เมนู

เปลี่ยนเปลือกตึกแออัดขาดแสง ให้สว่าง ดูกว้าง เหมือนไม่เคยแคบ

รีโนเวทตึกเก่า

รีโนเวทบ้านตึก

บางครั้งการหันกลับมามองบ้านอายุหลายสิบปีและทรุดโทรม ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินใจว่าจะรื้อทิ้งสร้างใหม่หรือรีโนเวทเพราะต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ด้วย ทั้งความสะดวก งบประมาณ ความคุ้มค่า ทำให้ต้องชั่งน้ำหนักดูให้ดี สำหรับบ้านนี้ตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 20 ตร.วา ลึกเข้าไปในตรอกซอกซอยเล็ก ๆ ในกรุงฮานอย เป็นหนึ่งอาคารที่บ่งบอกถึงการขยายตัวของเมืองและการเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็ว บ้านจึงสร้างอย่างแออัด ผนังที่ติดกันทำให้บ้านไม่มีพื้นที่ระบายอากาศ รับแสง และระบายความชื้น จึงเสื่อมโทรมเร็วขึ้น หลังจากถูกปล่อยทิ้งร้างมานานก็ถึงคราวที่จะต้องคืนชีพให้บ้าน แต่เจ้าของบ้านใหม่จะเลือกวิธีใดต้องไปติดตามกันดูครับ

ออกแบบS.LA architecture
ภาพถ่าย : Trieu Chien
เนื้อหาบ้านไอเดีย

ก่อนปรับปรุง

เมื่อสถาปนิก Nguyen Hoang Khuong และเพื่อนร่วมงานมาสำรวจบ้านร้างหลังนี้ พวกเขาสังเกตเห็นว่าอาคารทรุดโทรมมาก ทางเลือกก็มีเพียง 2 ทางคือ รื้อถอนหรือปรับปรุง แต่เนื่องจากบ้านอยู่ในซอยเล็กและแคบมากๆ การขนขยะจึงมีต้นทุนมาก นอกจากนี้การรื้อถอนอาจส่งผลต่อความยั่งยืนของส่วนที่ปรับปรุงไปก่อนหน้านี้ของบ้าน หลังจากนำข้อมูลทั้งหมดหารือกับเจ้าของบ้านถึงข้อดีข้อเสีย พร้อมนำเสนอแผนการปรับปรุงใหม่ บทสรุปจึงออกมาที่การคงโครงสร้างเดิมที่สำคัญไว้แล้วปรับปรุงเพิ่มเติมแทนการทุบรื้อทั้งหมด

รีโนเวทบ้านในตรอกแคบๆ

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

ฟาซาดเหล็กโปร่งๆ ปลูกไม้เลื้อยบังแสง

โจทย์ในการรีโนเวทบ้านเจ้าของใหม่ต้องการอาคารที่สว่าง เขียวขจี โปร่งสบาย และประหยัด ทีมงานจึงออกแบบส่วนหลังคาและฟาซาดหน้า-หลังใหม่เป็นโครงเหล็กและกระจก และให้ชื่อว่า Raincoat House หรือ”บ้านเสื้อกันฝน” เพราะเปรียบเสมือนเสื้อกันฝนที่ปิดบล็อกเก่า ปกป้องผนัง และพื้นไม่ให้เสื่อมสภาพจากสภาพอากาศ ในขณะเดียวกันก็นำแสงมาสู่พื้นที่ภายใน ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องแสงที่มักพบในบ้านหน้าแคบลึกที่สร้างชิดติดกัน จนยากต่อการติดตั้งหน้าต่างที่เปิดรับแสงแดดและอากาศด้านข้างได้ส่วนหนึ่ง

ภาพรวมส่วนที่ต่อเติมเพิ่มขึ้นมาในโครงสร้างอาคารเก่า

ผนังกระจกโครงสร้างเหล็ก

โครงครอบด้านนอกที่ทำขึ้นใหม่ ออกแบบให้มีน้ำหนักเบาที่สุด อาทิ เหล็ก หลังคา และไม้สน เหล่านี้เป็นวัสดุที่หาได้ทั่วไปในท้องถิ่น การออกแบบและวางโครงสร้างให้มีความโปร่งใสจากด้านบนและด้านหน้าช่วยให้บ้านได้รับแสงธรรมชาติส่องเข้ามาอยู่เสมอ แม้ว่าจะอยู่ในซอยลึกและรายล้อมไปด้วยอาคารสูงก็ตาม แถมฟาซาดบ้านยังล้อมรอบด้วยเถาวัลย์เขียวขจี มีชีวิตชีวาแตกต่างจากอาคารข้างเคียง

รีโนเวทบ้านในตรอกแคบๆ

บริเวณหน้าบ้านที่ติดถนน แม้ต้องการความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว แต่ก็ยังต้องการและการมองเห็นความเคลื่อนไหว สถาปนิกจึงใช้วัสดุเหล็กปั๊มรูปิดด้านหน้าบ้านเอาไว้ เมื่อเปิดประตูบ้านเข้ามาด้านข้างจะเป็นทางเดินลึกเข้าไป ก่อนจะนำพาเข้าสู่พื้นที่ใช้งานบ้านที่อยู่ด้านหลัง วิธีนี้ช่วยสร้างกันชนให้กับบ้าน เพิ่มความรู้สึกปลอดภัยและป้องกันเสียงรบกวนจากยวดยานได้ดี

ทางเข้าบ้านในตรอกแคบๆ

ระหว่างทางเดิน เราจะพบกับแสงธรรมชาติที่ส่องสว่างจากบนหลังคาที่ใช้วัสดุโปร่งแสงมุงด้านนี้ ประกอบกับการเจาะบ้านให้เป็นโถงสูงหลายเมตร ทำให้รู้สึกถึงความโปร่งและสว่าง การใช้บันไดเหล็กเจาะรูเชื่อมระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 ช่วยให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาภายในครัวได้ในเวลากลางวันด้วย

