บ้านไม้พื้นถิ่นประยุกต์
หากญี่ปุ่นมีสถาปนิก Tsuyoshi Tane ที่เชื่อว่าความทรงจำไม่ได้เป็นของอดีต แต่กลับเป็นพื้นฐานในการสร้างสถาปัตยกรรมแห่งอนาคต แล้วนำแนวคิดนี้มาลองเปลี่ยนรูปแบบบ้านดั้งเดิมให้เป็นสถาปัตยกรรมประยุกต์ในรูปแบบของตัวเอง ในเมืองไทยบ้านเราก็มีกลุ่มสถาปนิกอย่าง “ยางนาสตูดิโอ” ที่ไม่ลืมว่าปัจจุบันเป็นผลมาจากอดีตเสมอ ผลงานออกแบบที่พักอาศัยที่ผ่านฝีมือทุกโปรเจ็ค จึงพยายามถนอมร่องรอยของกาลเวลาและความงดงามจากอดีต นำมาปรับเป็นบ้านแบบพื้นถิ่นประยุกต์ ให้ภูมิปัญญาดั้งเดิมยังมีพื้นที่ให้อยู่ได้ในสังคมสมัยใหม่ได้อย่างสง่างาม
ออกแบบ : Yang Nar Studio
ภาพถ่าย : Rungkit Charoenwat
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
บ้านอิงสุข เป็นอีกหนึ่งผลงานออกแบบที่ชวนให้ประทับใจของ Yangnar Studio ตัวบ้านไม้ชั้นเดียวนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าหุบเขาอันเงียบสงบในเชียงใหม่ บริเวณทางเข้าอุทยานแห่งชาติออบขาน ด้วยลักษณะเรือนไม้สร้างง่าย ๆ ยกสูงเหนือพื้นดินเล็กน้อย มีช่องว่างกลางบ้านมากมาย ชวนให้นึกถึง ‘ขนำ’ หรือเพิงพักที่สร้างไว้ในทุ่งนา ในสวน แบบดั้งเดิมของชาวสวนภาคใต้ของประเทศไทย ในเวอร์ชั่นที่ดีกว่าด้วยรายละเอียดงานฝีมือจากสล่าที่สุดพิถีพิถัน
สำหรับแนวคิดในการออกแบบ สถาปนิกออกแบบเชิงทดลองใส่ไอเดียใหม่ๆ ที่พอจะเป็นไปได้ ท่ามกลางข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทีมงานจึงแก้ไขโดยนำวัสดุในท้องถิ่นและไม้เก่าที่หาได้ง่ายๆ มาดัดแปลงประกอบเข้าด้วยกัน จนเป็นเรือนไม้หน้ากระดานเรียงยาว มีชานและทางเดินทอดตามแนวยาวของเรือน ซึ่งชานบ้าน (เติ๋น ในภาษาเหนือ) ทำหน้าที่เป็นพื้นที่นั่งพักผ่อน อีกทั้งยังเชื่อมพื้นที่เป็นองค์ประกอบเชื่อมต่อระหว่างส่วนต่างๆ ของบ้าน อาทิ ห้องน้ำ ครัว เข้าด้วยกัน โดยมีบันไดทางขึ้นทั้งสองด้านสามารถเลือกขึ้นได้ตามสะดวก
ทีมออกแบบอธิบายถึงการทำพื้นที่กึ่งเปิดโล่งทางทิศเหนือ ที่เรียกว่า “เติ๋น” นี้ว่าเป็น “พื้นที่ยกระดับสร้างขึ้นเพื่อทำกิจกรรมหน้าห้องพักหลัก ซึ่งแยกออกจากห้องพักรอง สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามอเนกประสงค์ มีเตาไฟเป็นพื้นที่ใจกลางบ้านสำหรับล้อมวงทำอาหารทาน พูดคุยกันรอบเตาไฟ เป็นกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัย”
ด้วยแนวคิดที่ต้องการทดลองสิ่งใหม่ๆ อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ทีมงานลองรักษาแก่นธรรมชาติของไม้ โดยหลีกเลี่ยงการเคลือบด้วยสารเคมี เน้นให้เห็นความสวยงามแบบดิบๆ ที่ทีมงานตั้งใจ “ละ การทาเคลือบปิดผิวไม้ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนไปตามธรรมชาติของวัสดุและคงผิวสัมผัสเดิมไว้” ในขณะที่องค์ประกอบรีไซเคิลที่รวบรวมจากร้านขายวัสดุก็ถูกรวมเข้ากับการออกแบบอย่างลงตัว ตั้งแต่หลังคา ประตูหน้าต่าง ลงมาถึงบันได จุดที่สะดุดตาอยู่ที่บันได ซึ่งสถาปนิกได้ดัดแปลงเสาไม้เก่าจากบ้านในเขตเวียดนามมารวมเข้ากับขั้นบันไดหิน แต่ละก้าวที่เดินขึ้นจะได้เห็นกะพี้ แก่นไม้ และรอยมีดรอยมุย (มุย=ขวาน ภ.เหนือ) ที่ค่อยๆ บากลงไปจนออกมาเป็นรูปร่างบันไดอย่างที่ต้องการ
บันไดทางขึ้นหลักทำหน้าที่แบ่งห้องพักทั้งสองด้านออกจากกัน ระหว่างแต่ละห้องจะสร้างช่องว่างเพื่อความเป็นส่วนตัว และยังทำหน้าที่เป็นอุโมงค์ลม (Breezeway ) จากทิศใต้-เหนือ คล้าย ๆ กับที่มักจะมีบ้านแบบโรงนาแถบตะวันตก โดยมีชานทางเดินไม้นำไปยังด้านหนึ่งของบ้านที่เป็นห้องพัก ซึ่งจะอยู่ติดกับเติ๋นและหันหน้าเข้าหาเตาไฟ
ส่วนอีกด้านจะนำทางไปเรือนที่เป็นห้องน้ำเเละตู้เก็บเสื้อผ้า พื้นที่เตรียมอาหารที่ทำผนังจากไม้ขัดแตะโปร่งๆ ให้ระบายอากาศระบายกลิ่นควันได้ดี แถมยังมีมุมชาชากาแฟเล็ก ๆ สำหรับต้อนรับคอกาแฟยามเช้าด้วย บริเวณอ่างล้างมือเท่ๆ ด้วยการติดตั้งกระจกกลมๆ บนบานไม้ ใช้อุกณณ์ฟิตติ้งสีดำ ทำให้บรรยากาศผสมกันระหว่างความบ้านๆ และความรู้สึกทันสมัยที่จับมือไปด้วยกัน
ในทุก ๆ วันที่นี่ ตื่นเช้ามาจะได้ยินเสียงสายลม ต้นไม้ไหว ไก่ขัน นกร้อง ปลุกให้ตื่นขึ้นมารับความสดชื่น ในช่วงฤดูหนาวยิ่งชวนประทับใจมากขึ้นกับอากาศเย็นสบาย หอมกลิ่นควันไฟที่ลานบ้านจี่ข้าวหลามจากลานกลางบ้าน นั่งห้อยขาที่เรือนชานไม้รอข้าวงาย (อาหารเช้า) เสร็จ ระหว่างนั้นก็สบายตาสบายใจไปกับความเรียบง่ายของธรรมชาติ และบ้านที่เรียงร้อยจากวัสดุธรรมดาที่ห่อล้อมรอบตัว ทำให้ทุกวันที่นี่เต็มไปด้วย moment ที่แสนพิเศษ
แปลนบ้าน