
บ้านมินิมอล ความใหม่ที่เข้ากันได้กับชุมชนเดิม
ความเหลื่อมล้ำ ในแง่บริบททางสังคมด้านรายได้ คงเป็นความไม่เท่าเทียมที่มีความหมายไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก เพราะยิ่งมีความต่างมากยิ่งแสดงความแตกต่างของคุณภาพชีวิตของคนแต่ละกลุ่ม แต่ในบางนัยยะความเหลื่อมล้ำก็เปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้เราได้เห็นความงามของความไม่เท่ากัน อย่างเช่น งานสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่นหลังนี้ เป็นตัวอย่างที่นำเสนอแนวคิดนี้ได้ดี เพราะความเป็นจริงบ้านเองก็ไม่จำเป็นต้องสร้างเป็นแพทเทิร์นที่ตรงไปตรงมา หรือเป็นสี่เหลี่ยมเท่ากันหมด เมื่อลองลดพื้นที่ด้านหนึ่ง และเติมพื้นที่อีกส่วนหนึ่งเข้าไป ก็ทำให้เหลือช่องว่างให้ใช้ประโยชน์ได้ แถมยังเพิ่มมุมมองให้บ้านในแง่มุมที่เราอาจะไม่เคยเห็นมาก่อน
ออกแบบ : Horibe Associates
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อรับชมภาพขยายใหญ่
บ้านญี่ปุ่นมินิมอล เรียบง่ายถ่อมตัวกลมกลืนในชุมชนเก่าแก่
บ้านขนาด 121 ตารางเมตร หลังนี้ตั้งใน Hiraya เมืองนางาโนะ บนถนนสายวัฒนธรรมที่แวดล้อมด้วยสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นเก่าแก่และประเพณีที่ยังคงอยู่ ปลายเส้นทางนี้เป็นศาลเจ้าชินโต ที่จะจัดงาน Omikoshi หรือเทศกาลแห่ศาลเจ้าขับไล่สิ่งชั่วร้ายในเดือนกรกฎาคมของทุกปี สถาปนิกและเจ้าของบ้านจึงเห็นตรงกันที่จะสร้างบ้านที่กลมกลืนกับบริบทโดยรอบแต่ดูทันสมัยขึ้น ด้วยการดีไซน์บ้านให้คล้ายโรงนาท้องถิ่น หลังคาแบบ Kirizuma Roofs หรือทรงจั่วของบ้านญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมแต่ลดทอนรายละเอียดและต่อออกมาเป็น 2 จั่ว กลางหลังคามีที่ว่างเป็นดาดฟ้าให้ขึ้นไปชมวิวเมืองได้สบาย ๆ
บ้านที่แวดล้อมด้วยอาคารแบบญี่ปุ่น ซึ่งเป็นทางผ่านขบวนแห่ศาลเจ้า แต่ไม่ดูแปลกแยกออกจากบ้านหลังอื่น ๆ ผนังอาคารตีไม้สีน้ำตาลเข้มปิดทึบ เพื่อป้องกันบ้านให้เป็นส่วนตัวจากถนน และเปลี่ยนทิศทางประตูเข้าบ้านให้อยู่ทางด้านข้าง
ภาพ Diagram ที่แสดงแนวคิดของบ้าน เริ่มจากการวางรูปทรงบ้านเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าธรรมดา แล้วตัดบ้านออกเป็น mass 3 ก้อน จากนั้นจึงดึงตัวอาคารแต่ละก้อนให้เหลื่อมล้ำออกไปด้านซ้ายและด้านขวา วิธีนี้จะทำให้สามารถเปิดมุมมองของบ้านและเพิ่มช่องว่างในด้านถึง 3 จุด
ตกแต่งภายในด้วยงานไม้ เหมือนถูกโอบล้อมด้วยธรรมชาติ
เมื่อก้าวเข้ามาแล้วจะพบกับโถงทางเดินเล็กๆ มีห้องเก็บของ พื้นที่ถอดรองเท้า และห้องทำงานที่เปิดหน้าต่างออกไปมองความเคลื่อนไหวนอกถนนได้ พื้นที่ภายในบ้านยกระดับขึ้นสูงเหมือนบ้านญี่ปุ่นทั่วไปแต่จะสูงกว่าเล็กน้อย ภายในตกแต่งสไตล์เรียบง่าย เน้นตกแต่งด้วยวัสดุที่มีความเป็นธรรมชาติ เช่น เสื่อทาทามิ ผนัง เพดาน และเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ ซึ่งจะตัดกับฝ้าเพดานสีขาวทำให้รู้สึกผ่อนคลายสบายตา
พื้นที่ชีวิตภายในออกแบบภายใต้แนวคิด Multipurpose Space ที่สร้างห้องโถงโล่ง ๆ รวมฟังก์ชันส่วนทำงาน ครัว ห้องนั่งเล่น ดูทีวี และสเปซหลวม ๆ สำหรับปรับเปลี่ยนใช้งานร่วมกับสมาชิกในครอบครัวได้แบบค่อนข้างอิสระ
ผนังที่เปิดออกได้กว้างทั้ง 2 ด้านติดบานกระจก ช่องแสงกายไลท์ด้านบนเพดาน เป็นช่องทางช่วยดึงแสงธรรมชาติให้ส่องเข้ามาสร้างความสว่างและความอบอุ่นได้ในมุมที่บ้านต้องการ และเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างภายนอกและภายในอีกด้วย
แบ่งบ้านเหลื่อมเป็น 3 ตอน มีที่ว่างจัดสวน 2 จุด
เมื่อเลื่อนบานประตูจะเปิดเชื่อมต่อกับชานบ้านที่ตีด้วยไม้ และทำเป็นสเต็ปลงไปยังพื้นที่สีเขียว 2 จุดที่จัดอยู่ระหว่างช่องว่างของอาคาร เป็นสวนญี่ปุ่นสไตล์มินิมัล มีเพียงเนินดินปลูกหญ้าเขียว ๆ คล้ายจำลองภูเขาเข้ามาอยู่ในบ้านล้อมรอบด้วยกรวดที่เป็นตัวแทนของน้ำ เป็นพื้นที่พักผ่อนแสนสบายที่ตั้งคอนเซ็ปเอาไว้ว่า จุดหนึ่งเป็นสวนที่ดู “สงบ” สำหรับสมาชิกทุกคนในบ้านและอีกจุดคือสวนที่มี “ความเคลื่อนไหว” เพื่อต้อนรับขับสู้แขกผู้มาเยือน
ในจุดที่อยู่สูงที่สุดของบ้าน คือ ตรงจั่ว มีพื้นที่มากพอที่จะทำเป็นชั้นลอย หรือห้องใต้หลังคา วางบันไดพาดให้สามารถปีนขึ้นไปนั่งเล่น นอนเล่น ชมวิวท้องฟ้าผ่านช่องแสงสกายไลท์สี่เหลี่ยมผืนผ้าบนหลังคา
การออกแบบบ้านให้มีหลังคาทรงจั่วที่ความลาดชันเล็ก ๆ ผนังไม้สีน้ำตาลเข้มสลับกระจก นอกจากจะนำแสงไปยังห้องนั่งเล่น เชื่อมต่อระหว่างคน แสงแดด และสวนแล้ว ยังเป็นการแสดงตัวตนของความถ่อมตัวและการเอื้ออาทรต่อความรู้สึกร่วมกันของชุมชน ซึ่งเป็นเคาแร็กเตอร์ที่ซ่อนอยู่ในทุกพื้นที่ของญี่ปุ่น
แปลนบ้าน