เมนู

บ้านหลังคาจั่ว ใส่มุมโปรดที่ชิดใกล้ธรรมชาติ

บ้านสไตล์ธรรมชาติ

บ้านหลังคาจั่วสไตล์ญี่ปุ่น

สำหรับคนที่มองหาบ้านที่อยู่แล้วรู้สึกได้ถึงความโปร่งสบาย ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนก็สงบผ่อนคลายน่านั่งน่านอนไปหมด น่าจะชื่นชอบบ้านในญี่ปุ่นหลังนี้ ซึ่งออกแบบมาอย่างเรียบง่ายด้วยเส้นสายเรขาคณิตที่คมชัด สิ่งที่โดดเด่นท่ามกลางความเรียบง่ายคือ ช่องเปิดขนาดใหญ่ที่ทำให้บ้านดูโล่งกว้าง ชานนั่งเล่นสบาย ๆ และหลังคาจั่วสูงที่ไม่มีฝ้าเพดานปิดทึบ รอบ ๆ บ้านมีต้นไม้ใบเขียวน้อยใหญ่ให้ความร่มรื่น ทำให้บ้านเต็มไปด้วยสภาวะสบาย จะนั่งเล่นในบ้านหรือนอกบ้านบรรยากาศก็แทบจะไม่ต่างกัน

ออกแบบHiroki Tominaga Atelier
ภาพถ่ายTakumi Ota
เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านหลังคาจั่วโมเดิร์น

บ้านหลังคาจั่วที่มีธรรมชาติห้อมล้อม

บ้านทุกหลังอย่างน้อยก็ควรจะมีมุมพักผ่อนมุมโปรดไว้ไม่จุดใดก็จุดหนึ่ง แต่ในบ้านชั้นเดียวหลังคาทรงหน้าจั่วขนาด 70.92 ตารางเมตร ในญี่ปุ่นหลังนี้มาพร้อมกับมุมพักผ่อนทั้งนอกบ้านและในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นตรงชานเล็กๆ ที่ยกสูงจากพื้นเล็กน้อย มุมพักผ่อนที่หน้าต่าง หรือม้านั่งยาวในบ้าน ผนังภายนอกใช้สีขาวเรียบๆ ตัดกรอบด้วยสีน้ำตาลเข้ม หลังคาเลือกใช้สีเทาให้ความรู้สึกนิ่งเรียบ จัดมุมหน้าบ้านเป็นสวนหินมีต้นไม้ใบเขียวหลากเฉดล้อมรอบจึงนั่งพักได้อย่างสบายใจ

กรอบหน้าต่างใหญ่ ๆ มีพื้นที่นั่งเล่น

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

“ข้างหน้าต่าง” ใช้งานได้มากกว่าเป็นช่องทางรับแสงและระบายอากาศ เพราะมักจะเป็นมุมที่ให้วิวที่ดี การทิ้งพื้นที่นี้ให้ว่างเปล่า หรือใช้เพียงวางตู้ วางโซฟา จะลดคุณประโยชน์จากจุดนี้ไปอย่างน่าเสียดาย สถานปนิกจึงใช้พื้นที่ให้เต็มประสิทธิภาพ ด้วยการทำกรอบหน้าต่างคอนกรีตรูปร่างสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่พิเศษกรุทับด้วยไม้ ซึ่งกว้างพอที่จะมานั่งพักผ่อนอ่านหนังสือ ทานขนม นอนเล่นชมสวนได้อย่างแนบชิด

แพนทรีเตรียมอาหาร

ไม้และโทนสีขาวเพิ่มความสบายตา

บ้านในญี่ปุ่นที่ผูกพันกับธรรมชาติ วัสดุหลักที่ขาดไม่ได้คือไม้จริงที่ให้สีและลวดลายที่แตกต่างกันไปตามธรรมชาติ พื้นบ้านปูด้วยไม้เซลโคว่าญี่ปุ่น (zelkova) สีอ่อน ๆ ตัดกับกรอบประตูไม้สีน้ำตาลเข้ม เสาทำจากต้นสน cypress ส่วนผนังในบ้านใช้สีขาวเพื่อให้แสงส่องสะท้อนภายในเพิ่มความเบาสบายและสะอาตตา ซึ่งการจับคู่สีและวัสดุแบบนี้ถือเป็นท่าไม้ตายของการออกแบบบ้านยุคใหม่ในญี่ปุ่น

ฝ้าเพดานกรุไม้

ภายในออกแบบแปลนโปร่งโล่งแบบ Open Plan เหมือนบ้านสไตล์โมเดิร์นอื่น ๆ ที่เชื่อมต่อสเปซส่วนรวมให้เป็นเหมือนห้องโถงยาวตลอดแนวอาคาร รวมห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร และห้องนั่งเล่นเข้าไว้ด้วยกันในจุดเดียว โดยใช้เฟอร์นิเจอร์เป็นตัวกำหนดขอบเขต  ซึ่งทำให้บ้านมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน ส่วนเพดานตรงกลางเป็นจั่วแหลม เปิดเป็นโถงสูงโชว์คานไม้และฝ้าไม้ที่ตามแนวลาดเอียงของหลังคาบ้าน เมื่อแหงนมองขึ้นไปจะรู้สึกว่าห้องเบาลอยและยิ่งมีมิติของพื้นที่ที่มากขึ้นแต่ไม่รู้สึกเวิ้งว้างจนเกินไป

บ้านชั้นเดียวโถงสูงมีชั้นลอย

โถงสูงให้แสงและอากาศไหลได้ดี

ผนังด้านข้างติดหน้าต่างประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่เปิดเชื่อมต่อกับระเบียงทางเดินนอกบ้าน ประตูที่เปิดออกได้กว้างทำให้บ้านได้รับทั้งแสงธรรมชาติและลมให้ไหลเข้ามาหมุนเวียนภายในได้สะดวก ช่องแสงในบ้านไม่ได้อยู่ตรงประตูและหน้าต่างด้านข้างผนังเท่านั้น ตรงส่วนจั่วก็ติดกระจกเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ ทำให้บ้านเปิดรับแสงทิตย์ที่สาดส่องเข้ามาจากด้านบนได้อีกช่องทางหนึ่ง จากจุดนี้จะเห็นต้นไม้ในสวนที่อยู่ทางทิศใต้ ซึ่งทำให้ผู้อยู่อาศัยยังได้รับความสดชื่นจากสวนแม้ว่าม่านตรงประตูกระจกที่เชื่อมต่อกับสวนจะถูกปิดก็ตาม

ม้านั่งบิวท์อินยาวติดหน้าต่าง

แม้จะใช้ชีวิตอยู่ในบ้านก็ไม่ขาดสวน ในวันที่ฝนฟ้าไม่เป็นใจให้ออกไปนั่งเล่นข้างนอก ก็ยังรับทัศนียภาพธรรมชาตได้จากม้านั่งบิวท์อินที่ติดกับช่องกระจกขนาดใหญ่

ช่องแสงตรงจั่วบ้าน

การเจาะช่องว่างระหว่างพื้นถึงเพดาน Double Space แบบนี้จะช่วยให้บ้านโปร่งและสบายขึ้น เพราะอากาศร้อนลอยตัวขึ้นสู่ที่สูงและไหลออกตามช่องทางระบายความร้อนได้ง่าย ทำให้บ้านไม่เก็บสะสมความร้อนอยู่ภายใน สำหรับการออกแบบให้หลังคาสูงกว่าปกติยังเอื้อต่อการปรับปรุงเพิ่มห้องพัก ซึ่งจะวางแผนทำได้ง่ายหากมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น

ประตูโชจิบานไม้เป็นช่อง ๆ

ประตูโชจิบานเลื่อน

ประตูโชจิ เอกลักษณ์ที่บ้านญี่ปุ่นไม่ลืม

เอกลักษณ์แบบญี่ปุ่นที่บ้านโมเดิร์นยุคใหม่หลายๆ หลังยังหยิบจับมาใช้งานคือ ประตูบานเลื่อนโชจิ ประตูเลื่อนแบบญี่ปุ่นที่ตีเป็นช่องๆ แล้วแปะกระดาษสาขาวๆ บางๆ  เพื่อใช้ป้องกันห้องที่ปูเสื่อทาทามิไม่ให้โดนแสงแดดมากเกินไป ในขณะเดียวกันแสงก็ยังผ่านได้บ้างจึงไม่ทำให้ห้องมืด แต่ปัจจุบันหลายๆ บ้านเปลี่ยนจากการใช้กระดาษที่ไม่ทนทานต่อการใช้งาน มาเป็นวัสดุโปร่งแสงที่ให้เอฟเฟ็กต์และบรรยากาศที่ใกล้เคียงกันแทน

คานและฝ้าเพดานโปร่ง ๆ

แผ่นฝ้าเพดานเหนือส่วนที่เป็นห้อง จะใช้กรอบไม้สีน้ำตาลเข้มกรุข้างในเป็นลวดลายต่างๆ แปะทับด้วยวัสดุโปร่งแสง ทำให้ยังรู้สึกถึงความโปร่งสว่างไม่มืดทึบ

ตู้ไม้บิวท์อิน

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : สำหรับบ้านแบบใหม่ๆ ในไทย เราจะเห็นว่าแทบทุกแบบหลังคาจะนิยมปิดฝ้าทึบเพื่อความเรียบร้อย และเจาะช่อง service ขนาดประมาณ 50*50 เซนติเมตร สำหรับให้ช่างขึ้นไปดูแลซ่อมแซมระบบไฟหรืออื่น ๆ ที่ซ่อนใต้ฝ้า แต่ข้อเสียของการปิดฝ้าแบบนี้คือ หากไม่มีช่องทางระบายความร้อนออกไปตรงจุดนี้จะกลายเป็นพื้นที่เก็บความร้อนขนาดใหญ่ เพราะเป็นส่วนที่รับความร้อนโดยตรงจากหลังคา การเปิดเพดานโล่งจะช่วยให้บ้านโปร่งและสบายขึ้น

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด