วิธีป้องกันและแก้ไข ไม่ให้เจอกับเรื่องลื่น ๆ ในห้องน้ำ
ลื่นล้มในห้องน้ำ ! หนึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นอันดับต้น ๆ ของบ้าน ที่สร้างความสูญเสียมาแล้วหลายกรณี ห้องน้ำ เป็นโซนที่อันตรายที่สุดจุดหนึ่งของบ้าน ที่ต้องเจอความเปียกชื้นตลอดเวลา หากปล่อยให้พื้นห้องน้ำมีน้ำขังหรือลื่นจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลยครับ ที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในบ้านวัยไหน ผู้สูงวัย เด็ก หรือวัยทำงาน ไม่ว่าใครก็มีโอกาสเจ็บหรือเสียชีวิตได้ทั้งนั้น ทางที่ดีคือการป้องกันเอาไว้ดีกว่าแก้ไขทีหลัง ซึ่งความเสียหายมีมากกว่าการลงทุนดูแลบ้านให้มีความปลอดภัยแน่นอน เนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย” รวบรวมสารพันวิธีกันลื่นในห้องน้ำ มาแบ่งปันกัน ให้ทุกบ้านอยู่ได้อย่างปลอดภันครับ
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
1. แยกพื้นที่โซนแห้ง-เปียก
หลายคนคิดว่าการแยกโซนพื้นที่ใช้งานในห้องน้ำไม่สำคัญ ห้องน้ำเปียกได้ก็แห้งได้ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดถนัด เพราะความลื่นสัมพันธ์กับน้ำหรือความชื้น ยิ่งในฤดูฝนน้ำแห้งช้า ถ้าในบ้านที่มีสมาชิกหลายคนอาจจะใช้งานเกือบทั้งวันจนแทบไม่มีเวลาแห้ง ดังนั้นการทำพื้นให้แห้งอยู่เสมอจึงสำคัญและควรมีตัวช่วย หากมีพื้นที่ค่อนข้างมากและพอมีงบประมาณควรแยกโซนเปียก-แห้งออกจากกัน
โซนเปียกที่ต่ำลงไป หรือก่อคันคอนกรีตกั้นน้ำ อาจทำให้เดินสะดุดไม่เหมาะกับบ้านที่มีเด็กและผู้สูงอายุ
หลาย ๆ บ้านนิยมทำพื้นโซนเปียกหรือโซนอาบน้ำ ต่ำกว่าโซนอื่นๆ หรือก่อพื้นกั้นแบ่ง ซึ่งทำให้น้ำไหลลงท่อระบายได้เร็ว แต่วิธีนี้ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุและเด็ก เพราะอาจจะสะดุดหรือเหยียบพลาดได้ ในบ้านที่มีสมาชิก 2 วัยนี้จึงควรออกแบบพื้นห้องน้ำให้อยู่ระดับเดียวกัน แต่จัดให้โซนเปียกอยู่ด้านในสุด และทำพื้นที่มีองศาลาดเอียงไปทางท่อระบายน้ำเล็กน้อย หรือติดราวใส่ผ้าม่านไวนิลกันน้ำได้ ก่อผนังเตี้ย ๆ กั้นระหว่างโซนอาบน้ำกับโซนแห้ง อีกวิธีหนึ่งคือติดผนังกระจกนิรภัยซึ่งจะสนนราคาแพงที่สุด
ทำพื้นห้องน้ำระดับเดียวกัน เปลี่ยนสีกระเบื้องเพื่อแบ่งพื้นที่ ก่อผนังกั้นน้ำกระเซ็นบริเวณส่วนอาบน้ำ
ในปัจจุบันก็ยังมีตัวเลือกอื่น ๆ ในการแยกพื้นที่อาบน้ำกับส่วนอื่น ๆ เช่น ฉากกั้นอาบน้ำแบบราวแขวน 90 องศา ผลิตจากวัสดุราคาไม่แพงให้เลือกใช้ นอกจากนี้แล้วควรจะใส่ช่องแสงช่องลมขนาดใหญ่ ใส่ประตูบานเกล็ดเพื่อให้มีอากาศถ่ายเท ลดความชื้นในห้องน้ำได้ดียิ่งขึ้นด้วยครับ
2. ติดราวจับบริเวณทางเดินและด้านข้างสุขภัณฑ์
อย่าคิดว่าราวจะเหมาะกับเด็กและผู้สูงวัยเท่านั้นนะครับ แม้บ้านเราจะไม่มีคนในช่วงวัยนี้อยู่ก็ไม่ควรประมาท เผื่อจำเป็นต้องใช้ทางที่ดีจึงควรออกแบบให้มีราวจับพยุงตัวไปยังจุดที่ติดตั้งสุขภัณฑ์ เพื่อความปลอดภัยในทุกย่างก้าว เลือกราวที่มีคุณสมบัติกันลื่น รับน้ำหนักได้มาก สามารถปรับแต่งการติดตั้งได้หลายรูปแบบ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ง่าย ๆ ตามห้างร้านสุขภัณฑ์ชั้นนำทั่วไป