บันไดเหล็กปั๊มรูกลมสีขาว

ครัวและห้องทานข้าวเล็ก ๆ

Raincoat House มีเพียง 2 ชั้นเท่านั้น เพื่อประหยัดเงิน โดยชั้น 1 มี  ห้องครัวที่ต่อเนื่องมาจากทางเดินหน้าบ้าน ถัดไปเป็นห้องน้ำและด้านในสุดเป็นห้องนอน ในครัวจะมีลูกเล่นบนเพดานเป็นไม้โครงหลังคาที่โผล่มาเพียงครึ่งเดียว ชวนให้ต้องโฟกัสสายตา ลืมไปว่าห้องโดยรวมนั้นค่อนข้างเล็ก

ห้องครัวเล็ก ๆ

ทีมออกแบบจะเน้นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่และแสงเป็นหลัก โดยวัสดุตกแต่งง่ายๆ ไม่ซับซ้อนเกินไป อย่างเช่น ครัวขนาดเล็กและโต๊ะรับประทานอาหารขนาด 4 ที่นั่งดูกะทัดรัด การจัดวางเหมาะสมไม่กินพื้นที่ เราจะเห็นว่ามีการเปลี่ยนวัสดุพื้นจากปูนเปลือยเป็นไม้ เพื่อแบ่งพื้นที่หลัก-รอง

มุมนั่งเล่นเชื่อมต่อห้องนอน

การเชื่อมต่อมุมมองก็สำคัญเช่นกัน จากห้องนอนมองออกมาจะผ่านทะลุออกไปเห็นความเคลื่อนไหวในโซนครัวและโต๊ะทานข้าว อีกด้านส่วนปลายเตียงก็มีหน้าต่างตรงกับทางเดิน จึงสังเกตสิ่งผิดปกติด้านนอกได้ตลอดเวลา

จากชั้นหนึ่งจะมีบันไดเหล็กเจาะรูสีขาว เดินตามขึ้นมาถึงชั้นสองจะพบกับพื้นที่ลานโล่งๆ จัดวางต้นไม้เขียวๆ ดูสดชื่น พร้อมวางโต๊ะเก้าอี้ชวนให้นั่งเล่นแบบบรรยากาศในสวน

หลังคาโปร่งแสงครึ่งหนึ่งทึบครึ่งหนึ่ง

บ้านตกแต่งด้วยเหล็กปั๊มรูและต้นไม้เลื้อย

มุมนั่งเล่นในบ้านบรรยากาศแบบกลางแจ้ง

ส่วนนี้จะเห็นชัดว่าหลังคาทำได้แปลกกว่าบ้านหลังอื่นคือ เป็นหลังคาวัสดุทึบครึ่งหนึ่งและวัสดุโปร่งแสงทำจากโพลีคาร์บอเนตลูกฟูกใสครึ่งหนึ่ง เพื่อเพิ่มแสงสว่างให้กับพื้นที่สีเขียวและทำให้สถานที่ดูใหญ่ขึ้นครึ่งหนึ่ง รู้สึกเหมือนใช้ชีวิตสบายๆ กลางแจ้งแต่ไม่ร้อนจนเกินไป ส่วนด้านในจะเป็นสำนักงานและพื้นที่ห้องซักล้าง

หลังคาโปร่งแสงครึ่งหนึ่งทึบครึ่งหนึ่ง

มุมนั่งเล่นบรรยากาศแบบในสวน

ค่าใช้จ่ายทั้งหมดลดลงมาก เพราะโครงหลังคาและเฟอร์นิเจอร์บางส่วนทำจากไม้ไชน่าเบอร์รี่ ซึ่งเก็บมาจากสวนของปู่ย่าตายายเจ้าของ ต้นไม้เหล่านั้นเติบโตมาหลายปีแล้ว ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งจะกลายเป็นของขวัญพิเศษสำหรับตกแต่งบ้านที่สวยงามของหลานชาย

ห้องทำงาน

ห้องทำงาน

ห้องทำงานชั้นบนท่ามกลางบรรยากาศสวนสีเขียว ไม้เลื้อยที่ห้อยย้อยมาจากหน้าต่าง แสงธรรมชาติที่ไม่มากไม่น้อยเกินไป ทำให้ชั่วโมงการทำงานเป็นไปด้วยความสุนทรีย์

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : สำหรับบ้านในพื้นที่หน้าลึก ยาว และมีหลายชั้น มักจะมีข้อจำกัดในลักษณะคล้ายกัน คือ ขาดพื้นที่ว่างให้อากาศไหลเวียนระหว่างชั้น พื้นที่รับแสงธรรมชาติไม่เพียงพอ และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้นถูกตัดขาดจากการเทพื้นเพดานคั่น บ้านหลายชั้นยุคใหม่จึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการเจาะที่ว่างแนวตั้งทะลุจากชั้นล่างถึงชั้นบน หรือสร้างบ้านแบบเล่นระดับเหลื่อมระหว่างชั้นที่ทำให้มีช่องว่างมากขึ้น ส่วนของแสงจะเพิ่มช่องแสงบนหลังคา หรือเปลี่ยนวัสดุจากทึบแสงมาใส่วัสดุโปร่งแสง โปร่งใส ในบางจุดทำหน้าที่เป็น skylight ดึงแสงจากด้านบนแทนด้านข้าง วิธีเหล่านี้จะแก้ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดได้ดี

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ตกแต่งบ้าน


โพสต์ล่าสุด