เมนู

บ้านเมทัลชีทสีดำ หนีความวุ่นวายไปพรางตัวในป่า

บ้านเมทัลชีทในป่า

บ้านเมทัลชีททรงกล่อง 3 ชั้น

จะมีอะไรดีไปกว่า การได้ตื่นมาพร้อมสูดอากาศที่บริสุทธิ์สดชื่นจากสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้อย่างเต็มปอด ไม่ต้องกังวลกับฝุ่น pm.2.5  ควัน รถราที่แสนวุ่นวาย  การได้เป็นเจ้าของบ้านที่อยู่กลางต้นไม้เหมือนมีป่าส่วนตัว  อาจจะต้องเดินทางไกลขึ้น ห่างจากความสะดวกสบาย แต่เมื่อคิดดูแล้วก็เป็นราคาที่คุ้มจะจ่าย ถ้าแลกกับคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตใจที่ถูกเติมเต็มด้วยธรรมชาติที่หาไม่ได้ในเมือง เนื้อหานี้เราจะพาไปชมบ้านกลางแนวต้นไม้ที่สร้างอย่างเรียบง่าย ไม่หวือหวา แต่กลับรู้สึกชวนประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกที่มอง

ออกแบบ : LMCO arquitectos
ภาพถ่าย : Bruto Studio
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านทรงกล่องสีดำสูง 3 ชั้นพื้นที่ 150 ตารางเมตรนี้ ตั้งอยู่บนเกาะในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำปารานา ในประเทศอาร์เจนตินา มีลักษณะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่กว้างใหญ่และเข้าถึงยาก บริบทแวดล้อมด้วยพืชพรรณเขียวชอุ่มอยู่ด้านล่างสุดของแปลง จึงค่อนข้างท้าทายนักออกกแบบในการเข้าไปก่อสร้าง ด้วยภูมิประเทศแบบนี้ทำให้ทีมงานเลือกวัสดุที่สามารถขนย้ายง่าย ไม่ต้องก่อ ฉาบ เท หรือมีรถบรรทุกหนักเข้าไป คล้ายลักษณะการสร้างบ้านสำเร็จรูป ผลงานจึงออกมาเป็นบ้านเมทัลชีทผสมกระจกและไม้ที่สูงตระหง่าน เปิดโล่ง ทำให้มองเห็นวิวได้ไกลขึ้น

ทางเดินไม้กลางป่านำทางสู่บ้าน

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

บ้านสีดำในใจกลางป่า

ด้วยสภาพแวดล้อมที่ลาดชุ่มน้ำ และมีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำขึ้นน้ำลงตลอดเวลา ทีมงานจึงทำสะพานทางเดินไม้นำทางจากพื้นที่ภายนอกเข้าถึงตัวบ้านที่ยกขึ้นเหนือพื้นในระนาบเดียวกัน เพื่อป้องกันตัวบ้านจากความชื้นและน้ำที่อาจจะไหลผ่าน ส่วนพื้นที่ว่างใต้อาคารจะติดตะแกรงตาข่ายเหล็กเอาไว้ เพื่อกันสัตว์เลื้อยคลานเข้าไปใช้ชีวิตด้านในด้วย

บ้านช่องเปิดกว้างมีผนังกระจก

ชั้นล่างเปิดกว้างมีผนังกระจก

ตัวอาคารตั้งอยู่ท่ามกลางต้นไม้ ผนังเป็นเมทัลชีทลอนใช้สีดำเพื่อพรางซ่อนตัวอยู่แต่ใกล้ช่องทางเข้า จะรับรู้ถึงรูปทรงเรขาคณิตที่สร้างขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เมื่อมองไกล ๆ จะเห็นว่าบ้านดูเข้มขรึม สูง และกว้าง แต่เมื่อเข้ามาถึงตัวบ้านจริง ๆ กับเต็มไปด้วยสัมผัสของความโปร่งจากช่องว่างใจกลางบ้านที่สลับกับผนังทึบ วัสดุพื้นไม้ ทำให้ความแกรนด์ของบ้านดูลดลงและเต็มไปด้วยความเป็นกันเองในชั้นล่างสุด

