เมนู

Prim House ท่าทีเรียบง่ายที่น่าอยู่ by Studio Locomotive

Prim House

บ้านเล็กสำหรับการเริ่มต้น

ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดเป็นอันดับสี่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มต้นชีวิตแต่ฝันอยากมีบ้านอาจจะต้องต่อสู้เหนื่อยสักนิด แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ เหมือนเช่นโครงการบ้านหลังนี้ Prim House ออกแบบโดย Studio Locomotive บ้านขนาดกะทัดรัดที่เจ้าของบ้านเป็นชาวภูเก็ตในวัยยี่สิบกลางๆ ที่วางแผนจะปักหลักในบ้านเกิด โดยให้ความสำคัญกับความเรียบง่ายและไม่เกินกำลัง ไม่ต้องกู้ยืม บ้านหลังนี้จึงเป็นบ้านน้อยปลอดหนี้ให้สบายใจ ภายในออกแบบให้ตอบรับการใช้ชีวิตสบาย ๆ กับสัตว์เลี้ยงตัวโปรดและจัดสวนให้เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน สร้างสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนและบำรุงรักษาต่ำเติมความสบายกายได้อย่างมีคุณภาพ

ออกแบบstudio-locomotive
ภาพถ่าย : Beer Singnoi
เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านโมเดิร์นมินิมอลสีขาว

บ้านสองชั้นของครอบครัวเล็ก ๆ 

Prim House บ้านสองชั้นหน้าแคบลึก พื้นที่ 140 ตารางเมตร ชื่อของบ้านตั้งตามเจ้าของบ้าน ซึ่งสถาปนิกให้คำนิยามบ้าน Prim หมายถึง ‘บ้านที่วางท่าทีเหมาะสม’ คือเหมาะสมทั้งการอยู่อาศัย รูปแบบการดำเนินชีวิตและงบประมาณ ผ่านการดีไซน์อาคารแสดงถึงความเรียบง่ายอ่อนน้อมภายนอกที่เป็นรูปทรงกล่องสีขาวตัดเส้นสายตาสีดำ ไม่มีส่วนที่เกินจำเป็น ทุกจุดทำหน้าที่ของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ภายในสร้างสเปซสำหรับกิจกรรมตามไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบและเติมความน่าอยู่อาศัย นักออกแบบเน้นการใส่ช่องเปิดที่กว้างขวางใส่ช่องทางระบายอากาศทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และกลางบ้าน ช่วยประหยัดการลงทุนในบ้านและลดภาระค่าครองชีพ ปลดปล่อยเจ้าของบ้านให้เป็นอิสระจากค่าไฟ เพื่อนำเงินส่วนต่างนี้ไปใช้ในส่วนอื่น ๆ ได้มากขึ้น

ห้องนั่งเล่นเปิดผนังได้กว้าง

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

เปลญวนนั่งเล่นชั้นล่าง


บ้านที่พึงใจ บางครั้งก็ไม่ใช่บ้านที่ใหญ่โตหรือประดับด้วยข้าวของเครื่องใช้ที่หรูหรา แต่อาจจะเป็นแค่บ้านที่ใช้ชีวิตได้อย่างสุขใจท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ชอบและบรรยากาศที่ใช่ ในชั้นล่างเจ้าของบ้านเจาะช่องหน้าต่างขนาดใหญ่บิลท์ม้านั่วตัวยาวขนานไปกับช่องว่างที่เปิดกว้าง เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่นอกจากทำหน้าที่เปิดรับแสงธรรมชาติและลมแล้ว เจ้าของบ้านสามารถมานั่งพิงชมวิว มองความเคลื่อนไหวภายนอก หรือทำงานฝีมือที่ชื่นชอบ ใกล้ ๆ กันแขวนเปลญวนเอาไว้ให้นอนเล่นยามต้องการความรู้สึกผ่อนคลาย เติมเต็มชีวิตแบบ slow life ที่ค่อย ๆ ดำเนินไปไม่ต้องเร่งและไม่ต้องรีบ

ครัวและห้องทานข้าว

พื้นที่ใช้ชีวิตส่วนรวมถูกจัดอยู่ด้วยกันที่ชั้นล่าง ประกอบด้วยมุมพักผ่อนนั่งเล่น ครัว ห้องทานอาหารที่เรียงยาวต่อเนื่องกันไปมีสวนในบ้านคั่นอยู่ตรงกลาง สำหรับการตกแต่งภายในเน้นความเป็นธรรมชาติจากงานไม้ คอนกรีต หิน เหล็ก ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้คลาสสิค และงานหัตถกรรม ทำให้อารมณ์ในภาพรวมของบ้าน นิ่ง สงบ อบอุ่น แต่สดชื่นน่าอยู่ ทุกองค์ประกอบสะท้อนตัวตนของผู้อยู่อาศัยได้อย่างชัดเจน

