ปรับปรุงต่อเติมบ้าน
การปรับปรุง/ต่อเติมบ้าน ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าหากเรารู้สึกว่าบ้านมีพื้นที่ไม่เพียงพอหรือมีสภาพเก่าไม่ไหว ก็ต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับการใช้งานและความเปลี่ยนแปลง แต่โดยมากถ้าเป็นบ้านชั้นเดียวทั่วไปก็จะเลือกต่อเติมบ้านขยายออกไปในพื้นที่ว่างด้านข้างหรือด้านหลัง จะมีส่วนน้อยที่ต่อเติมออกมาเป็นอาคารสองชั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มี เพราะเนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย”จะพาไปดูโปรเจ็คการปรับปรุงบ้านเดิมสไตล์วิคตอเรียนใน Northcote ที่เพิ่มเป็นอาคารสองชั้นต่อเติมกับบ้านเดิมที่สูงเพียงชั้นเดียว และด้วยลักษณะพื้นที่เนินความสูงไม่เท่า ทำให้บ้านบางส่วนจมลงไปข้างล่าง ส่วนสนามหญ้าและสระกลับด้านมาอยู่ข้างบนแทน
ออกแบบ : Mitsuori
ภาพถ่าย : Michael Kai
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
การต่อเติมบ้านสองชั้นใน Northcote นี้ เกิดจากความต้องการเพิ่มพื้นที่รวมตัวกันของครอบครัว เนื่องจากเป็นบ้านที่ตั้งใจจะพาเด็กๆ ให้มารวมกันทำกิจกรรมได้สนุก ๆ สถาปนิกจึงสำรวจพื้นที่ว่าจะสามารถตอบโจทย์ความคาดหวังต่อการใช้งานและรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ ของครอบครัวได้อย่างไร บทสรุปออกมาเป็นการเติมต่อตัวบ้านสองชั้นต่ออกมาด้านหลัง แล้วสร้างสะพานเชื่อมระหว่างอาคารที่มีอยู่กับสวนด้านหลังที่ลึกลงไป เพื่อรักษาความรู้สึกเปิดโล่งที่สวยงามของสวนด้านหลัง ดีไซน์อาคารชั้นบนโดดเด่นกับหลังคาเฉียงสูงเส้นสายเฉียบคม ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้เห็นตรงกันและตัดกันกับรูปทรงสุดฮิปของอาคารเก่าแก่ที่อยู่ข้างหน้า
เราอาจจะคิดว่าบ้านที่มีเนินพื้นที่รายเรียบไม่เท่าเป็นจุดด้อย แต่ไม่ใช่กับที่นี่ เพราะสถาปนิกเลือกการจัดวางฟังก์ชันต่างๆ เอาไว้ในที่ดินที่มีข้อจำกัดได้อย่างน่าสนุก ถ้าเรามองจากภาพบ้านที่เชื่อมต่อกับสนามหญ้าแบบนี้อาจจะคิดว่าอยู่ที่ชั้นล่าง แต่กลับไม่ใช่ เนื่องจากทีมงานวางตำแหน่งสำหรับพื้นที่ใช้สอยร่วมกันในชีวิตประจำวันจะรวมอยู่ที่ชั้นบน ประกอบด้วย ห้องครัว ห้องทานข้าว ห้องนั่งเล่นที่เปิดออกเชิ่อมต่อกับสนามหญ้ากว้างๆ และสระว่ายน้ำขนาดย่อม ส่วนโซนพักผ่อนส่วนตัวสงบ ๆ อย่างห้องนอนถูกจัดตำแหน่งให้อยู่ลึกลงไปที่ชั้นล่าง ทำให้ดูเหมือนบ้านนี้จะกลับหัวกับบ้านทั่วไปค่อยๆ ไล่ฟังก์ชันจากบนลงล่าง
ห้องครัวและห้องทานข้าวจัดตกแต่งในสไตลืโมเดิร์นมินิมอล เน้นการใช้ไม้อัดตกแต่งบริเวณผนังและเพดานดูอบอุ่น ตัดกันฉับกับชุดเครื่องครัวสีดำ ผนังกระจกและหลังคาที่เฉียงสูงทำให้รู้สึกถึงสเปซที่ชวนให้รู้สึกว่าบ้านกว้าง พื้นที่นี้สามารถเชื่อมต่อขยายพื้นที่บ้านออกไปยังสนามหญ้าและสระว่ายน้ำได้ง่ายๆ เหมาะสำหรับขึ้นมาใช้ทำกิจกรรมสำหรับครอบครัวในช่วงกลางวัน และยังเป็นกว้างรองรับการมาเยือนของครอบครัวญาติ ๆ เพื่อนบ้านได้อีกด้วย
