บ้านทรอปิคอล
บ้านที่ชื่อ ‘INARA’ หลังนี้ตั้งอยู่ในเขต Kottayam ของ Kerala ประเทศอินเดีย เป็นที่พักแบบครอบครัวเดี่ยวที่สร้างขึ้น เพื่อทำให้นึกถึงความเงียบสงบผ่านสถาปัตยกรรม ตอบโจทย์จากเจ้าของต้องการให้ CLAY COOP Architects สร้างที่พักแบบเรียบง่ายมีกลิ่นอายชนบท ที่เต็มไปด้วยแสงธรรมชาติและอากาศถ่ายเทภายใน โดยที่ยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวไว้ การออกแบบยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการผสมผสานอย่างลงตัวกับกลางแจ้งเพื่อเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้ใช้ไปพร้อมกัน
ออกแบบ : CLAY COOP Architects
ภาพถ่าย : Turtle Arts Photography
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
สิ่งที่นักออกแบบให้ความสำคัญอันดับแรก คือ บ้านต้องสอดคล้องกับความต้องการใช้งาน และต้องอยู่สบายในทุก ๆ ฤดูกาล ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อสภาพอากาศร้อนชื้นของพื้นที่นี้ รูปแบบบ้านจึงได้รับการพัฒนาโดยผสมผสานสถาปัตยกรรม Kerala เข้ากับรูปลักษณ์ร่วมสมัยสมัยใหม่ ตัวบ้านถูกร่นไปอยู่ที่ปลายสุดของไซต์ หน้าบ้านหันไปทางทิศตะวันออกอย่างจงใจเพื่อให้ได้ทัศนียภาพในการมองเห็นสูงสุด ด้านหน้าอาคารมีหลังคาลาดเอียงซ้อนเหลื่อมกันอยู่ 2 ชั้น มองจากด้านข้างจะเห็นผนังเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีผิวคอนกรีตเปลือยมี Texture ขรุขระ ชวนให้นึกถึงสถาปัตยกรรม Kerala แบบดั้งเดิม
หน้าบ้านจะมีเฉลียงกว้างๆ ที่ยกสูงขึ้นสูงลานบ้านประมาณเมตรกว่าๆ ซึ่งจะทำให้เวลาออกมานั่งพักผ่อนรับบรรยากาศ ชมวิวสวนและบ่อปลาหน้าบ้าน จะได้เห็นภูมิทัศน์ที่สูง กว้าง และไกลขึ้น ตรงจุดนี้จะมีหลังคาที่ทำจากโครงสร้างเหล็กกรุทับด้วยกระเบื้องดินเผาพื้นถิ่น ความลาดเอียงทำให้บังแสงแดดที่รุนแรง ระบายน้ำฝนทำได้ดี
ช่องเปิดมุมมนขนาดใหญ่ด้านข้างช่วยเพิ่มพื้นที่รับแสง รับลม จึงเย็นสบายชวนให้ออกมานั่งเล่นได้บ่อยๆ และยังสามารถสังเกตเห็นความเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานหน้าบ้านได้จากหลายมุมมอง
เดินผ่านเฉลียงเข้ามาในบ้าน จะต้อนรับด้วยกรอบประตูหน้าต่างโทนสีฟ้าสดใส ส่วนภายในสถาปนิกใช้โทนสีที่สื่อถึงธรรมชาติ โดยการผสมผสานระหว่างหิน Kota คอนกรีตเปลือย และดินเผาเป็นโทนสีหลัก ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศที่น่ารื่นรมย์ สร้างผลกระทบโดยรวมของโครงการคือความรู้สึกเงียบสงบ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการใช้แสงธรรมชาติ วัสดุสีเอิร์ธโทน สีธรรมชาติ ที่สื่อสารอย่างลงตัวของสภาพแวดล้อมเขตร้อน
