เมนู

5 แนวทางบ้านเย็น อยู่สบายอย่างยั่งยืน

ออกแบบบ้าน เย็นอย่างยั่งยืน

เข้าสู่เดือนมีนาคม เป็นเดือนแห่งการเริ่มต้นฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ และจะร้อนมากเป็นพิเศษในช่วงเดือนเมษายนที่กำลังจะถึงนี้ ส่วนเดือนพฤษภาคมและเดือนอื่น ๆ มีความร้อนระดับปานกลาง โดยเฉลี่ยแล้วประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนชื้นเกือบตลอดทั้งปี หัวใจสำคัญในการออกแบบบ้านที่ดี คือการออกแบบให้สอดรับกับสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้การอยู่อาศัยภายในบ้านเกิด “สภาวะน่าอยู่” ในเนื้อหาชุดนี้ บ้านไอเดียพาคุณผู้อ่านไปเรียนรู้แนวทางออกแบบบ้านเย็น ที่จะช่วยให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของสมาชิกในครอบครัว สุขสบายตลอดทั้งปีครับ

ผู้เขียน : บ้านไอเดีย

บ้านนนนิภา เชียงใหม่ แม่โจ้

ภาพประกอบ : บ้านนนนิภา

ค้นหาสาเหตุ ปรับบ้านเย็นสบาย

สาเหตุหลักที่ทำให้บ้านร้อน คือ ความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่สาดส่องลงสู่หลังคาและผนังบ้าน เมื่อหลังคาได้รับความร้อนเป็นระยะเวลานาน ความร้อนดังกล่าวจึงถูกส่งต่อไปยังภายในบ้าน และนอกจากตัวบ้านแล้ว ความร้อนยังเกิดขึ้นจากแสงอาทิตย์สาดส่องลงพื้นบริเวณรอบบ้าน โดยเฉพาะบ้านไหนที่เทพื้นคอนกรีตซึ่งมีคุณสมบัติอมความร้อน ก็จะสะสมความร้อนไว้ตลอดทั้งวันและถ่ายเทความร้อนออกหลังจากพระอาทิตย์ตกดิน บ้านจึงร้อนอบอ้าวมากยิ่งขึ้นในช่วงเวลา 6 โมงเย็น ถึง 2 ทุ่มโดยประมาณ

1. จุดสำคัญเริ่มที่หลังคาบ้าน

อาจเรียกได้ว่าเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพราะสาเหตุหลัก ๆ ของความร้อนภายในตัวบ้าน เกิดจากแสงอาทิตย์สาดส่องลงสู่หลังคาบ้าน หลังคาจึงเปรียบเสมือนด่านแรกและเป็นด่านที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน โดยหลังคาที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่เขตร้อนอย่างประเทศไทย มีคุณสมบัติดังนี้

หลังคาบ้านที่ทำมุมตั้งแต่ 25-40 องศาโดยประมาณ จะช่วยบดบังความร้อนจากแสงแดดได้ เช่น ช่วงบ่ายแสงแดดสาดส่องทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หลังคาด้านดังกล่าวจะช่วยบังแสงให้กับบ้านทางทิศตะวันออกและทิศเหนือโดยอัตโนมัติ แตกต่างจากหลังคาที่มีองศาต่ำ ที่จะรับแสงแดดอย่างทั่วถึงตลอดทั้งวัน ทรงหลังคาที่มีคุณสมบัติดังกล่าวเป็นลักษณะของหลังคาทรงจั่ว หลังคาทรงมะนิลา และหลังคาทรงปั้นหยา

  • มีโถงหลังคาสูง พร้อมช่องระบายอากาศ

ตามหลักธรรมชาติ มวลอากาศร้อนจะลอยตัวสู่ที่สูงเสมอ การมีโถงหลังคาสูงจึงช่วยเพิ่มพื้นที่ป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์เข้าสู่ตัวบ้าน โดยเฉพาะโถงหลังคาที่มีช่องระบายอากาศ มีช่องลมเข้า-ช่องลมออก ความร้อนที่สะสมใต้หลังคาจะถูกถ่ายเทออก เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดความร้อนเข้าสู่ภายในบ้าน

nonnipa-chiangmai

ช่องระบายอากาศใต้โถงหลังคา

  • เพิ่มฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา

แม้จะออกแบบหลังคาให้สูงโปร่งแล้ว เพื่อให้การกันความร้อนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ควรติดตั้งฉนวนกันความร้อนใต้หลังคาด้วย เพื่อเป็นเกราะป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้อีกชั้น