ระหว่างอาคารสองด้านจะมีโถงบันไดและหลังคากระจกแนวยาว ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่แค่นำแสงธรรมชาติมาสู่ใจกลางห้องนั่งเล่นและห้องใต้ดินด้านล่างเท่านั้น แต่ยังแยกบ้านที่เป็นมรดกดั้งเดิมและส่วนร่วมสมัยของบ้านหลังนี้ออกจากกันอย่างแนบเนียน สังเกตด้านผนังอิฐสีแดงภายนอกที่มีอยู่ นั่นคือของเดิมที่ยังคงไว้เป็นฉากหลังของพื้นที่ใช้สอยใหม่ เสริมด้วยโทนสีวัสดุธรรมชาติของคอนกรีตขัดมัน หินขัด และไม้เพิ่มเข้าไป
ทางเข้าด้านข้างแบบใหม่ช่วยให้เข้าถึงพื้นที่ใช้สอยของครอบครัวได้โดยตรง และเปลี่ยนบ้านทึบ ๆ แบบเดิมให้เป็นบ้านครอบครัวแบบหลายโซน พร้อมการเชื่อมต่อที่แน่นแฟ้นระหว่างห้องนอน 2 ห้องที่อยู่ด้านล่างได้ทั้งสองด้านเช่นกัน
จากนั้นบน ค่อย ๆ เดินตามโถงบันไดลองมาชั้นล่าง ซึ่งตรงจุดนี้จะมีช่องแสง Skylight ให้ความสว่างตามวิถีธรรมชาติในช่วงกลางวัน แต่จะโดดเด่นขึ้นด้วยลำแสงไฟซ่อนแบบ indirect light ที่แผ่นกระจายออกมาจากขั้นบันไดอย่างนุ่มนวล
ห้องนอนที่เหมือนถูกฝังตัวลึกอยู่ชั้นล่าง ดูสงบเป็นส่วนตัวจากสายตาผู้คนชวนให้หลับสบาย ด้านข้างมีภูมิทัศน์สวนส่วนตัวและยังมีบันไดภายในผ่านสวน จึงสามารถเข้าถึงชั้นบนได้อีกด้านโดยที่ไม่ต้องผ่านเข้าไปด้านในการจัดโซนนิ่งในบ้านแบบนี้อาจจะดูแปลก เพราะบ้านที่เราคุ้นมักยกห้องนอนขึ้นไปอยู่ชั้นบน แต่ public space จะอยู่ข้างล่าง แต่ทุกอย่างกำหนดขึ้นมาจากการได้พูดคุย ปรึกษา ลักษณะการใช้ชีวิตและความเคลื่อนไหวที่ต้องการในบ้าน ทำให้ทุกอย่างลงตัวในแบบนี้เจ้าของบ้านชื่นชอบ
ตัวอาคารเก่าที่อยู่ด้านหน้าติดถนน สร้างจากผนังอิฐตกแต่งรายละเอียดอ่อนช้อยตามสมัยนิยม ณ ยุคนั้น ซึ่งมีความคลาสสิคคงคุณค่าให้อิ่มเอมใจ เจ้าของบ้านจึงยังคงของเดิมไว้แม้จะมีข้อจำกัด แต่ต่อเติมอย่างถ่อมตัวอยู่ข้างหลัง
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านควรมี Zoning หรือการจัดการโซนใช้งานที่ชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่แบ่งลำดับการเข้าถึงไว้คร่าวๆ แบ่งเป็น 3 โซน คือ พื้นที่ใช้งานสาธารณะ (Public Zone) ได้แก่ เฉลียง ระเบียง ชาน คอร์ทยาร์ดนอกตัวบ้าน บริเวณห้องรับแขก ส่วนต่อมาจะเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ (Semi-public Zone) ที่อาจมีคนเดินผ่านไปมาใช้งานช่วงกลางวันเป็นประจำ อาทิ ห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร รวมถึงห้องนั่งเล่น และระดับสุดท้ายเป็นโซนส่วนตัว (Private Zone) จะค่อนข้างสงบ ไม่พลุกพล่าน เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ เป็นต้น ซึ่งการใช้งานไม่จำำเป็นว่าต้องจัดห้องนั่งเล่นไว้ชั้นล่าง ห้องนอนไว้ชั้นบน แต่ละบ้านสามารถสลับตำแหน่งได้ตามความเหมาะสม และความสะดวกในการใช้งาน |