3. ปูกระเบื้องผิวหยาบสำหรับใช้ในห้องน้ำ
กระเบื้องปูพื้นบ้านนั้นมีหลายประเภทแล้วแต่ลักษณะการใช้งาน ทั้งกระเบื้องกรุผนัง กระเบื้องปูพื้นห้อง กระเบื้องปูพื้นห้องน้ำ ต้องเลือกให้ถูกต้องนะครับ สำหรับกระเบื้องแบบใช้ในห้องน้ำควรมีผิวสัมผัสที่ฝืด มีลายนูนชัดเจน ตอนเลือกซื้อให้สังเกตง่าย ๆ โดยการใช้นิ้วสัมผัส หากรู้สึกฝืด ๆ นิ้วก็สามารถใช้งานได้ครับ หรือหากต้องการให้มั่นใจที่สุด ต้องมองหากระเบื้องที่บอกค่ากันความลื่นไว้ (Slip Resistance) ควรมีค่ากันลื่นที่ R 10 ขึ้นไป ห้ามใช้กระเบื้องปูพื้นบ้านหรือผนังมาปูพื้นห้องน้ำ เพราะพื้นผิวที่เรียบมันเมื่อเปียกน้ำแล้วจะเกิดความลื่น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในห้องน้ำบ่อย ๆ ครับ
4. ผลิตภัณฑ์เพิ่มความหยาบให้พื้นผิว
กรณีปูกระเบื้องไปแล้วรู้สึกว่าพื้นยังลื่นอยู่ ลองใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแก้ไขพื้นลื่นก็เป็นตัวเลือกที่ดี ไม่ยุ่งยาก ที่สำคัญยังสามารถใช้ได้หลายพื้นผิวและทุกที่ แม้พื้นที่กว้างก็ไม่มีปัญหา เช่น น้ำยากันพื้นลื่น หรือสีกันพื้นลื่น
เปรียบเทียบพื้นผิว วัสดุปูพื้นที่ทาน้ำยากันลื่นผิวจะขุ่นและหยาบขึ้น
น้ำยากันพื้นลื่น Anti Slip Coating Products
สำหรับผลิตภัณฑ์น้ำยากันพื้นลื่นนั้น มีหลักการทำงานง่าย ๆ คือ จะเป็นเหมือนฟิล์มไปเคลือบตัวกระเบื้องไว้ สร้างความหนืดให้กับวัสดุปูพื้น ไม่ว่าจะเป็นเรซิ่นสังเคราะห์ เซรามิค เหล็ก ไม้ หรือพื้นกระเบื้องห้องน้ำ เมื่อน้ำยากันลื่นมันยึดเกาะกับพื้นแล้วสามารถใช้น้ำยาล้างห้องน้ำและแปรงขัดห้องน้ำได้ตามปกติ แต่จะไม่ทนต่อสิ่งมีคม เช่น มีดหรือแปรงทองเหลือง ซึ่งจะไปขูดน้ำยาให้หลุดออกมาเร็วขึ้น ปัจจุบันมีการพัฒนาน้ำยาเคลือบกันลื่นให้ทนทานมากขึ้น และบางยี่ห้อยังมีคุณสมบัติในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียได้ด้วย
พื้นไม้สังเคราะห์ทาสีกันลื่น เนื้อสัมผัสจะหยาบขึ้น
สีทากันพื้นลื่น Anti-Slip Floor Paint
หลายคนอาจจะไม่คุ้นกับสีที่ทากันลื่นได้ เพราะมักจะใช้ในบริเวณใหญ่ ๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ตลาด ริมสระน้ำ เป็นต้น สีชนิดนี้มีส่วนผสมของโพลียูลิเทรน ให้ผิวสัมผัสหยาบจึงลดการลื่นอย่างเห็นผล ใช้งานง่ายไม่ต้องใช้ช่าง และมีอายุการใช้งานยาวนาน สามารถทาได้บนทุกพื้นผิว เช่น กระจก กระเบื้องขัดมัน ไม้ เหล็ก พลาสติก ท่อ PVC อลูมิเนียม พื้นถนนคอนกรีต ไม้เทียมทุกชนิด เป็นต้น ใช้ทาได้ทั้งภายในและภายนอก ทั้งนี้หากใช้ในห้องน้ำควรเลือกใช้ยี่ห้อส่วนผสมจากยางธรรมชาติ จะให้ความนุ่มนวลไม่หยาบจนบาดผิว และใช้ทาเฉพาะจุดเสี่ยง