  • ฝ้าชายคาระบายอากาศ

ส่วนประกอบสุดท้ายของหลังคาบ้าน ที่ช่วยระบายความร้อนได้ดี คือ ส่วนของฝ้าชายคา โดยปกตินิยมทำเป็นแผ่นเรียบแบบเดียวกับฝ้าเพดาน แต่ปัจจุบันมีฝ้าชายคาแบบฉลุร่องระบายอากาศ เป็นตัวช่วยให้ความร้อนที่สะสมอยู่ที่ใต้โถงหลังคา ถูกระบายออกทางฝ้าชายคาได้ครับ

สระว่ายน้ำ ชมวิว

ภาพประกอบ : รีวิวบ้านคุณเรียม

2. ผนังบ้านกันร้อน บ้านเย็นจากด้านข้าง

ช่องทางต่อมาที่ได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์ คือ ผนังบ้าน การเลือกวัสดุก่อผนังที่ดีควรมีคุณสมบัติเป็นฉนวนป้องกันความร้อน ผู้เขียนเคยเรียนคอร์สบ้านดินร่วมกับ อ.โจน จันได ได้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนว่า ผนังบ้านดินเย็นกว่าผนังประเภทอื่น ๆ มาก แต่สำหรับการก่อสร้างบ้านในเมืองหรือพื้นที่ ที่มีฝนตกชุก อาจไม่เอื้อต่อการสร้างบ้านดิน วัสดุผนังที่ได้รับความนิยมสูงในยุคปัจจุบันจึงเป็นผนังอิฐมวลเบาและผนังอิฐมอญ

ตำแหน่งผนังที่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ ผนังด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ เนื่องจากโดยเฉลี่ยแล้ว ทั้ง 2 ทิศนี้จะได้รับแสงแดดจากดวงอาทิตย์เกือบตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงเที่ยงถึงบ่ายแก่ ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่มีรังสีความร้อนสูงกว่าเวลาอื่น ๆ ในทิศดังกล่าวนี้จึงควรเลือกอิฐที่สามารถกันความร้อนได้ หากผู้ใช้เลือกอิฐมวลเบา ให้เลือกอิฐมวลเบาที่มีความหนา 20 ซ.ม. หรือหากเลือกก่อผนังด้วยอิฐมอญในทิศดังกล่าว ควรก่อผนัง 2 ชั้น โดยระหว่างชั้นของอิฐให้เว้นระยะห่างประมาณ 5 ซ.ม. และมีช่องลมเข้าด้านใต้ และช่องลมออกด้านบนผนัง

3. มีช่องลมเข้า ช่องลมออก

อีกหนึ่งหลักการสำคัญตามหลักธรรมชาติ ที่จะช่วยขับลมร้อนที่สะสมออกสู่นอกบ้าน ช่วยให้อากาศหมุนเวียนเปลี่ยนใหม่ คือ ช่องระบายอากาศ โดยหลักการของช่องระบายอากาศที่สมบูรณ์ จำเป็นต้องมีช่องลมเข้าและช่องลมออกเสมอ หากมีช่องลมใดเพียงช่องเดียว ประสิทธิภาพในการระบายอากาศจะลดลงไปอย่างมาก และไม่มีลมพัดผ่านเข้ามา

ช่องระบายอากาศเกิดขึ้นได้หลายทาง ช่องใหญ่และมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ หน้าต่าง โดยออกแบบให้แต่ละห้องมีช่องหน้าต่าง 2 ด้านขึ้นไป ในกรณีห้องกลางซึ่งติดผนังเพียงด้านเดียว ให้ออกแบบช่องระบายอากาศผนังด้านในบ้านเพิ่มเติม จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดึงลมเข้าสู่ภายในบ้านได้

ชุดโต๊ะ รับประทานอาหาร

ภาพประกอบ : รีวิวบ้านคุณเรียม

หากผู้อ่านกลับบ้านช่วงเย็นหลังเลิกงาน เมื่อเข้าบ้านมาแล้วรู้สึกอบอ้าว ก่อนเปิดแอร์ แนะนำให้เปิดหน้าต่างทิ้งไว้ก่อน จะเป็นการถ่ายเทความร้อนที่สะสมออกจากตัวบ้าน ช่วยให้บ้านเย็นขึ้นไวและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศครับ

