บ้านโมเดิร์นทรอปิคอลเหมาะกับเขตร้อน
ถ้าให้นึกภาพพื้นที่อยู่อาศัยภายในสภาพแวดล้อมในเมืองใหญ่ อย่างในกรุงเทพฯ หรือเมืองในประเทศเพื่อนบ้านอย่างจาการ์ตาก็จะมีสิ่งที่คล้ายกันอยู่ คือความหนาแน่นของประชากรและการใช้งานยวดยานต่างๆ ทำให้มีระดับมลพิษที่สูงและมีความกังวลด้านความปลอดภัยมาก บ้านส่วนใหญ่ในเมืองจึงได้รับการออกแบบให้ปิดล้อมอย่างแน่นหนา ส่งผลให้บ้านไม่ได้รับแสงและการไหลเวียนอากาศที่ดี พื้นที่ผ่อนคลายในธรรมชาติก็เหมือนจะห่างไกลไปทุกที แต่เนื้อหานี้เรามีแบบบ้านที่ออกแบบมาเพื่อให้ธรรมชาติเข้ามาเติมเต็มชีวิตคนเมืองได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้นมาให้ชมกันครับ
ออกแบบ : Arti Design Studio
ภาพถ่าย : Mario Wibowo
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านนี้อยู่ในเขต Kembangan จาการ์ตาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย เป็นตัวอย่างที่ดีของโซลูชั่นที่สร้างสำหรับครอบครัวสมาชิกหลายคน ซึ่งโยกย้ายจากนอกเกาะชวา เพื่อมาทำงานในเมืองหลวง แต่แทนที่จะอาศัยอยู่ในบ้านแยกกันหลายหลัง ครอบครัวนี้กลับตัดสินใจสร้างบ้านอยู่ร่วมกันให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ โดยสถาปนิก Arti ได้แนะนำแนวคิดของการอยู่ร่วมกันแบบ Micro tower เพื่อเป็นต้นแบบของบ้านในเมืองขนาดกะทัดรัดในอุดมคติ เหมือนเป็นแคปซูล 2 ชิ้น ที่แต่ละแคปซูลจะใส่ฟังก์ชันตามความต้องการลงไป
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
เมื่อมองจากภาพที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว บ้านหลังนี้จะดูเป็นอาคารอิฐสไตล์โมเดิร์นรูปทรงแท่ง 2 แท่ง แต่เบื้องหลังงานดีไซน์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากซากปรักหักพังของซุ้มประตูทางออกในโบราณสถานของ Trowulan ที่ก่อสร้างด้วยอิฐแดง และมีช่องว่างอยู่ระหว่างกลาง จึงนำมาปรับประยุกต์ให้เป็นแคปซูลที่ใส่ฟังก์ชันเข้าไปข้างใน สร้างระยะห่างระหว่างกัน ในขณะที่ให้ช่องว่างเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกันได้
แต่ละอาคารมีการวางตำแหน่งอย่างมีกลยุทธ์ โดยขนานกันไปตามแนวขอบทอดยาวจากด้านหน้าไปด้านหลัง ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างรองรับฟังก์ชันหลัก พื้นที่ตรงกลางเปิดโล่งและไม่มีสิ่งกีดขวาง การจัดวางแบบนี้ทำให้สามารถกำหนดสัดส่วนใช้งานได้อย่างชัดเจน ส่วนหน้าของบ้านจัดให้เป็นชานไม้นั่งเล่นแบบกึ่งกลางแจ้ง มีสวนน้ำเลี้ยงปลาขนาดกว้างขวาง หลังคาที่คลุมอยู่เจาะเป็นช่องว่างสี่เหลี่ยมให้ต้นไม้โตทะลุขึ้นไปเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน และสร้างร่มเงาในอนาคตได้อีกด้วย
จากการวางรูปแบบอาคารขนาบพื้นที่ว่าง สถาปนิกได้ทำประตูบานเฟี้ยมกระจกใสที่เปิดออกได้กว้าง ต่อเชื่อมสวนน้ำและชานกลางแจ้งเข้ามายังพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน เป็นมุมนั่งเล่นต้อนรับแขกที่มีลักษณะเหมือนโซนสาธารณะกลางแจ้ง โดยมีผังแบบเปิดโล่ง (open plan) ที่รับประกันความยืดหยุ่นให้กับผู้อยู่อาศัย
นอกจากแปลนแบบเปิดแนวนอนที่สร้างความลื่นไหลระหว่างมุมต้อนรับแขก ห้องนั่งเล่น โต๊ะทานข้าวและครัวแล้ว สถาปนิกยังเจาะพื้นเพดานขึ้นเชื่อมต่อในแนวตั้งให้อากาศร้อนลอยตัวขึ้นได้ดี บ้านจะได้รับประโยชน์จากการไหลเวียนและระบายอากาศตามธรรมชาติ ช่วยให้สามารถลดการพึ่งพาระบบทำความเย็นได้ เหนือบริเวณนี้ยังมีสกายไลท์ขนาดใหญ่ปิดด้วยบานเกล็ดไม้ ทำหน้าที่พรางแสงกันความร้อน แต่ยังให้แสงธรรมชาติส่องผ่านเข้ามาในพื้นที่สาธารณะได้ ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของครัวเรือนได้เป็นอย่างดี
สวน เป็นองค์ประกอบทางธรรมชาติสำคัญ ที่สถาปนิกเน้นให้ผสานอยู่ทั่วบ้านทั้งภายนอกและภายในตัวอาคาร เป็นการดึงธรรมชาติเข้ามามีส่วนร่วมกับการใช้ชีวิตได้อย่างแท้จริง
พื้นที่พักผ่อนของบ้านไม่ได้มีเพียงหน้าบ้านและในบ้านเท่านั้น บนหลังคาก็สามารถขึ้นมานั่งเล่นชมวิวได้ โดยทีมงานได้ทำม้านั่งคอนกรีตให้นั่งชมเรือนยอดไม้ที่ผ่านทะลุหลังคาขึ้นมา รอบๆ ยังโรยด้วยกรวด ซึ่งช่วยเพิ่มบรรยากาศธรรมชาติ และยังลดความร้อนจากหลังคาลงไปสู่พื้นที่ข้างล่าง รวมถึงลดการสะท้อนของแสงที่ทาลงบนหลังคา ที่อาจจะไปรบกวนบ้านข้างๆ ได้
โครงการนี้ใช้วัสดุในท้องถิ่นอย่างอิฐแดงเผาทั้งผนังด้านหน้าและภายใน วัสดุนี้พบได้ทั่วไปในภูมิภาคและเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการก่อสร้างมาหลายทศวรรษ ด้วยคุณสมบัติในด้านความแข็งแรง ราคาไม่แพง และดูแลรักษาน้อย อิฐแดงยังควบคุมอุณหภูมิตามธรรมชาติและกันเสียงได้ดี ช่วยสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัย เติมพลังให้กับละแวกนี้ด้วยวิธีการก่อสร้างแบบโลว์เทค ผสานกับงานเหล้ก กระจก และพื้นที่สีเขียว จนลืมไปว่าที่นี่คือบ้านในเมืองที่เต็มไปด้วยความร้อนและชุมชนที่แทบไม่มีพื้นที่ปลูกต้นไม้
แปลนบ้าน