สำหรับใครที่งบประมาณน้อย ๆ หรือจะเลือกใช้วิธี D.I.Y ง่าย ๆ ด้วยการทาน้ำยารองพื้นปูนบนกระเบื้องทีละส่วน จากนั้นก็โรยพื้นกระเบื้องด้วยทรายทะเลที่เป็นเม็ดละเอียด เป็นเทคนิคและวิธีจัดการกับพื้นลื่นๆ ในห้องน้ำที่ใช้งบประมาณที่ต่ำมาก แต่ต้องระวังกับผิวเด็กเพราะทรายมีความคมพอสมควร
5. รองพื้นห้องด้วยแผ่นรองกันลื่น
แผ่นกันลื่นในบ้านเรามีให้เลือกมามายหลายยี่ห้อหลายรุ่น ผลิตจากวัสดุที่หลากหลาย เช่น พลาสติก ไม้ ยาง PVC แต่หลัก ๆ ควรเลือกรุ่นที่มีความหนืดติดกับพื้น ผิวสัมผัสนุ่มเท้าไม่บาดผิว ที่สำคัญคือต้องมีช่องทางระบายน้ำได้ดี เพื่อไม่ให้น้ำขังตามซอกของแผ่น มีน้ำหนักไม่เบามากเกินไป เพราะแผ่นอาจจะไม่มีแรงยึดพื้นมากพอแล้วเคลื่อนไถลไปตามแรงเหยียบได้ ดังนั้นเพื่อความมั่นใจในการใช้งานควรหาภาชนะหรือสิ่งของมาวางทับตามมุมเพื่อไม่ให้เคลื่อน และไม่ควรปูพื้นด้วยแผ่นรองกันลื่นแผ่นใหญ่แผ่นเดียวที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากเกินไป เพื่อให้สามารถยกขึ้นฉีดล้างทำความสะอาดด้านหลังได้ ทั้งนี้ควรขัดหรือยกมาฉีดล้างทำความสะอาดอาทิตย์ละ2-3 ครั้ง แล้วนำมาตากผึ่งให้แห้ง เพื่อขจัดคราบและความชื้นสาเหตุของการเกิดเชื้อราและสิ่งหมักหมมได้
6. เทปกันลื่นสำหรับห้องน้ำ
นอกจากแผ่นกันลื่นซึ่งเป็นแผ่นขนาดใหญ่ ยังมีทางเลือกอื่น ๆ ให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมอย่าง เทปกันลื่น (Anti-Slip Tape) ซึ่งออกแบบมาให้ใช้งานได้อเนกประสงค์ จะติดบริเวณจมูกบันได หรือพื้นเปียกก็ได้ เพราะมีคุณสมบัติกันน้ำ ผิวสัมผัสมีความหยาบแต่อ่อนนุ่มไม่บาดผิวหนัง สติ๊กเกอร์เหนียวติดทนทาน สามารถตัดใช้เฉพาะจุดได้ เช่น บริเวณอ่างอาบน้ำ จุดที่ติดตั้งอาบน้ำฝักบัว ทางเข้าห้องน้ำ ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงโดยไม่จำเป็นต้องแปะเต็มพื้นที่ เทปกันลื่นมีให้เลือกทั้งแบบสีและแบบใส จึงใช้ติดในห้องน้ำสวย ๆ ได้แบบไม่ทำให้ภาพรวมดูเปลี่ยนไป และยังมีรุ่นที่เป็นแบบสะท้อนแสง ทำให้มองเห็นชัดในเวลากลางคืน
8. หมั่นทำความสะอาดพื้นและปล่อยให้แห้งเสมอ
หลังการใช้งานควรขัดห้องน้ำส่วนที่เปียกทุกครั้ง เพื่อป้องกันคราบสะสมที่จะทำให้พื้นลื่นได้ ในเวลาที่ไม่ได้ใช้งานควรเปิดประตูหรือหน้าต่างไว้ เพื่อให้ความชื้นระเหยได้ดี หมั่นเช็คการระบายน้ำในห้องน้ำ และดูแลระบบท่อให้ดีไม่มีน้ำขัง
9. ใส่รองเท้าเข้าห้องน้ำเสมอ
ไม่ควรเดินเข้าห้องน้ำด้วยเท้าเปล่า เพราะนอกจากอาจจะลื่นได้แล้ว ยังเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อแบคทีเรียบนพื้นด้วย ลองเปลี่ยนมาใช้รองเท้าที่พื้นมีความหนืด หรือเป็นพื้นยางที่เินสบายไม่ลื่น ซึ่งจะดีกว่าการเดินเข้าห้องน้ำด้วยเท้าเปล่า
ทั้งนี้ อย่าลืมว่าทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำต้องเดินอย่างระมัดระวัง ติดไฟฟ้าส่องสว่างให้เพียงพอต่อการมองเห็น เพราะหากรีบเร่งเกินไป ก็อาจจะมองไม่เห็นร่องรอยน้ำที่อาจจะขังตามจุดต่าง ๆ เท่านี้ก็ทำให้ห้องน้ำของบ้านเราปลอดภัยหายห่วงเรื่องลื่น ๆ แล้วครับ http://www.tb-credit.ru/