4. ลดร้อนรอบบ้าน

นอกจากภายในบ้านแล้ว พื้นที่รอบบ้านเป็นอีกส่วนที่ก่อให้เกิดการสะสมความร้อนได้ โดยเฉพาะพื้นที่ในฝั่งทิศใต้และทิศตะวันตก ควรหลีกเลี่ยงการปูพื้นด้วยงานคอนกรีต เนื่องจากคอนกรีตมีคุณสมบัติอมความร้อน ความร้อนจากแสงอาทิตย์จะค่อยๆ สะสมเพิ่มตลอดทั้งวัน และคายตัวหลังจากพระอาทิตย์ตกดิน ส่งผลให้บ้านร้อนอบอ้าว ผู้อยู่อาศัยรู้สึกไม่สบายตัว

ทางเดิน ร่องหญ้า

พื้นคอนกรีตสลับลายกับแนวหญ้า

บริเวณรอบบ้านจึงควรปูพื้นด้วยหญ้าหรือไม้คลุมดิน จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้หน้าดิน แต่หากต้องการทำทางเดินเพื่อป้องกันพื้นเปียกแฉะ แนะนำให้เลือกปูพื้นด้วยบล็อกคอนกรีตที่มีช่องว่างสำหรับปลูกหญ้าได้ หรือหากพื้นที่ใดจำเป็นต้องใช้คอนกรีตต่อเนื่อง ให้เลือกเฉพาะส่วนที่สำคัญ เพื่อลดการสะสมความร้อนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

5. พื้นในบ้าน กักเก็บความเย็น

หัวข้อที่ผ่านมาได้พูดถึงแนวทางป้องกันความร้อนและการระบายความร้อนออกสู่ตัวบ้านกันแล้ว ปิดท้ายเรื่องบ้านเย็นอย่างยั่งยืนด้วยการกักความเย็นให้กับบ้าน จากข้อ 2 ผู้เขียนได้แนะนำผนังบ้านดิน ที่ช่วยให้บ้านเย็นสบายกว่าวัสดุอื่น ๆ ตรงจุดนี้เองเรายังสามารถนำประโยชน์ของพื้นดินมาช่วยในการออกแบบบ้านได้

โดยปกติใต้พื้นดินที่มีความลึกประมาณ 1.1 เมตร จากพื้นผิวหน้าดิน จะมีอุณหภูมิคงที่ประมาณ 28-29 องศา และยิ่งลึกลงไปอุณหภูมิก็จะยิ่งต่ำลงตามลำดับ ปัจจุบันในต่างประเทศรวมทั้งบ้านหรูในประเทศไทย นิยมออกแบบห้องใต้ดินไว้เป็นห้องพักผ่อน โดยห้องดังกล่าวมีอุณหภูมิที่คงที่ แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่สูง เพราะต้องมีระบบป้องกันน้ำและความชื้น สำหรับบ้านทั่วไป หากไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมขัง การออกแบบพื้นบ้านชั้นล่างให้เรียบติดดิน จะช่วยกักเก็บความเย็นได้ดีกว่าบ้านยกพื้นสูง เหมาะใช้เป็นห้องนั่งเล่น ห้องพักผ่อนในยามกลางวัน

Nonnipa-Maejo-Review-34

พื้นหินอ่อน ให้สัมผัสเย็นสบายเท้า

ด้านวัสดุปูพื้นที่ช่วยกักเก็บความเย็นได้ดี เป็นวัสดุจากธรรมชาติ ทั้งกระเบื้องดินเผา กระเบื้องเซรามิก กระเบื้องพอร์ซเลน หรือหากต้องการเย็นเป็นพิเศษ แนะนำเป็นพื้นหินแกรนิตและหินอ่อน จะช่วยกักเก็บความเย็นได้ดีกว่าวัสดุอื่นๆ แต่จะมีราคาที่สูง แนะนำให้เลือกแผ่นหินที่มีขนาดเล็ก จะมีราคาที่ถูกลงครับ

ทั้ง 5 ข้อนี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบบ้านเย็น แต่บ้านเย็นจะสมบูรณ์ไม่ได้เลย หากขาดต้นไม้ “ต้นไม้ยังเป็นเพื่อนแท้สำหรับบ้านเย็นเสมอ” โดยเฉพาะไม้ยืนต้นที่ให้ร่มเงา ไม้คลุมดินที่ช่วยป้องกันความร้อน ให้พื้นที่รอบๆ บ้านเกิดความชุ่มฉ่ำตลอดทั้งวัน นอกจากต้นไม้จะช่วยเรื่องความเย็นด้านอุณหภูมิได้มากแล้ว ต้นไม้ยังช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสัมผัสได้ถึงความเย็นตา เย็นใจ สุขสบายอย่างยั่งยืนครับ http://credit-n.ru/offers-zaim/otlnal-microzaimi.html http://www.tb-credit.ru/microzaim.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด Advertise


โพสต์ล่าสุด