บ้านโมเดิร์นสีขาว
ตามตรรกะทางเศรษฐศาสตร์ขนาดของบ้านทั่วไปจะถูกกำหนดตามขนาดของที่ดิน (และงบประมาณ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านส่วนใหญ่ที่สร้างในเมืองใหม่จะมีแนวโน้มที่ดินเล็กลงเรื่อย ๆ เมื่อพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์ ก็อาจต้องเพิ่มพื้นที่แนวตั้งขึ้นไปเป็นบ้าน 2-3 ชั้น อย่างบ้านหลังนี้มีพื้นที่ประมาณ 54.9 ซึ่งถือว่าไม่ใหญ่ เจ้าของบ้านต้องการบ้านสำหรับครอบครัวเล็ก ๆ อยากให้มีพื้นที่ขั้นต่ำที่จำเป็นสำหรับสมาชิกในครอบครัวปัจจุบันและทำให้สามารถปลูกบ้านได้ตามการเติบโตของครอบครัว
ออกแบบ : Architects Group RAUM
ภาพถ่าย : Yoon Joonhwan
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านหลังคาจั่วสีขาวเรียบแต่เด่น
บ้านสองชั้นดีไซน์โมเดิร์นสีขาวโดดเด่นสะดุดตาจากบ้านใกล้เคียงหลังนี้สร้างที่ยางซาน ประเทศเกาหลีใต้ มีพื้นที่ 219.90 (ประมาณ 55 ตารางวา) พื้นที่ใช้สอย 164 ตารางเมตร ด้วยพื้นที่ที่ไม่มาก แต่เจ้าของต้องการบ้านที่มีความยืดหยุ่น มีที่ว่างให้เด็กได้วิ่งเล่นทำกิจกรรม สถาปนิกจึงทำองค์ประกอบทั้งหมดประกอบด้วยอาคาร 2 หลังที่เชื่อมต่อกันด้วยห้องกระจก ที่ว่างทั้งด้านหน้าและด้านหลังที่ชั้นล่าง และมีสะพานตรงกลางที่ชั้นบน ความตั้งใจของนักออกแบบคือ การแบ่งสัดส่วนใช้งานระหว่างอาคารออกตามฟังก์ชันโซนส่วนตัวและสาธารณะ เพื่อให้ใช้งานได้เต็มที่และสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้มากที่สุดโดยไม่ทำให้บ้านดูอึดอัด
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
แยกบ้าน 2 ส่วนแบ่งฟังก์ชันออกจากกัน
ด้านซ้ายของบ้านจะเป็นห้องใช้งานอเนกประสงค์ ห้องพักรับแขกและพื้นที่จัดปาร์ตี้ ซึ่งด้านหลังจะติดกับสวน ส่วนอาคารด้านขวาเป็นโรงรถ ครัว และห้องนั่งเล่น ชั้นบนเป็นพื้นที่ห้องนอน ห้องใต้หลังคาห้องนั่งเล่นสามารถขยายเป็นห้องเลี้ยงเด็ก ห้องอ่านหนังสือและห้องรับรองแขกได้ โรงรถในปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นห้อง work shop สำหรับทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบได้
คอร์ทเล็ก ๆ ให้ต้นไม้โตไปกับบ้าน
สถาปนิกให้คำนิยามหลังคาจั่วสีขาว หมายถึง เยาวชนที่เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ และยังเป็นสีพื้นฐานที่ให้ศักยภาพที่ไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนโรงรถจะเห็นว่าผนังเป็นคอนกรีตดิบ ๆ สีเทา ซึ่งสถาปนิกทำระแนงช่วยบังแสงเอาไว้ และข้าง ๆ เว้นช่องว่างเล็ก ๆ เอาไว้จัดสวนให้ดูเป็นส่วนเดียวกันกับบ้าน ต้นไม้ที่ปลูกนี้อายุเท่าเด็ก ๆ ดังนั้นพื้นที่นี้จึงกลายเป็นสถานที่ที่เติบโตไปพร้อมกับสมาชิกในบ้าน