ผนังบ้านสีดำ

เฉลียงกว้าง ๆ ปูพื้นไม้น่านั่งเล่น

เฉลียงกว้าง ๆ ปูพื้นไม้น่านั่งเล่น

การเข้าแต่ละส่วนของบ้าน ถูกกำหนดโดยช่องว่างและสัดส่วนด้วยวิธีการเชิงพื้นที่ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น เฉลียงทางเดินของบ้าน เป็นพื้นที่กึ่งกลางแจ้งมีหลังคาหลังคาขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อมต่อกับห้องโถงนั่งเล่นที่ขยายออกไปด้านนอก โดยเลือกเปิดออกสู่ทิศทางที่ดีที่สุดของทิศทางดวงอาทิตย์ และหันไปทางวิวที่ยาวที่สุด ทุกฟังก์ชันใช้งานในชั้นนี้จึงรับทั้งแสง ลม และภูมิทัศน์ที่สดชื่นได้เท่า ๆ กันทั้งหมด ไม่เฉพาะพื้นที่ชั้นนี้เท่านั้น แต่ได้เหมือนกันในทุกชั้น

เฉลียงสูง Double Volume

บ้าน open plan ผนังกระจกโปร่งโล่ง

ชั้นสองภายในประกอบด้วย ครัวที่มุมสุดของอาคาร ตรงกลางเป็นโต๊ะทานข้าว และมุมนั่งเล่น ซึ่งจัดแบบ open plan เรียงฟังก์ชันยาวไปแบบไม่มีผนังแบ่งกั้น จึงรู้สึกเหมือนเป็นห้องโถงโล่ง ๆ ผนังที่เป็นกระจกทั้งสองฝั่งยิ่งทำให้บ้านเหมือนไร้ขอบเขต เปิดรับวิวได้ทุกด้านโชว์พื้นที่ใช้ชีวิตได้เต็มที่แบบไม่หวงความเป็นส่วนตัว หลังคาที่คลุมเฉลียงยังช่วยบังแดด ส่วนด้านหลังแสงก็ไม่รบกวนช่วงกลางวันจึงไม่ต้องมีผ้าม่านปิด

โถงบันได

ผนังกระจก

ชั้นบนสุด คือส่วนของห้องนอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูงสุด มีความสงบ เงียบ เคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด เพื่อให้การพักผ่อนยามค่ำคืนเต็มไปด้วยคุณภาพ สถาปนิกยังไม่ลืมที่จะใส่ผนังกระจุกในบางมุมให้ห้องได้รับแสงและวิวที่ชวนให้สดชื่นและผ่อนคลาย และเลือกใช้ม่านแบบม้วนที่เลือกองศาที่ต้องการปิดเป็นส่วนตัวบางจุด แต่ยังสามารถมองเห็นวิวส่วนอื่น ๆ ที่ต้องการได้

บ้านสีดำกลางป่าเขียวๆ

 

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : ข้อดีของการทำบ้านยกพื้นขึ้นเหนือระดับพื้นดิน หรือบ้านใต้ถุนสูง มีข้อดีหลาย ๆ ประการ อาทิ ช่วยให้อากาศไหลเวียนได้ดี ลดความอับชื้นใต้ตัวบ้าน ลดความเสี่ยงที่จะทำให้พื้นบ้านเสียหาย จึงเหมาะกับบ้านในเขตร้อนชื้นอย่างเมืองไทย ลมที่พัดผ่านใต้ตัวบ้านทำให้ฝุ่นเข้าบ้านได้น้อยกว่า สามารถซ่อนท่อระบบต่างๆ และวางท่อกำจัดปลวกได้ง่าย ความสูงที่มากขึ้นยังมีส่วนช่วยเปิดรับทิวทัศน์ให้มีมุมมองกว้างและไกลขึ้นด้วย

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด