5 เรื่องต้องรู้ของผนังเมทัลชีท
เทรนด์การออกแบบบ้านเปลี่ยนไปตามยุคสมัย สำหรับปี 2021 นี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เทรนด์บ้านสไตล์นอร์ดิกที่มีต้นกำเนิดจากยุโรปฝั่งเหนือ ให้ความโมเดิร์นแบบโรงนา เข้ามามีอิทธิพลงานดีไซน์ในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งอาคาร บ้านเรือน ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ต่างนำสไตล์นอร์ดิกมาเป็นจุดขายกันมากขึ้น
และเมื่อนึกถึงสไตล์นอร์ดิกเรามักเห็นการใช้งานควบคู่ไปกับวัสดุเมทัลชีท บ้างก็นำเมทัลชีทมาใช้ร่วมกับหลังคาทรงจั่ว บ้างก็นำเมทัลชีทนำมาใช้ร่วมกับงานผนังด้วย เนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย” ขอเอาใจคนรักนอร์ดิกสไตล์ ที่อยากนำเมทัลชีทมาใช้ร่วมกับงานผนัง จะได้นำไปใช้อย่างถูกหลักถูกวิธี เหมาะสมกับบ้านพักอาศัยในเขตอากาศร้อนชื้นอย่างประเทศไทยได้อย่างลงตัวครับ
สนับสนุนโดย : BlueScope Thailand
ออกแบบ : Design Platformllc
1. เลือกลอนเมทัลชีทให้เหมาะกับงานผนัง
โดยทั่วไปเจ้าของบ้านจะคุ้นเคยกับแผ่นเมทัลชีทสำหรับงานหลังคาบ้านกันอยู่แล้ว เมทัลชีทสำหรับงานหลังคา ผู้ผลิตจะออกแบบให้รูปลอนให้เอื้อต่อการระบายน้ำฝนได้ดี ทำให้ลอนหลังคามีร่องระบายน้ำที่แตกต่างกันออกไปตามลอนที่ผู้ผลิตออกแบบมา แต่หากนำแผ่นเมทัลชีทมาใช้ร่วมกับงานผนังบ้าน ลอนที่ดีต่อการระบายน้ำก็สามารถนำมาใช้งานผนังได้แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญครับ ผู้ออกแบบสามารถเลือกเมทัลชีทรูปลอนอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีร่องระบายน้ำได้
สำหรับลอนที่เหมากับการนำมาใช้งานผนัง นิยมใช้ลอนแบบซีมเลสและลอนผนังที่มีสันลอนตื้น โดยเฉพาะ โดยลอนแบบซีมเลสจะเหมาะกับอาคารขนาดใหญ่หรือเลือกใช้ผนังเมทัลชีททั้งหลัง ลอนลักษณะนี้จะมีสันลอนสูง จึงให้เส้นสายที่ดูเรียบคม แต่หากจุดติดตั้งผนังเมทัลชีทมีไม่มาก หรือนำมาใช้กับอาคารขนาดเล็ก แนะนำเลือกลอนผนัง จะมีระยะห่างของเส้นลอนที่เล็กลง ช่วยให้งานผนังดูปราณีตขึ้น
ออกแบบ :Paul Devarrieux, Thomas Raynaud
2. ราคาผนังเมทัลชีท ถูกหรือแพงกว่าผนังทั่วไป
อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า ผนังเมทัลชีทที่ดูเบา จะมีราคาถูกกว่าผนังก่ออิฐทั่วไป สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาคือคุณสมบัติของผนังเมทัลชีทในอาคารนั้น ๆ หากเป็นผนังเมทัลชีทที่ใช้สำหรับงานโกดังเก็บของ งานผนังรั้ว ลักษณะนี้ต้นทุนถูกกว่าผนังก่ออิฐครับ แต่หากนำผนังเมทัลชีทมาใช้ร่วมกับบ้านพักอาศัย จำเป็นต้องคำนึงถึงความร้อนเข้าสู่ภายในบ้าน ไม่สามารถปิดผนังเมทัลชีทบาง ๆ เพียงด้านเดียวได้
ผนังเมทัลชีทสำหรับบ้านพักอาศัย นิยมทำกัน 2 วิธี วิธีแรกทำการก่ออิฐเหมือนผนังบ้านทั่วไป จากนั้นนำแผ่นเมทัลชีทยึดบนโครงคร่าวปิดตกแต่งงานภายนอก หรืออีกวิธีใช้เมทัลชีทแซนวิชพาเนล ที่เหมาะสำหรับการใช้งานผนังโดยเฉพาะ ตัวอย่าง BlueScope Zacs Cool for Panel ที่เป็นวัสดุเมทัลชีท ที่มีคุณสมบัติ ยึดเกาะกับฉนวนได้ดี ไม่หลุดร่อน ซึ่งการใช้เมทัลชีทแซนวิชพาเนล จะเป็นการปิดผิวเมทัลชีททั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยจะมีฉนวนกันความร้อนอยู่ตรงกลาง สามารถเลือกลอนแต่ละด้านได้ ภายในมีโฟม EPS ทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อน ราคาจะขึ้นอยู่กับว่า ผู้ใช้งานจะสเปคไว้อย่างไรบ้าง ทั้งสเปคความหนาของแผ่นเมทัลชีทและขนาดฉนวน แต่ภาพรวมแล้วราคาสูงกว่าผนังก่ออิฐ ฉาบทาสีทั่วไป แต่ด้วยคุณสมบัติของผนังเมทัลชีทที่ติดตั้งไว ปกปิดงานระบบได้ดี พร้อมทั้งมีดีไซน์ที่ดูทันสมัย สามารถเลือกใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการเลยครับ
ออกแบบ : Aaksen Studio
3. จุดเด่นเฉพาะผนังเมทัลชีท ที่วัสดุอื่นทำได้ยาก
จุดเด่นที่เห็นได้ชัดจากการใช้งานจริง ผนังบ้านในจุดที่นำเมทัลชีทมาตกแต่ง แม้บ้านจะสร้างเสร็จไปแล้วหลายปี แต่ผนังส่วนที่เป็นเมทัลชีทยังดูสดใหม่ สีไม่ซีดจาง ไม่ขึ้นคราบใด ๆ แตกต่างกับวัสดุอื่น ๆ อาจมีราดำหรือคราบสกปรกต่าง ๆ ให้เห็น นั่นเป็นเพราะผิวเมทัลชีทผ่านการเคลือบสีให้มีความเรียบเงา วัสดุอื่น ๆ เมื่อถูกแดดถูกฝนหลายปี จะค่อย ๆ เปลี่ยนสีหรือเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา แต่เมทัลชีทเป็นแผ่นเหล็กเคลือบสี เมื่อมีฝนสาด ฝนจะช่วยชำระล้างฝุ่นที่เกาะ หรืออาจจะเปรียบเทียบระหว่างหลังคาเมทัลชีทกับหลังคากระเบื้องลอนคู่ก็ได้ครับ กระเบื้องลอนคู่เมื่อใช้งานสักระยะ จากหลังคาที่มีสีขาว จะค่อย ๆ กลายเป็นสีดำ ส่วนเมทัลชีทยังคงรูปลักษณ์สีเดิมอยู่เสมอ
อีกจุดเด่นที่หลาย ๆ วัสดุทำไม่ได้ คือ เส้นลายที่ต่อเนื่อง นั่นเป็นเพราะเมทัลชีทสามารถสั่งผลิตตามขนาดความยาวได้ แต่หากใช้วัสดุอื่น ๆ อาทิ ไม้กรุผนัง มักมีขนาดที่จำกัด ทำให้ต้องนำวัสดุมาต่อกัน เป็นผลให้มองเห็นรอยต่อที่ดูไม่เรียบเนียน
4. ผนังเมทัลชีทร้อนไหม ป้องกันได้อย่างไร
เมทัลชีทเป็นวัสดุประเภทโลหะ จึงเป็นปกติที่เจ้าของบ้านจะกังวลเรื่องความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน แต่อย่างที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้นในหัวข้อราคาผนังเมทัลชีทครับ การนำเมทัลชีทมาทำผนังสำหรับบ้านพักอาศัยจะมีความแตกต่างกับผนังโกดัง โรงงาน หรือผนังรั้วกำแพง กรณีนำผนังเมทัลชีทกรุตกแต่งทับผนังก่ออิฐ วิธีการนี้หมดความกังวลเรื่องความร้อนได้เลยครับ เพราะการติดตั้งผนังเมทัลชีทจะต้องติดตั้งบนโครงเหล็กอีกชั้น ระหว่างแผ่นเมทัลชีทกับผนังก่ออิฐจึงมีช่องว่างเล็ก ๆ ให้อากาศผ่านได้ แสงแดดที่สาดส่องลงผนังบ้านจึงไม่โดนผนังชั้นใดโดยตรง เมทัลชีทจึงทำหน้าที่ป้องกันความร้อน ป้องกันรังสี UV ให้ผนังบ้านได้อีกชั้น จึงเย็นกว่าผนังก่ออิฐทั่วไป
BlueScope Zacs Cools For Panel มีฉนวนกันความร้อนในตัว
สำหรับบ้านที่เลือกทำผนังเมทัลชีทล้วน ๆ โดยไม่มีผนังก่ออิฐ แนะนำให้ทำผนัง 2 ชั้น โดยให้เมทัลชีทเป็นผนังชั้นนอก ส่วนชั้นในอาจเลือกใช้ผนังเบา เช่น แผ่นยิปซัม, สมาร์ทบอร์ด, ไม้อัด โดยระหว่างผนังเบากับเมทัลชีทให้มีฉนวนกั้นกลาง อาจเลือกใช้ฉนวน PU แบบแผ่นติดตั้งจากโรงงาน หรือ PU แบบพ่นจะสะดวกกับงานผนัง แต่หากโจทย์งาน ต้องการให้ผนังภายในเป็นผนังเมทัลชีทด้วย แนะนำให้เลือกผนังเมทัลชีทที่ออกแบบสำหรับงานผนังโดยเฉพาะ อย่าง BlueScope Zacs Cool For Panel มาพร้อมกับฉนวนโฟมโพลียูรีเทน หรือ พียูโฟม (Polyurethane Foam or PU Foam) จะช่วยกันความร้อนได้ดีเลยครับ
ออกแบบ : Searl Arch
5. บ้านเก่า นำเมทัลชีทมาตกแต่งผนัง หรือกั้นห้องเพิ่มได้หรือไม่
หากเปรียบเทียบเมทัลชีทกับผนังก่ออิฐฉาบปูน เมทัลชีทจัดเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบากว่ากันเป็นเท่าตัวเลยครับ การนำมาติดตั้งเพิ่มภายหลังจึงค่อนข้างปลอดภัยต่องานโครงสร้าง อย่างไรก็ตามแม้ตัวเมทัลชีทเองจะไม่ได้มีน้ำหนักมาก โครงคร่าวที่นำมาใช้ควรเลือกโครงคร่าวที่มีน้ำหนักเบาร่วมด้วย เช่น โครงคร่าวเหล็กกัลวาไนซ์ เหล็กชุบสังกะสีที่มีน้ำหนักค่อนข้างเบา เหมาะกับงานต่อเติมด้วยวัสดุผนังเบาครับ
ผู้อ่านท่านใดสนใจเมทัลชีทสำหรับงานผนังภายนอกและภายใน BlueScope Zacs Cool For Panel สามารถเลือกสี ลวดลาย หรือสเปควัสดุได้ตามผู้ออกแบบต้องการ จะลอนเล็ก ลอนใหญ่ หรือเพิ่มฉนวนใด ๆ ก็สามารถทำได้ ศึกษารายละเอียดสินค้าเพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ : www.zacsroof.com/th/why-zacs/ | แฟนเพจ : BlueScope Thailand