ตกแต่งห้องนั่งเล่นสไตล์ธรรมชาติ

สว่าง สงบ เย็นสดชื่นในทุกจุด

ในบ้านสองชั้นทั่วไปเราจะพบว่าภายในมักมีปัญหาลักษณะคล้ายกัน คือ การขาดพื้นที่รับแสงช่วงกลางอาคารและมีการระบายอากาศที่ไม่ดี เนื่องจากช่องแสงและช่องลมไม่เพียงพอ สถาปนิกจึงจัดพื้นที่ใช้สอยแบบเปิดลดการใช้ผนังทึบแบ่งสัดส่วนแต่ละฟังก์ชันในแนวนอน เพื่อให้การไหลของอากาศดีขึ้นโดยไม่มีผนังมาเป็นอุปสรรค ตรงกลางอาคารเจาะเป็นช่องว่างโถงสูงขนาดใหญ่บริเวณบันได เกิดเป็นช่องรับลมส่วนกลางอาคารทำหน้าที่ช่วยระบายอากาศในแนวตั้งที่เปิดให้อากาศร้อนลอยตัวขึ้นสูง แล้วให้อากาศเย็นไหลเข้ามาแทนที่ได้ง่าย หลังคาที่ตรงกับส่วนนี้มุงวัสดุโปร่งใสจึงดึงให้แสงแดดส่องถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้าน รวมทั้งบริเวณคอร์ทยาร์ดที่ปลูกต้นไม้ในร่ม บ้านจึงสว่าง เย็น และเป็นมิตรกับธรรมชาติในทุกมิติ

บันไดเหล็กโปร่ง ๆ กลางบ้าน

บันไดเหล็กปั๊มรู

บันไดเหล็กเจาะรูและแผงตะแกรงเหล็กที่เด่นอยู่ตรงกลาง เหมือนเป็นงานศิลปะชิ้นใหญ่ที่ใช้ประโยชน์ได้ นอกจากเติมความดิบเท่อารมณ์ธรรมชาติให้กับบ้านแล้ว รูพรุนรอบ ๆ บันไดยังทำให้บ้านในเขตร้อนนี้ระบายอากาศไหลผ่านทางช่องว่างเล็ก ๆ ที่อยู่ล้อมรอบตัววัสดุได้ด้วย

พื้นที่นั่งเล่นบนชั้นลอย

บันไดตะแกรงเหล็ก

ที่นั่งเล่นริมหน้าต่าง

ชั้นสองที่ใกล้ชิดกับชั้นล่าง

ชั้นบนมี 2 ห้องนอนและห้องน้ำ ในพื้นที่ส่วนตัวนี้จึงจำเป็นต้องมีผนังกั้น แต่ไม่ขาดการปฏิสัมพันธ์กับชั้นล่าง เพราะสถาปนิกเจาะช่องหน้าต่างขนาดใหญ่เอาไว้ เพื่อทำให้คนที่อยู่ชั้นบนสามารถมองเห็นพื้นที่ส่วนกลางชมพื้นที่สีเขียวใจกลางบ้านได้ คนที่อยู่ชั้นล่างก็สามารถติดต่อกันได้แม้จะใช้ชีวิตอยู่ห่างกันคนละชั้น

ตกแต่งห้องนอนโทนสีขาว

ห้องน้ำตกแต่งกระเบื้องสีขาว

ห้องน้ำตกแต่งด้วยโทนสีเรียบง่ายคือ สีขาวตัดด้วยสีดำ แต่รายละเอียดการตกแต่งน่าสนใจที่วัสดุปิดผิวผนังที่เป็นเกล็ดส่องสะท้อนแสงระยิบระยับราวกับอัญมณี เข้ากันได้ดีกับกระจกกรอบทองที่ดูหรูหราขึ้นอีกนิด บนเพดานเหนือซิงค์ล้างหน้า เจาะฝ้าเป็นช่องว่างใส่สกายไลท์ ช่วยระบายอากาศและรับแสงสว่างเข้ามาในช่วงกลางวันทำให้ห้องน้ำแห้งเร็วและไม่มีกลิ่นอับชื้น

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย :  สำหรับอาคารพาณิชย์ ตึกแถว ทาวน์เฮาส์ ที่มีข้อจำกัดเรื่องช่องแสง โดยเฉพาะอาคารที่ผนังถูกขนาบทั้งสองด้านทำให้ไม่สามารถใส่ช่องแสงด้านข้างได้ ภายในอาคารจึงมืดทึบและอับชื้นอยู่อาศัยไม่สบาย สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ตามแบบบ้านนี้ เช่น การเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการสร้างช่องแสงช่องลมด้านหน้า ด้านหลัง และตรงกลางอาคาร ลดส่วนของผนังที่ไม่จำเป็นลงเพื่อให้อากาศไหลเวียนได้ดี อาจจะรื้อเพดานแบ่งกั้นระหว่างชั้นออกบางส่วนเพื่อเชื่อมพื้นที่แนวตั้ง พร้อมกับใส่ช่องแสง skylight บนหลังคา เปิดช่องทางรับแสงจากด้านบนและกระจายเข้าสู่ตัวอาคารได้ตรงใจกลางอาคาร ปัญหาที่ว่านี้ก็จะหมดไป

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด