เมนู

ต่อเติมบ้านเปิดผนัง 2 ด้าน เพิ่มพื้นที่เปิดโปร่งกึ่งเอาท์ดอร์

ห้องครัวมองเห็นสวน

เพิ่มพื้นที่ใช้งานให้บ้าน

ถ้าถามผู้เขียนว่าบ้านในยุคนี้แบบไหนถึงจะเหมาะ ก็คงจะตอบได้ยากเพราะเหมาะของแต่ละบ้านก็ต้องขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบตั้งแต่ทำเลที่ตั้ง รูปร่างที่ดินแบบที่ชอบ งบประมาณ ไลฟ์สไตล์ไปจนถึงสภาพอากาศ แต่จุดหนึ่งที่บ้านยุคนี้ควรต้องมีคือ พื้นที่เปิดโล่ง โปร่งรับลมสบาย ยิ่งเป็นบ้านที่เปิดออกเชื่อมกับพื้นที่ธรรมชาติกลางแจ้งด้วยแล้ว ยิ่งทำให้บ้านน่าสบายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเขตร้อนชื้นบ้านเรา การปิดบ้านทึบจะทำให้บ้านไม่มีช่องทางระบายอากาศ ดังนั้นการเลือกจังหวะของบ้านติดช่องลมขนาดใหญ่ เปิดบ้านได้กว้าง น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสร้างบ้านที่เหมาะสมเช่นกันครับ

ออกแบบDorrington Atcheson Architect
ภาพถ่ายEmma Jane Hetherington
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

คลิกที่ภาพ เพื่อรับชมภาพขนาดใหญ่

บ้านขนาด 404 ตารางเมตรหลังนี้สร้างขึ้นในเมืองอ๊อคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ตั้งแต่ช่วงปี 1970 ที่ห่อหุ้มตัวบ้านด้วยไม้ซีดาร์ หลังคาหลายจั่วหลายชั้นตามแบบบ้านต่างระดับที่นิยมในยุคสมัยนั้น แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปสถาปัตยกรรมแบบเก่านี้ก็ดูล้าสมัยไปอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งโครงสร้างของตัวบ้าน การแบ่งพื้นที่ใช้งาน ก็ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตครอบครัวอย่างสะดวกสบาย จึงต้องการการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและต่อเติมให้บ้านมีความลื่นไหลและใช้งานได้หลากหลาย เหมาะกับสภาพแวดล้อมและไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันมากขึ้น



การปรับปรุงตัวบ้านเน้นการรักษาเสน่ห์ของอาคารที่เป็นบ้านยุคเก่าซึ่งมีวัสดุเดิมที่มีคุณภาพอยู่แล้ว เพียงแต่ปรับปรุงบางส่วนให้โปร่ง สว่าง เพิ่มเติมส่วนขยายของบ้านให้มีสเปซใช้งานมากขึ้น โดยที่ต้องออกแบบส่วนต่อเติมไม่ไห้โดดออกมาจากรูปลักษณ์ตัวบ้านของบ้านใกล้เรือนเคียง ที่ยังผสมผสานสถาปัตยกรรมยุคอาณานิคมด้วย  สถาปนิกจึงสร้างพื้นที่กล่องสี่เหลี่ยมด้านในตัวบ้าน ให้หน้าบ้านบังส่วนต่อเติมเอาไว้ เป็นห้องยาวเปิดผนังได้กว้าง ประกอบด้วยส่วนครัว ห้องนั่งเล่น ห้องทานอาหาร ติดผนังกระจกตีทับด้วยไม้ซีดาร์บางส่วน จึงไม่ดูโมเดิร์นจนเกินไปและล้อไปกับอาคารเดิม

การตกแต่งภายในที่ถูกจำกัดความใหม่เป็นแบบ Open  ทำให้ห้องนั่งเล่น ห้องทานข้าวและครัวอยู่ร่วมกันได้ในพื้นที่เดียวโดยไม่ต้องแยกห้อง ทำให้สามารถใช้งานทุกพื้นที่ได้พร้อมกัน สามชิกมปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันยิ่งกว่าเดิม ผนังที่ติดกระจกทุกด้านทำให้ภายในดูโปร่งสว่าง รับแสงธรรมชาติได้มากเหมือนไร้ผนังดูคล้ายศาลากลางแจ้ง ต้อนรับวิวและความสดชื่นจากภายนอกได้เต็มที่ บริเวณเพดาน พื้น และผนังกรุไม้ บางส่วนเซาะร่องทำเลียนแบบของเดิมให้ความรู้สึกอบอุ่นของยุค 70 ยังคงอบอวลอยู่ภายใน

