเปิดที่รับแสงรับลมได้ส่วนนี้เป็นของเดิมที่รื้อจากเรือนหลังเก่านำกลับมาใช้ใหม่ และยังคงกระบวนการเลื่อนแบบดั้งเดิมเอาไว้ สร้างเสน่ห์ให้กับบ้านไปอีกรูปแบบ
จากเฉลียงจะแยกด้านหนึ่งเป็นห้องครัว ที่มีประตูบานเลื่อนไม้ระแนงแฝงอารมณ์แบบญี่ปุ่นที่ยังให้บรรยากาศแบบครัวไฟในภาคเหนือ ซึ่งก็นิยมติดไม้ระแนงให้เกิดช่องว่างระบายกลิ่นและควันเช่นกัน การจัดวางโซนครัวเอาไว้แยกกับส่วนใช้งานสาธารณะอื่นๆ ในบ้าน เป็นเพราะในภาคเหนือ (รวมทั้งชาวไทยภาคอื่นๆ ) มักจะทำอาหารที่กลิ่นและรสเข้มข้น ฉุน เผ็ดร้อน ห้องครัวที่แยกออกมาอยู่ในตำแหน่งที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก และใช้วัสดุที่ง่ายสำหรับการระบายอากาศจะเอื้อต่อการใช้งานจริงได้ดีกว่า เพราะกลอ่นและควันไม่รบกวนพื้นที่ชีวิตอื่น ๆ แต่ก็ไม่ถูกตัดขาดแยกออกไปเหมือนบ้านโบราณ ทั้งนี้การตกแต่งภายในครัวและฟังก์ชันเป็นแบบโมเดิร์นในโทนสีขาวปนงานไม้
ลึกเข้าไปไปด้านในของส่วนนี้จะเป็นโต๊ะรับประทานอาหาร มุมนั่งเล่นพักผ่อน ที่มีสเปซโล่งกว้างรับแสงและลมได้อย่างเหมาะสม จากนั้นจะมีทางเดินแยกไปยังเรือนหน้ากระดานที่เป็นทางลึกยาวมีม่านมู่ลี่ไม้ติดยาวตลอดทาง
ส่วนด้านยาวของบ้าน มองจากภายนอกจะเห็นผนังเป็นไม้ มีประตูบานไม้ที่เต็มไปด้วยเส้นแนวนอน ดูตัดกับหลังคาเมทัลชีทที่เรียงตามลงมาในแนวตั้ง ที่ปลายหลังคาจะเห็นโซ่รางน้ำฝนที่ร้อยเรียงอยู่ สิ่งนี้ก็ไม่ใช่ของตกแต่งบ้านที่พบเห็นในบ้านแบบไทย ๆ แต่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของวัดหรือบ้านญี่ปุ่นโบราณ ซึ่งสถาปนิกจับมาใส่ลงในบ้านเพิ่มลูกเล่นที่บ่งบอกเป็นนัย ๆ ว่า ถึงจะมาจากต่างถิ่น ต่างยุคสมัย แต่ก็อยู่ร่วมกันได้
ในโซนนี้ของบ้านจะพบภาษาทางสถาปัตยกกกรรมที่เฉียบคมกว่า ทันสมัยกว่า ถึงจะใช้วัสดุหลัก ๆ ในโทนสีไม้ให้จุดร่วมที่เหมือนกันกับอีกด้านของบ้าน แต่การนำเสนออารมณ์ บรรยากาศ สัมผัส มีความแตกต่างที่รู้สึกได้
หน้าต่างเหล็กดัดกันขโมยลวดลายหม้อดอกไม้แบบนี้มีให้เห็นในบ้านยุคเก่า ๆ แม้บางคนอาาจจะคิดว่าเชย แต่ถ้าหยิบจับมาจัดวางอย่างมีจังหวะ ใส่องค์ประกอบรอบข้างให้สนับสนุนกัน ก็จะออกมามาเป็นส่วนประกอบของบ้านที่มีเสน่ห์ กลายเป็ฯหนึ่งซิกเนเจอร์ของบ้านที่ช่วยรื้อฟื้นความทรงจำให้ค่อย ๆ ย้อนกลับมาได้อย่างงดงาม
สภาพอากาศในภูมิภาคนี้ที่มีทั้งความร้อนรุนแรง และฝนกระหน่ำในช่วงฤดูมรสุมต่อเนื่องไปยังฤดูฝน ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงวัสดุต่างๆ ที่ใช้สร้างบ้านด้วย ไม่ว่าจะเป็นคอนกรีต ไม้ เหล็ก ที่จะค่อย ๆ แสดงสัญญาณของการแตก ร้าว เกิดสนิม ที่เป็นสัมผัสกับสภาพอากาศร้อนและชื้นโดยตรง ทำให้บ้านป่วยได้เช่นกัน การทำหลังคาจั่วจากเมทัลชีท Seamless Roof ที่ชายคากว้างแบบนี้ จึงเป็นความตั้งใจเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศพื้นถิ่นเหนือ ซึ่งได้ผลพลอยได้เป็นการลดโอกาสรั่วซึมตามรอยต่อ ช่วยควบคุมงบประมาณ และสร้างจุดเด่นให้บ้านไปพร้อม ๆ กัน