การวางผังพื้นที่เป็นไปตามแนวคิดแบบเปิด (Open plan) โดยมีห้องต้อนรับแขกด้านหน้า จากนั้นจะมีทางเดินตรงกลางเชื่อมพื้นที่ต่างๆ ภายในบ้าน มาจนถึงผนังสีเหลืองมัสตาร์ดที่เป็นตัวกั้นพื้นที่ใช้งานส่วนตัวเอาไว้ภายใน แต่ไม่ได้ก่อผนังปิดหมด เพราะเหลือพื้นที่ว่างข้างๆ จัดเป็นคอร์ยาร์ดเล็ก ๆ ในบ้านที่เดินเข้าไปโซนสาธารณะของบ้านได้
หากเดินมาหลังผนังสีเหลืองจะเห็นว่า มีผนังอีกด้านเป็นสีฟ้าตัดกัน ตรงกลางมีบันไดเหล็กแผ่นมีลายที่พาขึ้นไปสู่ชั้นสอง ตัวบันไดนี้ทำหน้าที่แยกพื้นที่นั่งเล่นที่เป็นทางการ (หน้าผนังสีเหลือง) และพื้นที่แบบไม่เป็นทางการ (หลังผนังสีฟ้า) ออกจากกัน เป็นองค์ประกอบแบบมินิมอล เพื่อรักษาความโปร่งในการออกแบบ
โซนเคลื่อนไหวใช้ชีวิตหลังผนังสีฟ้าจะเป็นโถงสูง (Double Space)โล่งกว้างยาวต่อเนื่องกัน ประกอบไปด้วยห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ครัว และคอร์ทยาร์ดแบบไม่มีผนังกั้น และมีห้องนอน 3 ห้องในชั้นนี้ด้วย ซึ่งนักออกแบบจัดตำแหน่งสามารถมองเห็นลานภายในที่จัดต้นไม้เขียวๆ ไว้ใกล้ๆ กับพื้นที่กิจกรรมหลักของครอบครัว สร้างประสบการณ์การรับชมที่ผ่อนคลายสำหรับผู้ใช้โดยที่ไม่ต้องออกไปนอกบ้าน
พื้นที่สีเขียวไม่ได้มีเฉพาะหน้าบ้าน หรือภายในตรง living area เท่านั้น บนชั้นลอยเหนือพื้นที่หลักของบ้านก็เต็มไปด้วยไม้เลื้อยปกคลุมห้อยย้อยลงมายาวๆ สร้างภาพที่เชื่อมต่อบรรยากาศพื้นที่กลางแจ้งไปยังทุกจุดที่ใช้ชีวิตของครอบครัว นอกจากบริเวณบ้านจะสว่างไสวด้วยหน้าต่างบานใหญ่รอบด้านแล้ว ยังมีช่องแสง Skylight ที่จัดวางอย่างมีกลยุทธ์ ทำให้เกิดความประทับใจกับไดนามิกของบ้าน ซึ่งสร้างการแสดงแสงและเงาที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ไม่ได้ทำให้บ้านร้อนจนอยู่ไม่สบาย
ตรงชั้นลอยเป็นพื้นที่อ่านหนังสือ ด้านหนึ่งของผนังที่หันออกมานอกบ้านเรียงด้วยอิฐจาลี (อิฐช่องลม) ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวในการมองเห็นภายในบ้าน ขณะเดียวกันก็เปิดให้เกิดการระบายความร้อนแบบพาสซีฟ และยังรับแสงเข้ามาสร้างเอฟเฟกต์ของแสงที่สวยงามในบ้านได้
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : ในบ้านเขตร้อนชื้น แม้จะเป็นโซนที่แสงแดดค่อนข้างรุนแรงตลอดทั้งปีจนต้องเลี่ยงพื้นที่รับแสง แต่ในชีวิตประจำวันบ้านยังต้องการแสงสว่างที่พอเพียง เพื่อการมองเห็น การลดความชื้น และการฆ่าเชื้อโรค ดังนั้นการปิดบ้านให้ทึบเพื่อเลี่ยงแสงจึงไม่ได้สิ่งที่ถูกต้อง สถาปนิกแนะนำวิธีการที่เหมาะสมคือการเลือกจังหวะการเปิดรับแสงที่พอดี เช่น การใส่ผนังกระจกในทิศตะวันออก ทิศเหนือที่แสงไม่ได้ส่องรุนแรงตลอดทั้งวัน การใส่ฟาซาดโปร่งสลับทึบในด้านที่แสงส่องลงมาตรงๆ ช่วยลดทอนความรุนแรงของแสงแต่ยังมีความสว่างและรับลมระบายอากาศได้ดี เป็นต้น |
แปลนบ้าน