บ้านมี 2 ชั้นแถมห้องใต้หลังคาให้อีก 1 ชั้น เป็นการเพิ่มพื้นที่ใช้งานพื้นที่ขึ้นไปในแนวตั้ง เผื่อจำนวนสมาชิกที่มากขึ้นหรือการเพิ่มฟังก์ชันใช้งานอื่น ๆ เข้ามา ภายในยังไม่ได้ตกแต่งอะไรมาก ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ มีเพียงการจัดแปลนห้องและพื้นที่ใช้งานส่วนต่าง ๆ ให้โล่งดูมีความเชื่อมต่อ ผนังและเพดานใช้สีขาวเป็นหลักตัดด้วยพื้นที่ปูด้วยวัสดุลายไม้มีเข้ม ทำให้พื้นโดดเด่นขึ้นมากจากสีขาว
รับแสงและวิวได้ตามช่องเปิด
อีกองค์ประกอบของบ้านที่น่าสนใจคือ ช่องแสงและช่องลม ประเทศเกาหลีมีสภาพอากาศหนาวจัดในฤดูหนาว บ้านโบราณจึงมักทำด้วยดินและมีช่องแสงน้อยเพื่อเก็บอุณหภูมิในบ้านให้อุ่น แต่หากขาดแสงจะทำให้ดูบรรยากาศอึมครึมและชื้น สถาปนิกจึงแก้ไขด้วยการวางตำแหน่งกระจายอยู่ทั่วผนัง ทำให้รับแสงเข้าสู่ภายในได้ตามต้องการ และยังสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวภายนอกในมุมมองที่แตกต่างด้วย
ห้องนอนใต้หลังคาที่เชื่อมต่อกับส่วนอื่น ๆ บ้านช่องเปิด ที่ทำหน้าที่ช่วยระบายอากาศด้วย บริเวณหลังคามี skylight ทำให้โซนนี้ไม่ขาดแสง เป็นการลบข้อด้อยของห้องใต้หลังคาได้อย่างดี
ดาดฟ้าที่มองจากด้านนอกจะเห็นว่าเหมือนหลังคาถูกเจาะให้เป็นช่อง ส่วนนี้ปูพื้นด้วยไม้สำหรับใช้ภายนอกที่ทนทานสภาพอากาศและลานกรวดช่วยรับและซับน้ำฝน ซึ่งต้องมีการออกแบบการรองรับน้ำฝน ระบบกันชื้น เอาไว้ให้เรียบร้อย
ด้านหลังบ้านจะมีประตูกระจกเรียงยาวเปิดออกเชื่อมต่อคอร์ทยาร์ดที่ค่อนข้างกว้างให้เด็ก ๆ วิ่งเล่นได้สบาย ที่ว่างที่แทรกระหว่างอาคารเหล่านี้ทำให้บ้านมีช่องทางให้หายใจ บ้านไม่ถูกบีบอัดด้วยอาคารจนรู้สึกอึดอัด เหนือที่ว่างจะเห็นแนวกรอบคอนกรีตที่ช่วยกำหนดขอบเขตของสนามขนานไปกับรั้วทำให้ดูเป็นส่วนเดียวกัน
บรรยากาศในช่วงค่ำเมื่อเปิดไฟส่องสว่างตามจุดต่าง ๆ แสงที่ส่องลอดออกจากหน้าต่างใส ๆ และไฟที่ประดับบนผนังสีขาวจะขับส่องให้บ้านมีมิติขึ้น เกิดความรู้สึกที่แตกต่างจากเวลากลางวันอย่างสิ้นเชิง
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านสไตล์โมเดิร์นแบบหลังคาจั่ว ที่ออกแบบให้ผนังและหลังคาติดกันเป็นผืนเดียว ไม่มีชายคา ไม่มีกันสาด อาจจะดูสวยงามแบบมินิมอลน้อย ๆ ไม่มีรายละเอียดส่วนเกินให้ดูรกตา แต่ถ้านำมาสร้างในเขตร้อนชื้นอย่างบ้านเราก็อาจต้องแลกมาด้วยความทรุดโทรมของผนังที่เร็วขึ้น เพราะเมืองไทยมีฤดูมรสุม ลมแรง ฝนแรง เมื่อไม่มีกันสาดผนังจะรับความชื้นได้มากขึ้น จึงเปรอะเปื้อนและเกิดคราบราดำได้เร็ว หากต้องการสร้างจิง ๆ ควรปรึกษาสถาปนิกเพื่อป้องกันปัญหาไว้ก่อน เช่น วิธีการซ่อนรางน้ำฝน การใช้กรุผนังด้วยวัสดุทนชื้นภายนอกทับผนังคอนกรีต หรือการเคลือบพื้นผิวอาคาร เป็นต้น |