ครัวยุคใหม่มักจะนิยมเปิดผนังได้กว้าง ผนังที่เป็นบานสไลด์ติดกระจกช่วยเชื่อมต่อพื้นที่ภายในและภายนอกได้อย่างแนบเนียน  เพียงแค่เลื่อนประตูออกก็สามารถรับความสดชื่นจากสวนได้ในขณะทำอาหารหรือทานอาหาร และเป็นการเพิ่มพื้นที่ใช้งานออกไปสู่ส่วนนอกบ้านที่ปูพื้นด้วยแผ่นคอนกรีตรองรับการใช้งานที่ต่อเนื่องกัน

ไอซแลนด์มุมโค้งมนกรุด้วยไม้ เสน่ห์เส้นสายเรขาคณิตที่ส่งต่อจากยุคหนึ่งมาถึงอีกยุคโดยที่ไม่รู้สึกว่าล้าสมัย

พื้นที่นั่งเล่นติดผนังกระจกใส จึงไม่รู้สึกว่าห้องคับแคบแม้จะถูกแบ่งพื้นที่ด้วยพาร์ทิชั่น ผนังที่เปิดกว้างได้ทั้งสองด้านทำให้รับวิวธรรมชาติได้เต็มที่ แบบพาโนราม่า

มุมทานอาหารที่ปูด้วยพรมและแวดล้อมด้วยไม้ ทำให้พื้นที่นี้เต็มไปด้วยความนุ่มนวลและอบอุ่นตามแบบบ้านยุค 70 เพิ่มรายละเอียดของแต่งบ้านที่ย้ำกลิ่นอายของยุคสมัยคุณแม่ยังสาวด้วยตู้สี่เหลี่ยมบานไม้ไม่มีมือจับ แจกันทรงสวย โคมไฟทำจากไม้ และเก้าอี้พลาสติกที่คุ้นตา

ส่วนโถงบันไดที่เชื่อมต่อกับบ้านเก่าซึ่งเป็นบ้านต่างระดับ สถาปนิกปรับปรุงให้สามารถใช้พื้นที่บ้านได้เต็มประสิทธิภาพ ไม่ให้มีพื้นที่ว่างเปล่าประโยชน์ ผนังเจาะทำเป็นชั้นวางของได้ ชานพักทำเป็นมุมอ่านหนังสือเล็ก ๆ ทำให้บ้านดูเป็นระเบียบเรียบร้อย มีพื้นที่จัดเก็บของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ดูแลได้ง่าย

บ้านยุคใหม่สิ่งที่สำคัญมาก ๆ คือ การวางตำแหน่งช่องแสง ในแถบตะวันตกที่ต้องเผชิญกับอากาศหนาวเย็นยาวนาน ทำให้บ้านต้องปิดผนังทึบเพื่อรักษาอุณหภูมิภายใน แต่สิ่งที่ตามมาก็คือความอับทึบ ทำให้บ้านไม่มีความสดชื่น สถาปัตยกรรมยุคนี้จึงต้องเปิดช่องแสงให้มากขึ้นด้วยการทำผนังกระจกขนาดใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่ในห้องนอน เพื่อให้บ้านเก็บความอบอุ่นได้มาก มีแสงสว่างพอเพียง ซึ่งบ้านในแถบตะวันออกก็สามารถทำได้ แต่ต้องเลือกทิศทางและจังหวะการติดตั้งช่องแสง ช่องลมให้เหมาะสม

ห้องนอนเลือกติดผนังกระจกขนาดใหญ่ด้านหนึ่ง เพื่อให้เปิดเลื่อนออกรับแสง วิว ลม ภายนอกได้ง่าย ตัวกระจกใสยังช่วยลดความรู้สึกอึดอัดของผนังทึบลง ในขณะที่คุณสมบัติการใช้งานของผนังทั้งสองรูปแบบใกล้เคียงกัน แต่ให้ผลกระทบกับความรู้สึกต่างกัน การเลือกใช้งานวัสดุก็แล้วแต่วัตถุประสงค์และความต้องการของเจ้าของบ้านประกอบด้วยด้วย

ห้องน้ำตกแต่งเรียบง่ายสไตล์มินิมอล มีเพียงของใช้ที่จำเป็นอย่างเช่น โถสุขภัณฑ์ อ่างล้างมือ ราวตากผ้า เป็นต้น ห้องน้ำแยกส่วนเปียกออกจากส่วนแห้งด้วยกระจก ทำให้รู้สึกโปร่งสบายตา ช่องแสงที่พอเหมาะพอดีช่วยลดความชื้นในห้องน้ำและเพิ่มความสว่างในช่วงเวลากลางวัน

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด