เมนู

ECO House บ้านประหยัดพลังงาน คิดมาอย่างดีเพื่อการอยู่อาศัย

บ้านและสวน

Nivim เป็นชื่อของโปรเจ็คสร้างบ้านหลังแรกในเมืองกัว ประเทศอินเดียที่ได้รับการจัดอันดับอาคารสีเขียวระดับเหรียญทอง ที่ได้รับการรับรองโดย IGBC – Indian Green Building Council ในเดือนพฤศจิกายนปี 2013 บ้านนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาพื้นที่ 1,025 ตารางเมตร ก่อนที่จะสร้างบ้านที่นี่มีต้นไม้อยู่ก่อนแล้วมากมายหลายพันธุ์มีทั้งไม้ผล ไม้ยืนต้น อาทิ ต้นขนุนที่โตเต็มที่ ต้นมะม่วง ต้นมะขามและบรรดาต้นไม้พื้นเมืองที่สูงกว่า 15 เมตร การออกแบบของบ้านจึงต้องกันพื้นที่ให้ต้นไม้เติบโตต่อไปเป็นส่วนหนึ่งของบ้านได้โดยที่ไม่ต้องตัดทิ้ง ส่วนต่าง ๆ ในบ้านจะน่าสนใจอย่างไรบ้าง ลองเข้าไปชมด้วยกันครับ

ออกแบบ : Architecture R/T
เนื้อหาบ้านไอเดีย

คลิกที่ภาพใดๆ เพื่อรับชมภาพขนาดใหญ่

สิ่งที่น่าสนใจในบ้านหลังนี้ คือการคิดมาอย่างดีในการวางแผนการทำงานเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ตั้งแต่การออกแบบบ้าน ในระหว่างการก่อสร้างก็ลดระดับการใช้พลังงานและทรัพยากร โดยใช้วัสดุท้องถิ่นเป็นหลัก และเลือกวัสดุที่รีไซเคิลได้ ขณะเดียวกันก็พยายามลดของเสียในระหว่างการดำเนินงานสร้างบ้านให้น้อยที่สุด ใช้น้ำเท่าที่จำเป็น ตัวบ้านใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ มีระบบการรีไซเคิลและนำน้ำฝนและน้ำผิวดินมาใช้ใหม่ นอกจากประหยัดพลังงาน ประหยัดเงินแล้ว ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย

แต่ละอาคารจะดูเป็นธรรมชาติ เปิดโปร่ง ๆ เหมือนศาลาที่รับลมได้เต็มที่ มีต้นไม้ มีน้ำ ทำให้บ้านร่มรื่นเย็นสบาย

ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่มาก่อนไม่ได้ตัดทิ้ง แต่เจาะช่องครอบต้นไม้เอาไว้ให้ต้นไม้เหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน

ตัวบ้านออกแบบมาให้ผนังสองด้านของแต่ละห้องสามารถเปิดกว้างได้เต็มผนัง ทำให้ห้องพักกลายเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์โดยรอบ ติดฟาซาดบานชัตเตอร์เอาไว้รอบตัวบ้าน ให้เป็นตัวช่วยที่ดีในการปิดบังเติมความเป็นส่วนตัว ช่วยกรองแสง ในขณะที่ยังพอรับลมได้ ห้องนอนแต่ละห้องได้รับการออกแบบให้คล้ายศาลาในสวน ที่มีระเบียงส่วนตัวและพื้นที่สีเขียว เช่นเดียวกับห้องน้ำขนาดใหญ่ที่ดูกว้างกว่าห้องน้ำทั่ว ๆ ไป เป็นห้องอาบน้ำแบบเปิดที่จะดึงเอาธรรมชาติเข้าสู่ภายในได้เต็มที่ ส่วนที่เหลือก็ถูกออกแบบให้แวดล้อมด้วยสนามหญ้าและสวนหย่อมที่จัดเอาไว้เป็นจุด ๆ

ตัวอาคารสร้างขึ้นโดยใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน ไม้ วัสดุใหม่อื่น ๆ ที่ทำจากวัสดุเหลือทิ้งนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น อิฐทำจากเถ้าลอย (fly-ash bricks) เป็นต้น พื้นที่สร้างบ้านจะมีเนินเขาอยู่ฟากหนึ่งซึ่งได้รับการเก็บรักษาไว้โดยไม่ปรับหน้าดิน แต่ใช้วิธีการสร้างอาคารตามความลาดชันของพื้นที่ ในท้องถิ่นหินบะซอลต์อยู่มากเมื่อนำมาสร้างผนังแบบไม่ต้องฉาบทับ จะดูผสมผสานกันได้ดีกับภูมิทัศน์โดยรอบที่เต็มไปด้วยดิน หิน  ศิลาแลง นอกจากจะได้ความกลมกลืนแล้วยังช่วยเรื่องการควบคุมอุณหภูมิเป็นฉนวนลดความร้อนให้บ้านได้เป็นอย่างดี

การทำช่องเปิดกว้าง ๆ และการจัดบ้านให้โปร่งโล่งมีผนังน้อย ๆ แบบ open plan ช่วยให้การระบายความร้อนตามธรรมชาติทำได้ดี และรับแสงเข้าสู่อาคารได้ในปริมาณที่เหมาะสมในช่วงเวลากลางวัน ลดการใช้ระบบแสงเทียมและเครื่องปรับอากาศ กระเบื้องเผาที่ใช้เป็นวัสดุมุงหลังคายังช่วยสะท้อนความร้อนของดวงอาทิตย์ ลดผลกระทบจากความร้อนและมีประสิทธิภาพช่วยในการการดูดซึมความร้อนจากหลังคา

พื้นที่นั่งเล่นเอาท์ดอร์ ชมสวน ชมวิว รับความสบายจากต้นไม้และสระน้ำ มีอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในบ้าน ทั้งชั้นล่างและชั้นบน

ห้องนอนผนังหินเชื่อมต่อกับทิวทัศน์ภายนอก ประตูเปิดได้กว้างเต็มผนังทั้งสองด้าน ความโปร่งโล่งทำให้ห้องนอนเป็นศาลากลางสวน ผนังติดกระจกใสช่วยเบลอขอบเขตระหว่างภายในกับภายนอกและดึงเอาธรรมชาติเข้าสู่ภายในได้เต็มที่ได้เป็นอย่างดี แม้จะเต็มไปด้วยผนังกระจกแต่ไม่ร้อน เพราะด้านบนติดระแนงไม้ช่วยกรองแสง ส่วนด้านล่างมีบานชัตเตอร์อีกชั้นและปลูกต้นไม้รอบ ๆ ช่วยบังแสง

ห้องน้ำและห้องอาบน้ำเอาท์ดอร์ คงคอนเซ็ปความใกล้ชิดกับธรรมชาติ ด้วยการเลือกสรรวัสดุที่ดูกลมกลืนกับภูมิทัศน์โดยรอบ เปิดโล่งให้สัมผัสกับสายลมแสงแดดเต็มที่ สร้างความผ่อนคลายแสนสบายในพื้นที่ส่วนตัว

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด