เมนู

พัดลมดูดอากาศ เลือกอย่างไร ให้ครัวไทยปลอดกลิ่น

พัดลมดูดอากาศ

ติดตั้งพัดลมดูดอากาศ ไร้กลิ่นกวนใจครัวไทยในบ้าน

สำหรับการทำอาหารเมนูไทย ปัญหาใหญ่คือเรื่องกลิ่นฉุนและควันขณะทำอาหาร เพราะอาหารไทยไม่ว่าจะผัด ปิ้ง ทอด ต้ม ล้วนมีส่วนประกอบของสมุนไพรและเครื่องเทศซึ่งมีกลิ่นฉุนผสมด้วยเสมอ นี่ยังไม่รวมไปปลาเค็มทอด ปลาร้าคั่ว ซึ่งบ้านไหนทำบ่อยก็น่าจะพอทราบดีว่ารสชาติอร่อยแต่กลิ่นทำร้ายจมูกได้ไม่น้อยเลยครับ

ยิ่งหากออกแบบครัวไว้ในบ้านมีช่องทางระบายอากาศน้อยอย่างบ้านทาวน์โฮม ทาวน์เฮ้าส์ การระบายกลิ่นและควันจะยากยิ่งขึ้น ทำให้กลิ่นฟุ้งกระจายไปทั่วทั้งบ้าน หลาย ๆ บ้านจึงแก้ด้วยวิธีติดตั้งเครื่องดูดควันมาช่วย แต่ทราบกันหรือไม่ว่า เครื่องดูดควันอย่างเดียวยังไม่เพียงพอเพราะยังมีกลิ่นบางส่วนที่สามารถเล็ดลอดออกไปได้  เนื้อหาชุดนี้ “บ้านไอเดีย” ขอนำเครื่องดูดอากาศ เป็นอีกหนึ่งตัวช่วย ที่จะเก็บทุกรายละเอียดกลิ่นฉุดให้ออกไปจากห้องครัวครับ

เนื้อหาบ้านไอเดีย

ครัวไทยแบบเปิดนอกบ้านระบายอากาศแบบธรรมชาติ

ถ้าถามเรื่องความเหมาะสม “ครัวไทย” จะเหมาะกับการติดตั้งนอกบ้านมากกว่า เพราะการระบายไอน้ำมัน กลิ่น และควันด้วยวิธีธรรมชาติได้ดีกว่าอย่างแน่นอน แต่ถ้าไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนัก การติดตั้งเครื่องดูดควันและพัดลมดูดอากาศก็เป็นอีกทางเลือกง่าย ๆ เพราะโดยหลักการทำงานของพัดลมดูดอากาศจะดึงเอาอากาศและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ออกไปจากห้อง ทำให้อากาศมีการหมุนเวียนของอากาศมากยิ่งขึ้น

ติดพัดลมระบายอากาศติดผนังบริเวณเหนือเตา

การติดพัดลมดูดอากาศเหมาะพื้นที่ในห้องอับหรือห้องที่อากาศไม่ถ่ายเท หรือถ่ายเทได้ช้า อย่างห้องครัวที่ค่อนข้างปิด มีกลิ่นและอากาศที่ฟุ้งอยู่ในห้องครัวออกไปภายนอกได้เป็นอย่างดี หลักในการเลือกซื้อพัดลมให้เหมาะกับครัว มีดังนี้ครับ

1. ความเร็วรอบ ความเร็วรอบจะมีผลโดยตรงต่อการดูดอากาศภายในออกไปสู่ภายนอกได้เร็วหรือช้า รวมไปถึงปริมาณของอากาศที่ถูกหอบออกไป พัดลมที่เหมาะกับครัวไทยซึ่งมีควันมาก กลิ่นค่อนข้างแรง ควรหมุนด้วยความเร็วรอบตั้งแต่ 1,500 รอบต่อนาทีขึ้นไป แต่ต้องพิจารณาเรื่องระดับเสียงกันด้วยนะครับ เพราะบางรุ่นรอบแรงเสียงจะยิ่งดังจนทำให้ไม่อยากเปิด ลองทดสอบเรื่องเสียงควบคู่กันไปด้วยก็จะดีมากครับ

2. เลือกให้เหมาะกับขนาดห้อง โดยปกติห้องครัวไทยในบ้านจะขนาดไม่ใหญ่มาก ประมาณขนาด 4 เมตร x 3 เมตร หรือประมาณ 10 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 15 ตารางเมตร ควรใช้พัดลมดูดอากาศเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 นิ้วขึ้นไป (ระบายอากาศได้ประมาณ 540 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง) สำหรับห้องครัวขนาดใหญ่ขึ้นตั้งแต่ 15 -20 ตารางเมตร ควรใช้พัดลมดูดอากาศขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว ขึ้นไป (ระบายอากาศได้ประมาณ 810 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง)

