จัดพื้นที่ทำสวน ปลูกผักในบ้านทาวน์เฮาส์
การขาดแสงสว่างในบ้านทาวน์เฮาส์เป็นปัญหาที่ “ปวดหัว” สำหรับเจ้าของบ้านและสถาปนิกเสมอ ไม่ว่าประเทศไหนๆ ก็มีประสบการณ์เดียวกัน นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่สำหรับทำสวน ปลูกผัก สำหรับคนที่มีใจรักธรรมชาติ โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่เคยอยู่ในชนบทมีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมมาก ๆ หากอยู่ในบ้านทรงกล่องไม่มีบริเวณอาจอยู่บ้านแบบเฉาๆ แต่ปัญหาเราแก้ได้ด้วยการจัดสัดส่วนการใช้งานอย่างรอบคอบ เหมือนเช่นทาวน์เฮาส์หลังนี้ที่ลูกชายมอบให้กับพ่อแม่ของเขาในบ้านเกิด เป็นบ้านที่ตั้งใจให้พ่อแม่ใช้ชีวิตในวัยเกษียณอย่างสบายและปลอดภัย ไม่ต้องกังวลกับพายุฤดูร้อนในพื้นที่ภาคกลางที่ค่อนข้างรุนแรง ในท่ามกลางความทันสมัยของอาคารก็ไม่ลืมที่จะแบ่งพื้นที่ปลูกพืชผักต้นไม้ด้วย
ออกแบบ : Nha Dep Quang Nam
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ทาวน์เฮาส์ 2 ชั้นขนาด 216 ตร.ม. ตั้งอยู่ในเมืองตัมกี จังหวัดกว๋างนาม ประเทศเวียดนาม ได้รับการออกแบบในโทนสีเรียบ เทา เบจ และไม้ ตามที่สถาปนิก Tran Nguyen Tuong กล่าวไว้คือ “สร้างความรู้สึกสมดุลให้กับเจ้าของ” โดยมีความน่าสนใจอยู่ที่การใส่ฟาซาดบนชั้นสอง ที่สามารถเปิดปิดได้อย่างยืดหยุ่นเพื่อสร้างพื้นที่ส่วนตัว จำกัดเสียงรบกวน และฝุ่นละอองจากถนน แต่ภายในบ้าน อากาศถ่ายเทสะดวกมาก ระบบประตูไม้ชั้น 2 นี้ มีผลช่วยบังแดดอาคารด้านทิศตะวันตกและช่วยสร้างจุดเด่นให้กับบ้าน แม้รูปทรงของบ้านเป็นทรงสี่เหลี่ยมแต่ก็ไม่แข็งกระด้างด้วยประตูกระจก สีอ่อน ๆ และต้นไม้เขียวขจีที่จัดไว้ตามกรอบของบ้าน
ลานกว้างหน้าบ้านเป็นกันชนป้องกันฝุ่นควัน และในขณะเดียวกันก็เป็นที่ที่ผู้สูงวัยในบ้านสามารถปลูกต้นไม้ได้ตามชอบใจ
ที่ทางเข้าจากประตูหลักจะมีตู้รองเท้าและพื้นที่สำหรับเปลี่ยนรองเท้ากอ่นเข้าสู่ตัวบ้าน ตรงจุดนี้จะทำคล้ายๆ เก็นคัง ของญี่ปถ่น หรือก็คือบริเวณทางเข้าบ้าน ที่มีลักษณะเป็นห้องเล็ก ๆ ใช้จัดเก็บ หรือเปลี่ยนจากรองเท้านอกบ้านเป็นรองเท้าใส่ในบ้านเพื่อความสะอาด แบ่งพื้นที่เปลี่ยนรองเท้ากับบ้านด้วยการยกพื้นขึ้นเล็กน้อย และตรงจุดนี้จะผนังอิฐแก้วเพื่อรับแสงจากบันไดด้านหลัง
ห้องนั่งเล่นตกแต่งอย่างเรียบง่ายแต่มuความทันสมัย ที่โดดเด่นที่สุดคือโซฟาหนังวัวสีน้ำตาลธรรมชาติบนพื้นหลังสีเทากลางๆ ของอาคาร และโต๊ะกลางมุมมนท็อปสีดำสะดุดตา สถาปนิกจำกัดรายละเอียดที่ไม่จำเป็นเพื่อขยายพื้นที่ใช้งานภายในให้กว้างขึ้น โดยไม่มีผนังแบ่งกั้นทำให้เกิดความรู้สึกลื่นไหล สามารถรับแสงธรรมชาติได้เต็มที่จากหน้าต่างบานใหญ่ด้านข้างนำแสงสว่างมาสู่ห้องนั่งเล่น
ถัดมาเป็นส่วนครัว-พื้นที่รับประทานอาหารของครอบครัวที่เป็นแบบเปิด พร้อม Kitchen Island ที่เป็นทั้งส่วนเตรียมอาหารและเป็น “ฉากกั้น” แบ่งพื้นที่ ห้องครัวสะอาดและกว้างขวางด้วยโทนสีขาว Islandได้รับการออกแบบให้มีอ่างล้างจานขนาดกะทัดรัดสำหรับใช้ล้างแก้ว ถ้วย จานขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีลิ้นชักซ่อนออกแบบให้เก็บของใช้ในครัวได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยดูไม่เกะกะ
เหนือโต๊ะทานข้าวจะเป็นโถงสูงเชื่อมต่อแนวตั้งขึ้นไปที่ชั้นบน ซึ่งนอกจากจะทำให้บ้านมีความใกล้ชิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้นง่ายขึ้น การหมุนเวียนของอากาศระหว่างชั้นทำได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ตรงจุดนี้ยังมีช่องแสง skylight ขนาดใหญ่ที่ดึงแสงธรรมชาติเข้าสู่บ้านให้แสงสว่างเพียงพอในช่วงกลางวัน ลดปัญหาการขาดแสงในอาคารได้ดี ทั้งนี้สถาปนิกใช้เหล็กดัดเป็นลวดลายใบใม้ติดตั้งไว้อีกชั้น เพื่อเป็นเครื่องกีดขวางไม่ให้แสงแดดส่องเข้ามาในบ้านมากเกินความจำเป็นจนทำให้บ้านร้อน
บันไดทางขึ้นชั้น 2 ของอาคารเป็นบันไดลูกนอนไม้ โครงเหล็กทาสีดำโปร่งๆ ไม่มีลูกตั้ง มีส่วนช่วยให้แสงและอากาศเคลื่อนที่ตามช่องว่างเหล่านี้ได้ดีขึ้นด้วย
ห้องนอนบนชั้น 2 มีการออกแบบที่สะดวกสบาย สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดคือระเบียงกว้างขวางพร้อมทิวทัศน์บริเวณที่อยู่อาศัย ซึ่งบริเวณนี้จะตรงกับส่วนของฟาซาดบานเหล็กกรุไม้เป็นซี่ๆ ที่อนุญาตให้แสงและลมผ่านเข้ามาได้ เมื่อต้องการเปิดรับบรรยากาศภายนอกก็เพียงแค่เปิดออก แต่ภายในนั้นจะมีหน้าต่างกระจกบานเลื่อนอยู่ด้านในอีก 1 ชั้น เพื่อป้องกันฝุ่นละออง ควัน และเสียง
ห้องบูชาอยู่ที่ชั้น 2 แยกออกมาจากโซนอื่นๆ ของบ้าน ทำให้ไม่รู้สึกขัดแย้งกับภาพรวมของบ้านที่ค่อนข้างทันสมัยเท่าไหร่นัก บริเวณนี้จะตกแต่งกรอบพื้นที่ด้วยไม้แกะสลัก ดูสง่างามและเรียบร้อย
ห้องน้ำรวมบนชั้น 2 ตกแต่งด้วยผนังอิฐแก้วหลังส่วนชักโครก เพื่อให้ความรู้สึกถึงแสงสว่างและให้ความเป็นส่วนตัวในเวลาเดียวกัน
ที่ด้านหลังจะมีประตูเหล็กนำไปสู่พื้นที่ทำสวนผักเขียวชอุ่ม ทำให้เจ้าของยังคงทำกิจกรรมที่ชอบและคุ้นเคยได้ โครงการบ้าน Hung House นี้จึงไม่ใช่แค่การออกแบบที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความรักของลูกที่มีต่อพ่อแม่ ด้วยการเน้นการออกแบบพื้นที่ให้อยู่สบายและเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุไปพร้อมกัน
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : อย่างที่ทราบกันดีว่า “แสง” เป็นปัญหาที่พบมากในทาวน์เฮาส์ เพราะผนังทั้งสองด้านมักติดกับบ้านหลังอื่น ทำให้ไม่มีพื้นที่รับแสวด้านข้างเพียงพอ การออกแบบสกายไลท์บนหลังคาและเอเทรียม หรือพื้นที่โถงสูงจึงเป็นโซลูชันยอดนิยมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายโครงการ ทั้งนี้จุดที่ติดตั้งช่องแสงจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ ตลอดจนทำเล การออกแบบ และการวางผังบ้าน ที่ต่างกันออกไป แต่โดยมากจะมีการออกแบบ skylight บริเวณกลางบ้านส่วนบันได ส่วนหลังบ้าน หรือในโซนครัว เพื่อให้พื้นที่กว้างขวางและสว่างโล่งมากขึ้น
|
แปลนบ้าน