
ตกแต่งบ้านสไตล์ญี่ปุ่น
ในยุคนี้เราจะได้ยินคำว่าอาหารฟิวชัน (Fusion Food) กันบ่อย ๆ ซึ่งเป็นการปะทะสังสรรค์กันทางอารยธรรมของอาหารตั้งแต่ 2 ชาติขึ้นไป ซึ่งเมื่อนำมาผสานคลุกเคล้าให้เข้ากันและนำเสนอออกมาในรูปแบบใหม่ ๆ ก็จะทำให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลองรสชาติที่แตกต่างออกไป บ้านเองก็มีสไตล์แบบฟิวชันเช่นกัน เพราะบางครั้งความชอบของคนเราทะลุออกนอกกรอบเดิม ๆ จนอยากจะลองจับสิ่งนั้นมารวมเข้ากับสิ่งนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ๆ คือ บ้านหลังนี้ที่เจ้าของนิยมชมชอบความสงบเงียบเรียบง่ายและสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่นที่อ่อนโยน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจลืมความเท่ ดิบ กระด้าง ของคอนกรีต จึงออกมาเป็นบ้านญี่ปุ่นที่มีทั้งความนิ่มนวลและทันสมัย
ออกแบบ : Dyle interior design
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านไต้หวันอารมณ์ญี่ปุ่น
ประสบการณ์การเดินเล่นใน Daikanyama โตเกียวเป็นความทรงจำที่สวยงามที่เจ้าของคู่นี้ยังจำได้ พวกเขาจึงหวังที่จะปลูกถ่ายองค์ประกอบของญี่ปุ่นในบ้านหลังใหม่ของเขา และสร้างบรรยากาศที่ดูน่านั่งเหมือนร้านหนังสือ Takuya นอกจากนี้เขายังตั้งตารอที่จะเห็นสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบของเรียวกังอยู่ในบ้านด้วย ซึ่งการออกแบบภายในของ Dyle ก็ตอบทุกโจทย์ที่ต้องการได้เป็นอย่างดี
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
“เราใช้วัสดุง่ายๆเพื่อสร้างความรู้สึกใหม่ ๆ ” แนวคิดนี้คือที่มาของการเลือกใช้งานไม้จริงแบบญี่ปุ่น เข้ากับพื้นกระเบื้องลายไม้ ผสมผสานกับคอนกรีตโชว์กริดไลน์และกระจก สำหรับ Zhu Zhifeng ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมฝ่ายออกแบบมีความเห็นว่าคนสมัยใหม่มักจะยุ่งและเครียด นอกเหนือจากการแสวงหาความตื่นเต้นในพื้นที่เชิงพาณิชย์แล้ว ผู้อยู่อาศัยควรจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่เมื่อพวกเขากลับบ้านให้ที่นี่กลายเป็นสถานที่สำหรับเติมพลังในทุก ๆ วัน
ใส่วัฒนธรรมญี่ปุ่นในความโมเดิร์น
บ้านที่ผสมผสานจิตวิญญาณของญี่ปุ่นเข้ากับวัฒนธรรมไต้หวัน โดยประยุกต์ใช้องค์ประกอบสถาปัตยกรรมสไตล์ญี่ปุ่นในการสร้างเป็นบ้าน อาทิ ประตูโชจิ การยกพื้นต่างระดับ ตู้หนังสือบิลท์อินเต็มเพดาน ห้องชงน้ำชา ของตกแต่งแบบญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นเบาะนั่ง โต๊ะญี่ปุ่นเตี้ย ๆ ไปจนถึงต้นไผ่ที่ตกแต่งในสวน รวมถึงพัฒนาความเป็นไปได้เชิงพื้นที่ที่หลากหลาย เมื่อเปิดประตูสู่บ้านก็ได้ดื่มด่ำกับสุนทรียศาสตร์แบบญี่ปุ่นแบบใหม่ในทันที
บ้านสองชั้นทำเป็นโถงสูง เพื่อให้การระบายอากาศทำให้ดี สร้างความรู้สึกโล่ง และกระจายแสงได้ รอบ ๆ ช่องว่างนี้ยังใช้ประโยชน์เป็นห้องและมุมอ่านหนังสือที่นั่งห้อยขาลงมาคุยเล่นกับคนข้างล่างได้ ซึ่งสิ่งนี้จะต่างจากบ้านในญี่ปุ่นดั้งเดิมทั่วไป
ประตูแบบโชจิหรือ ประตูบานเลื่อนกรอบไม้ที่แบ่งเป็นช่อง ๆ แล้วกรุด้วยกระดาษสีขาว (กระดาษโชจิหรือกระดาษสา) มีข้อดีคือป้องกันห้องเสื่อไม่ให้โดนแสงแดดมากเกินไป ในขณะที่ยังรพอรับแสงได้จึงไม่ทำให้ห้องมืดค่ะ เป็นภูมิปัญญาของชาวญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคสมัยเฮอันที่ปรับใช้ได้กับบ้านยุคนี้ เพียงแต่วัสดุกระดาษไม่ทนทานต้องซ่อมแซมบ่อย ๆ ปัจจุบันจึงเปลี่ยนมาใช้วัสดุโปร่งแสงสีขาวขุ่น ๆ แทน ซึ่งก็ได้อารมณ์ใกล้เคียงกัน
อยากได้บ้านอารมณ์ห้องสมุดนักออกแบบก็จัดเต็มให้ที่ผนังบ้านสูงสองชั้นบิลท์อินเป็นช่องๆ เอาไว้ใส่หนังสือ ของโชว์ ชั้นล่างมีพื้นที่นั่งเล่นชมสวนวางโต๊ะญี่ปุ่นและเบาะนั่ง ในเวลาว่าง ๆ ก็หยิบหนังสืเล่มโปรดมานั่งอ่านพร้อมชมธรรมชาติที่นี่ บรรยากาศเหมือนอยู่ในญี่ปุ่นแบบที่หลงไหลจริงๆ ถ้าใครชื่นชอบก็เก็บไว้เป็นไอเดียแต่งบ้านได้
อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมญี่ปุ่นคือ เสื่อทาทามิที่จะเป็นตัวกำหนดขนาดของห้องด้วย เราจะพบจุดที่ปูเสื่อมากที่สุดในโซนนั่งเล่นและห้องชงชา ห้องชงชาใช้สำหรับประกอบพิธีชงชา (เรียกว่า Chanoyu, Sado) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมในการต้อนรับเมื่อมีแขกสำคัญ โดยมากภายในห้องจะตกแต่งด้วยรูปแขวน และแจกันจัดดอกไม้สวย ๆ หรือคำคมดี ๆ อย่างละ 1 ชิ้น ในห้องแขกที่มาร่วมพิธีจะมีช่องเล็ก ๆให้ทุกคนก้มตัวหรือคลานเข่าเข้ามา เพื่อแสดงความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ ขจัดตัวตนออกไป จริงๆ แล้วหัวใจสำคัญคือแนวคิด ความงามในความเรียบง่ายและความสงบ ซึ่งทุกครั้งที่มองเข้ามาจะสัมผัสได้ถึงสิ่งที่ต้องการสื่อในทันที
แปลนบ้าน