ใบพัดแบบโลหะใบพัดโลหะ

ใบพัดจากวัสดุ-ABS

ใบพัดจากพลาสติก ABS

3. วัสดุของใบพัด ปัจจุบันมีหลากหลายให้เลือกใช้ อย่างเช่น PVC ที่ทนต่อปฏิกิริยาเคมี และติดไฟยาก ใบพัดเหล็ก หรือ พลาสติก ABS ที่มีคุณสมบัติ แข็ง เหนียว แต่มีความอ่อนนิ่ม วัสดุทุกชนิดที่ใช้ทำใบพัดจะมีคุณลักษณะเด่น เหมือน ๆ กันคือ คงสภาพรูปร่างได้ดี ทนความร้อน ทนสารเคมี มีช่วงอุณหภูมิใช้งานกว้าง (ตั้งแต่ -20 ํC -80 ํC) สำหรับครัวไทยที่ต้องประกอบอาหารด้วยน้ำมันเยอะ ๆ ใบพัดนอกจากจะทนต่อความร้อนและน้ำมัน แล้วต้องทำความสะอาดง่าย จะช่วยยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น

พัดลมระบายอากาศฝังฝ้า พัดลมระบายอากาศติดกระจก  และพัดลมระบายอากาศติดผนัง

4. ลักษณะการติดตั้งของพัดลมดูดอากาศ ปกติจะมีให้เลือก 3 แบบใหญ่ ๆ คือ พัดลมดูดอากาศฝังฝ้าแบบต่อท่อ/ไม่ต่อท่อ, พัดลมดูดอากาศติดกระจก  และพัดลมดูดอากาศติดผนัง เลือกใช้ให้เหมาะกับลักษณะของห้อง เช่น พัดลมดูดอากาศติดผนัง จะเป็นระบบระบายออกโดยตรง สามารถติดเหนือเตาหรือผนังส่วนต่าง ๆ ของครัวได้เลย แต่หากเป็นบ้านติด ๆ กัน ไม่มีช่องทางระบายเลย ก็เลือกใช้วิธีฝังฝ้าแบบต่อท่อ flexible ดูดอากาศออกไปยังจุดระบายอากาศภายนอกตัวบ้านผ่านหลังคาหรือผนัง ซึ่งมักจะใช้ในครัวที่ใช้งานไม่หนักมาก ไม่ค่อยมีน้ำมันกระเซ็น เพราะกำลังพัดลมจะน้อยกว่าตัวที่ติดผนังครับ

5. ไม่มีสารเคมีต้องห้าม หลัก ๆ สารเคมีต้องห้ามในส่วนประกอบของพัดลมดูดอากาศจะมี 6 ชนิดได้แก่ ตะกั่ว ปรอท โครเมียม แคดเมียม  PBBs PBDE

6. การรับประกัน ศูนย์บริการอะไหล่ และบริการหลังการขาย ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ การรับประกันคุณภาพสินค้า และบริการหลังการขาย เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อสินค้าที่ซื้อมามีปัญหาสามารถเปลี่ยนสินค้าได้ มีผู้ดูแลรับผิดชอบ และเมื่อใช้งานไปเกิดการชำรุดก็มองหาอะไหล่เปลี่ยนได้ง่าย ๆ ครับ

7. จุดติดตั้ง  การหาจุดที่จะติดพัดลมดูดอากาศต้องพิจารณาที่ทิศทางการไหลเวียนของอากาศภายในห้อง ควรติดตรงด้านที่รับการไหลเข้าของอากาศในห้องหรือตรงกับช่องลม ซึ่งช่วยให้ระบายอากาศได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ความสูงควรอยู่ประมาณ 1.80-2.40 เมตร

สำหรับบ้านที่ติดตั้งเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมหมั่นทำความสะอาดใบพัดและตะแกรง (สำหรับรุ่นที่มีตะแกรง) โดยเฉพาะจุดที่ติดตั้งเหนือเตาเพราะจะมีฝุ่น ควัน และคราบเหนียวของน้ำมันเกาะมากเกินไป ทำให้ใบพัดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ พัดลมชำรุดเร็วและกินไฟมากขึ้นครับ อย่างไรก็ตามถ้าไลฟ์สไตล์ของผู้อ่านเป็นคนชอบทำอาหารไทยประเภทปิ้งย่าง หรือใช้งานครัวบ่อย ๆ พัดลมดูดอากาศอาจจะยังไม่พอ อาจติดตั้งท่อดูดควันเพิ่มเติม เพื่อดูดกลิ่นและควันออกจากห้องให้ดียิ่งขึ้น ถ้ามีโอกาสในบทความต่อไปเราจะมาเลือกซื้อเครื่องดูดควันกันนะครับ http://credit-n.ru/offers-zaim/migcredit-dengi-v-dolg.html http://www.tb-credit.ru/articles.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ความรู้ คู่บ้าน


โพสต์ล่าสุด