เมนู

เปลี่ยนภายนอก ปรับภายใน ออกแบบพื้นที่ใหม่ รองรับการเติบโต

รีโนเวททาวน์เฮาส์

รีโนเวทบ้านแถว

ความเสื่อมโทรมเป็นสัจธรรมที่ทุกคนทุกสิ่งบนโลกล้วนต้องเจอ บ้านที่เป็นสิ่งก่อสร้างถาวรก็หนีไม่พ้นเช่นกัน เราลองนึกภาพอาคารที่ต้องเผชิญแดด ลม ฝน และการใช้งานของผู้อยู่อาศัยทุก ๆ วัน ก็ต้องมีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา BAAN PRACHACHUEN หรือโครงการบ้านประชาชื่นก็เช่นเดียวกัน เดิมบ้านนี้มีลักษณะเป็นบ้านแถวหน้าแคบและลึก ประกอบด้วยสมาชิกในครอบครัว 6 คนที่อยู่อาศัยร่วมกันมาเกือบ 20 ปี เมื่อสมาชิกมากขึ้น คนในบ้านเริ่มเติบโต ตัวบ้านเดิมก็ไม่อาจตอบโจทย์และวิถีชีวิตเดิม ๆ อีกต่อไป การรีโนเวทปรับโฉมใหม่ทั้งภายนอกภายในก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะจะได้พื้นที่ใช้งานใหม่ ๆ ภายในพื้นที่ความทรงจำเดิม

ออกแบบRakchai Architects
เนื้อหาบ้านไอเดีย

ก่อนและหลังปรับปรุง

Before & After ก่อนและหลังการปรับปรุงภายนอกจะเห็นความแตกต่างของเปลือกบ้าน โดยเปลี่ยนมาใช้ผนังกระจกที่ชั้นบน ชั้นล่างรื้อรั้วเตี้ย ๆ ออกเปลี่ยนเป็นประตูเหล็กฉีกสีขาวที่สูงขึ้นจนคลุมพื้นที่ด้านหน้าทั้งหมด ตัวบ้านเดิมต่ำกว่าถนน พื้นที่จากไปชั้นสองไม่ถึง 3 เมตรครับ โครงเหล็กด้านหน้าเลยคนละระดับกันครับ

ประตูตะแกรงเหล็กฉีกหน้าบ้าน

Rakchai Architects ทำหน้าที่ออกแบบและปรับปรุงบ้านหลังนี้ครั้งใหญ่ เพื่อซ่อมแซมส่วนต่างๆ ที่ทรุดโทรมไม่ตอบโจทย์ ตลอดจนขยับขยายพื้นที่ให้รองรับกิจกรรมใหม่ ๆ ของครอบครัวที่กำลังขยายใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ยังมีโครงการทำสตูดิโอออกแบบเล็ก ๆ ด้วย ในงบประมาณที่จำกัดเพียงล้านต้น ๆ ผู้ออกแบบจึงเลือกคงโครงสร้างเดิมให้ได้มากที่สุด รวมถึงเลือกใช้วัสดุในการตกแต่งที่ง่ายไม่มีรายละเอียดซับซ้อน เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการครอบคลุมในงบประมาณที่มี

ประตูตะแกรงเหล็กฉีกหน้าบ้าน

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

ประตูตะแกรงเหล็กฉีกหน้าบ้าน

 

ประตูหน้าบ้านเป็นบานพับทำจากตะแกรงเหล็กฉีกที่เต็มไปด้วยช่องวางเป็นรูพรุนเล็ก ๆ ตลอดพื้นที่ยาวหลายเมตร จุดนี้จึงเป็นช่องทางหลักที่แสงและลมจะเข้าถึงพื้นที่ภายใน ด้วยความสูงของบานที่ติดตั้งจากพื้นจรดเพดานชั้นล่าง ทำให้ส่วนนี้ทำหน้าที่เป็นรั้วบ้านไปด้วยในตัว ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้บ้านโดยที่ยังมีความโปร่งไม่เสียมุมมองต่อถนน

ก่อนและหลังปรับปรุง

ชั้นล่างก่อนและหลังปรับปรุง จะเห็นว่าการเลือกสีของวัสดุและจัดการแสง มีส่วนให้เกิดความแตกต่างของอารมณ์และบรรยากาศ สถาปนิกเลือกใช้วัสดุพื้นผิวภายในเป็นสีขาวตัดกับวัสดุไม้ เพื่อให้การกระจายแสงทำได้ดีและช่วยให้บ้านดูกว้าง พื้นบ้านที่เคยเป็นกระเบื้องสีขาวแผ่นเล็กเปลี่ยนเป็นแกรนิตโต้ลายหินอ่อนสีเทาแผ่นใหญ่ที่ช่วยขยายมุมมองทางสายตาให้พื้นที่ดูเป็นผืนเดียว ส่วนฟังก์ชันการใช้งานเดิมที่เป็นครัวและโต๊ะทานข้าวที่กินพื้นที่ ถูกรื้อแล้วปรับให้ขึ้นไปอยู่ที่ชั้น 2 ส่วนชั้นนี้ใช้สำหรับจอดรถ และสตูดิโอที่มีทำงานติดผนังที่ไม่กินพื้นที่

