เมนู

Niwa House อยู่สงบอย่างญี่ปุ่นในออสเตรเลีย

เล่นระดับพื้นภายในบ้าน

ต่อเติมบ้านเก่าผสมความเป็นญี่ปุ่นในโซนใหม่

ความประทับใจเมื่อไปได้ไปใช้ชีวิตในต่างแดน บางครั้งก็สามารถกลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างบ้านได้ ยิ่งถ้ามีจุดร่วมบางอย่างที่คล้ายกันก็ทำให้การประยุกต์ง่ายขึ้น อย่างเช่นสภาพภูมิอากาศของ Highgate Hill รัฐควีนส์แลนด์ มีความสัมพันธ์กับปรัชญาการออกแบบของญี่ปุ่นที่ใช้ชีวิตแบบเปิดกว้างร่วมกับธรรมชาติ เจ้าของบ้านที่เคยใช้เวลาส่วนใหญ่ในญี่ปุ่น จึงต้องการบ้านที่ล้อมรอบด้วยความสงบและโอบรับองค์ประกอบทางธรรมชาติ ให้รู้สึกว่าชีวิตได้รับการเยียวยาในทุก ๆ วัน สถาปนิก John Ellway จึงเปลี่ยนบ้านเก่าให้สะท้อนไลฟ์สไตล์ที่ต้องการ ขณะเดียวกันก็รักษาเอกลักษณ์และเสน่ห์ดั้งเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ออกแบบ: John Ellway
ภาพถ่ายToby Scott
เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านหลังปรับปรุง

niwa house คือชื่อของบ้านหลังนี้ มาจากคำภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า “สวนหรือลานบ้าน” ก่อนการปรับปรุงต่อเติม บ้านสภาพค่อนข้างเก่าเพราะสร้างมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1900 แม้จะมีพื้นที่นั่งเล่นขนาดใหญ่ แต่สวนหลังบ้านกลับไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์และถูกตัดขาดกับตัวบ้าน เพราะอาคารเดิมสูงกว่าสวนถึง 2.5 เมตร แบะยังถูกล้อมด้วยห้องต่างๆ  ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคปิดช่องทางระบายอากาศ ทำให้ห้องนั่งเล่นหลักมืด นอกจากนี้ยังตัดเส้นทางลมทั้งหมด ทำให้บ้านโดยเฉพาะห้องครัวที่อยู่ทิศตะวันตกร้อนเหลือทนในฤดูร้อน ทีมงานจึงต้องทำการปรับปรุงและต่อเติมอย่างมีกลยุทธ์

บ้านก่อนปรับปรุง

ภาพบ้านเดิมก่อนปรับปรุง อาคารสร้างเต็มพื้นที่ดูปิดทึบทุกด้าน อาคารที่ต่อเติมในช่วงปี 1950 (ทางด้านขวามือ) ถูกรื้อออกเพื่อสร้างส่วนต่อเติมใหม่

ระหว่างการปรับปรุงต่อเติมบ้าน

ต่อเติมบ้านบนเนินสไตล์ญี่ปุ่น

เจ้าของบ้านทำบรีฟที่ชัดเจนเพื่ออธิบายว่าพวกเขาต้องการใช้ชีวิตอย่างไร นั่นคือ ต้องการห้องในร่มที่เหมือนเป็นเฉลียง สามารถเปิดประตูกว้างๆ ขยายพื้นที่สู่สวนได้เต็มที่ มีครัวแบบเปิดและโต๊ะรับประทานอาหารสำหรับ 8-10 คน (ขยายได้ถึง 15 คนสำหรับวันที่มีปาร์ตี้) ห้องสำหรับแขก พื้นที่สำหรับ work from home และทำงานอดิเรกต่างๆ เช่น งานไม้ เย็บผ้า อ่านหนังสือ เล่นดนตรี และทำสวนได้

ทางเดินในสวน

งานนี้ดูเหมือนจะยากเพราะพื้นที่เป็นเนินลาดเอียง แต่สถาปนิก John Ellway ที่ถนัดการออกแบบบ้านลักษณะนี้ ก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเพียงไม่กี่ขั้นตอน  โดยใช้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ที่มีอยู่ เริ่มจากการรื้อสิ่งต่อเติม เพื่อสร้างสวนใหม่ที่เชื่อมต่อกับห้องนั่งเล่นในบ้านเดิม เปลี่ยนห้องครัวเดิมเป็นห้องนอนที่สาม ตามมาด้วยห้องครัวและพื้นที่รับประทานอาหารใหม่ที่ค่อยๆ ไหลตามแนวที่ดินลงไปบรรจบกับสนามด้านหลัง รวมเพิ่มพื้นที่ในบ้านที่เพิ่มมาเพียง 30 ตร.ม. เท่านั้น

เฉลียงนั่งเล่นติดกับสนามหญ้า

ผนังตะแกรงเหล็กสีดำโปร่งๆ

ทางเข้าใหม่ด้านทิศตะวันออก ช่วยให้สามารถเข้าถึงตัวบ้านได้โดยตรงไปยังลานภายใน ซึ่งจะมีทางเดินไม้ระแนงนำทางไปยังห้องนั่งเล่นพื้นไม้สีอ่อนๆ ตกแต่งโคมไฟกระดาษสีขาว ให้บรรยากาศความเป็นญี่ปุ่นตั้งแต่แรกเข้า

ห้องนั่งเล่นเปิดกว้างเชื่อมต่อกับลานกลางบ้าน

ห้องนั่งเล่นเปิดกว้างเชื่อมต่อลานสวน
พื้นที่ภายในหลายแห่งทาสีดำ สิ่งนี้ช่วยตอกย้ำความร่มรื่นของการตกแต่งภายในตัดกับสีขาว และขับเน้นความเรียบของคอนกรีตเปลือยให้เด่นชัด อีกทั้งยังเป็นการเปลี่ยนจากความมืดไปสู่แสงสว่างแล้วดึงดูดสายตาไปที่สวน การเชื่อมต่อกับสวนได้รับการจัดการอย่างรอบคอบโดยการปรับความลาดเอียงของหลังคาที่ต่อเติมใหม่ เพื่อให้มองเห็นทิวทัศน์จากห้องนั่งเล่นลงไปที่ห้องครัวและสวนที่อยู่ไกลออกไป และยังมองเลยออกไปยังเนินเขาที่อยู่ใกล้เคียงได้อีกด้วย

หลังคาเฉียงสูงมี skylight และบันไดปูนเปลือย

ผนังที่เปิดออกได้กว้าง หลังคาวัสดุโปร่งใส ทำให้ห้องพักทั้งเก่าและใหม่ได้รับแสงส่องลึกเข้าไปในพื้นที่ที่เคยมืดก่อนหน้านี้ เหนือลานสวนมีตาข่ายลายตารางสีบรอนซ์ ช่วยเสริมให้ส่วนนี้เป็นพื้นที่ที่สวยงามในการมอง และยังมีหน้าที่ช่วยป้องกันแมลง เพิ่มความปลอดภัย และช่วยให้ครอบครัวเปิดประตูและหน้าต่างทิ้งไว้ เพื่อการระบายอากาศตามธรรมชาติได้ตลอดทั้งปี

ผนังบ้านสีดำขับเน้นเส้นสายบันไดคอนกรีต

เคาน์เตอร์ครัวคอนกรีตและโต๊ะทานข้าวไม้

ห้องครัวและพื้นที่รับประทานอาหารใหม่ถูกจัดวางค่อยๆ ลดระดับไหลลงมาตรงบริเวณขอบด้านเหนือ ซึ่งจะมีประตูกระจกเชื่อมต่อโดยตรงกับสวนหลังบ้าน ครัวแบบเปิดเคาน์เตอร์ปูนเปลือยยาวหลายเมตรถูกออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของบันไดแบบเก๋ ๆ บานตู้ไม้สีอ่อนๆ เข้ากันได้ดีกับโต๊ะทานข้าวไม้ตัวยาว ที่รองรับผู้ใช้งานได้หลายคนตามที่เจ้าของต้องการ ในวันที่มีปาร์ตี้ก็สามารถเปิดประตูขยายออกไปยังสนามหญ้าได้อีก

เคาน์เตอร์ต่อเนื่องกับบันไดคอนกรีต

บ้านเล่นระดับตามลักษณะที่ดินลาดเอียง

การแบ่งพื้นที่บันไดออกเป็นสองระดับสร้างทางทีละครึ่งทาง จะทำให้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงลงสู่พื้นดินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่รู้สึกว่ามีความชันมาก บันไดก็เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มีราวบันได การทำให้ความชันของบันไดลดลงก็ปลอดภัยสำหรับเด็กด้วย

มุมครัวเปิดมุมมองไปสวนบนเนิน

บ้านเล่นระดับตามลักษณะที่ดินลาดเอียง

ครัวที่มีเคาน์เตอร์หันหน้าไปทางลาน ทำให้การจัดเตรียมอาหารเต็มไปด้วยชีวิตชีวาและความสุนทรี นอกจากนี้ยังสามารถมองเห็นหรือมีปฏิสัพมพันธ์กับคนที่อยู่ในห้องนั่งเล่นด้านบน และสมาชิกที่นั่งเล่นในสวน ว่ายน้ำเล่นในสระแบบไม่คลาดสายตา

 

ประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่

Niwa House ผสมผสานมรดกทางวัฒนธรรมเข้ากับวัฒนธรรมอันยาวนาน เข้ากับความเป็นญี่ปุ่นที่ประยุกต์มาอย่างลงตัว กลายเป็นบ้านครอบครัวที่อบอุ่นและยั่งยืน พร้อมความเปิดกว้างที่นำความสงบ สุข สดชื่นมาให้ทุกคน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด รีโนเวทบ้าน


โพสต์ล่าสุด