ต่อเติมบ้านลาดเอียงตามพื้นที่
Cascade House ตั้งอยู่ในใจกลางแพดดิงตัน ประเทศออสเตรเลีย เป็นบ้านบนพื้นที่เนินลาดเอียง ที่สร้างมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1900 โดยสถาปนิก John Ellway เมื่อถึงเวลาที่เจ้าของรู้สึกว่าอยากปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ทันสมัย เพิ่มพื้นที่กิจกรรมการใช้ชีวิตในร่มและกลางแจ้ง ให้ลูกๆ สามคนได้ใช้เวลาด้วยกันอย่างสนุกสนาน โดยไม่สูญเสียเสน่ห์ทางประวัติศาสตร์ สถาปนิกคนเดิมที่รู้จักบ้านนี้ดีที่สุด โดยใช้สภาพความลาดเอียงของบ้านที่ดูเหมือนเป็นจุดด้อยให้กลายเป็นจุดเด่นของบ้านได้อย่างน่าสนใจ
ออกแบบ: John Ellway
ภาพถ่าย : toby scott
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
ความท้าทายหนึ่งของ Cascade House คือทำเลที่ตั้งบนพื้นที่ลาดชันที่กลายเป็นรากฐานสำคัญของการออกแบบและการต่อเติมบ้านด้วย สถาปนิกได้ใช้ความลาดของไซต์มาเป็นโซลูชั่นเชื่อมต่อบ้านเข้ากับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยมีการแบ่งเป็นระดับต่างๆ ให้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงระดับที่ต่างกันสี่เมตร ทำให้เกิดพื้นที่ที่สมาชิกในครอบครัวสามารถหยุดแวะและเชื่อมต่อกับธรรมชาติได้ ส่วนบ้านหลักที่อยู่บนสุดของเนินนั้นปรับปรุงเพียงเล็กน้อย เพียงแค่ขัดพื้น ทาสีผนัง เพิ่มฉนวน และเปลี่ยนระบบไฟฟ้าเท่านั้น
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
การเปลี่ยนแปลงระดับจะจัดการความเป็นส่วนตัวไปด้วย โดยชั้นบนที่บ้านเดิมจะเป็นห้องนอนและฟังก์ชันที่มีความเป็นส่วนตัวมากที่สุด ส่วนต่อขยายใหม่เป็นอาคารโปร่งๆ หลังคาเอียงลงไปตามทิศทางของไซต์ ประกอบด้วย ห้องนั่งเล่น ครัว พื้นที่ทานข้าว สวน ห้องน้ำ 2 ห้องและห้องซักรีด ให้สมาชิกในครอบครัวมาพบปะพูดคุย รับประทานอาหาร และเล่นสนุกด้วยกันในเวลาว่าง
หัวใจหลักของ Cascade House คือพื้นที่นั่งเล่นบิลท์อินที่ลดระดับลงมาจากระเบียงบ้านเดิมหนึ่งสเต็ป เป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของชีวิตครอบครัว จากจุดนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของห้องและสระว่ายน้ำที่อยู่ด้านล่างหนึ่งเมตรได้สบายๆ การเชื่อมโยงกับโซนกิจกรรมกลางแจ้งเป็นอีกหนึ่งจุดที่สถาปนิกให้ความสำคัญ ลานหญ้าและสวนจึงออกแบบมาเพื่อใช้เป็นส่วนขยายของพื้นที่ใช้สอย เมื่อประตูมุ้งลวดเลื่อนออกไปก็จะผสานพื้นที่ในร่มและกลางแจ้งเข้าด้วยกัน อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับจังหวะธรรมชาติของวันและฤดูกาล
ขยับจากพื้นที่นั่งเล่นจะมีบันไดคอนกรีตอีกชุดหนึ่งนำไปสู่ชั้นถัดไปของบ้าน การแบ่งลำดับออกเป็นชุดของระดับที่ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เกิดช่องว่างเพื่อหยุดชั่วคราว และทำให้การไต่ระดับลื่นไหลไม่รู้สึกถึงความแตกต่างของความสูง ซึ่งปลอดภัยต่อเด็ก ๆ เมื่อสัญจรขึ้นลงด้วย ทั้งนี้จะสังเกตว่างานคอนกรีตที่บันไดนั้นก่อสร้างอย่างใส่ใจ เพราะบ้านนี้มีเด็กๆ จึงพยายามลบมุมที่แหลมคมบริเวณขอบมุม ช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
ติดกับบันไดจะเป็นเคาน์เตอร์คอนกรีตตกแต่งไม้รูปตัว U เป็นห้องครัวแบบเปิดโล่ง พื้นที่เหล่านี้ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นสระว่ายน้ำและมีทางเข้าถึงลานภายในได้โดยตรง อำนวยความสะดวกในการดูแลเด็ก ๆ ได้ไม่ว่าผู้ปกครองจะกำลังพักผ่อนหรือทำอาหารอยู่ การออกแบบฟังก์ชันใช้งานให้เชื่อมต่อกัน อย่างเช่น โซนนั่งเล่นที่มีที่นั่งต่อทำเป็นตู้เก็บของประตูกระจกฝ้า และเนื่องกับเคาน์เตอร์ครัวจะช่วยลดการใช้พื้นที่ในอาคารไปได้ค่อนข้างมาก
ในระดับต่ำสุดของบ้านเป็นพื้นที่รับประทานอาหาร ซึ่งจะเชื่อมต่อกับทางเข้าใหม่ที่ทำเพิ่มขึ้นมา นำไปสู่ห้องรับประทานอาหารเปิดโล่งที่ดูทันสมัยและอบอุ่นด้วยผนังเคลือบซีเมนต์สีเทาและชุดไม้อัดเบิร์ชสีอ่อนๆ นวลตา เห็นพื้นที่แบบเปิดดูโล่งแบบนี้เหมือนไม่มีประตู แต่จริงๆ แล้วห้องนี้มีผนังประตูกระจกแบบพับได้ที่ช่วยให้สามารถเปิดออกสู่ลานภายในบ้านและปิดได้เมื่อต้องการ
ห้องนอนสี่ห้องที่อยู่ในอาคารเดิมแยกจากโถงทางเดิน แต่ละห้องมีพื้นผิวไม้ทาสีขาวและเพดานสูงที่ช่วยทำให้ห้องสว่างขึ้น และยังมีปูกระเบื้องสี่เหลี่ยมจตุรัสสีขาวที่พบเจอได้หลายๆ จุด เติมความรู้สึกน่ารักอย่างมีมิติเข้าไปอีกนิด