ชั้นล่างผนังกระจกโปร่งโล่ง

เนื่องจากขนาดของบ้านมีขนาดไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกภายในบ้านถึง 6 คน ซึ่งแต่ละคนจะมีของใช้ส่วนตัวที่ต้องการจัดเก็บ ยังไม่รวมถึงของที่ใช้งานร่วมกัน หากใช้ตู้และชั้นวางบนพื้นจะทำให้สูญเสียพื้นที่ค่อนข้างมาก สถาปนิกจำเป็นจัดสรรพื้นที่เก็บของอย่างมีประสิทธิภาพ โดยออกแบบพื้นที่ใต้บันไดให้กลายเป็นตู้เก็บของขนาดใหญ่ สามารถเก็บของใช้ส่วนตัวของสมาชิกทุกคนได้เป็นระเบียบ ภายในบ้านดูเรียบร้อยและสะอาดตา

ไฟซ่อนคานบ้าน

ก่อนและหลังปรับปรุง

การจัดฟังก์ชันภายในใหม่ เน้นความสะดวกในการใช้งานและการบริหารพื้นที่ให้โล่ง โปร่ง ลื่นไหล ดังนั้นหลายส่วนจึงถูกปรับ อาทิ ตำแหน่งชั้นลอย บันไดกลางบ้านที่เป็นอุปสรรคจะถูกเปลี่ยนทิศทาง เพื่อให้การสัญจรราบรื่นขึ้น

ชั้นลอย

skylight ตรงโถงบันได

ก่อนและหลังปรับปรุง

อุปสรรคประการสำคัญของบ้านแถวคือ การขาดช่องแสงด้านข้างเพราะผนังที่ติดกับบ้านหลังอื่น ๆ และการเทพื้นเพดานที่มักปิดทึบแยกระหว่างชั้น ทำให้บ้านมืด ทึบ ขาดแสง การปรับปรุงใหม่จึงเน้นแก้ไขให้ภายในบ้านแสงเข้ามาบนชั้นสองมากขึ้น ส่วนหนึ่งคือการเจาะโถงบันไดสูง ๆ เหนือขึ้นไปมีช่องแสงด้านบน วิธีนี้ทำให้พื้นที่ชั้นสองมีช่องว่างให้แสงและลมไหลเวียนขึ้นได้ง่าย บ้านดูสว่างและระบายอากาศได้ดี

บันไดเชื่อมต่อระหว่างชั้น

ด้วยความตั้งใจที่จะแบ่งพื้นที่สำหรับทำสตูดิโอออกแบบซึ่งต้องการสัดส่วน จึงต้องออกแบบฟังก์ชันการใช้งานใหม่ โดยยกพื้นที่ใช้งานส่วนรวมของทุกคนในครอบครัวขึ้นมาอยู่บนชั้นสอง ประกอบด้วย ครัว ห้องทานข้าว และพื้นที่นั่งเล่นที่มีลูกเล่นการยกสเต็ปเล็กน้อย เพื่อให้บ้านดูมีมิติและเป็นตัวช่วยบ่งบอกการปรับขอบเขตใช้งานออกจากกันโดยไม่ต้องมีผนังแบ่งกั้น โซนนี้จึงเป็นห้องโถงใหญ่ ๆ ที่ทุกคนสามารถมาใช้งานร่วมกันได้แบบไม่ต้องกลัวอึดอัดคับแคบ

มุมทานข้าวและนั่งพักผ่อนเล่นระดับ

ห้องนั่งเล่นที่ชั้นบน

ในชั้นนี้ยังคงคอนเซ็ปการใช้สีขาวเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ตัดกับสีของไม้บริเวณพื้นและเฟอร์นิเจอร์ ที่ไม่เพียงทำให้บ้านดูกว้าง สว่างขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น

ระเบียงจัดสวนเล็ก ๆ ติดห้องนั่งเล่น

ก่อนและหลังปรับปรุง

ช่องว่างในบ้านเดิมนั้นมีอยู่บ้างแต่ก็ไม่เพียงพอ ดังนั้นการเสียสละพื้นที่ใช้สอยบางส่วนออกไป บางครั้งกลับทำให้บ้านได้ประโยชน์มากกว่า อย่างบริเวณโถงบันไดเดิม เมื่อรื้อพื้นบริเวณข้าง ๆ ออกให้เหลือพื้นที่ระเบียงทางเดินเชื่อมต่อระหว่างชั้น แม้พื้นบ้านจะลดลงแต่เป็นการเพิ่มที่ว่างให้ลมและแสงเดินทางภายในได้สะดวก ส่วนพื้นที่ใช้งานรอบช่องว่างก็เป็นชั้นลอย จึงสามารถมองเห็นและเชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้นได้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย

บันไดเหล็กสีขาวตกแต่งไม้

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด รีโนเวทบ้าน


โพสต์ล่าสุด