เมนู

รีโนเวทบ้านเลขที่ 16 สวยทันใจในงบประหยัด

รีโนเวทบ้าน

รีโนเวททาวน์เฮาส์

ในยุคที่โครงการบ้านใหม่ราคาสูงจนแทบจับต้องไม่ได้ หลาย ๆ คนเลือกมองหาบ้านเก่า ทาวน์เฮาส์เก่ามาทำการรีโนเวทเพื่อยู่อาศัย เพราะราคาจะถูกกว่า เมื่อบวกลบคูณหารแล้วคิดว่าปรับปรุงออกมาจะได้บ้านที่สวยถูกใจในงบประมาณที่ถูกลงก็น่าลงทุน เหมือนเช่นบ้านหลังนี้ในมาเลเซียที่เจ้าของใช้วิธีซื้อบ้านเก่าอายุ 30 ปีมาอัพเกรด แต่ยังคงคุณสมบัติความงามของบ้านเดิมไว้ ปรับปรุงซ่อมแซมในส่วนที่จำเป็นก่อน โดยพยายามใส่วัสดุง่าย ๆ หาได้ในท้องถิ่น และราคาไม่แพง บางอย่างที่ละไว้ก่อนได้ก็ยังไม่ทำ บางส่วนที่ทำเองได้ก็ทำเอง ทำให้บ้านในฝันเอื้อมถึงง่ายในงบการปรับปรุงประมาณ 2.9 แสนบาท (ไม่รวมตกแต่ง)

ภาพถ่าย : rumah16
เนื้อหาบ้านไอเดีย

ประตู รั้ว หน้าบ้านก่อนรีโนเวท

Before : ทาวน์เฮาส์ชั้นเดียวในชาห์อาลัม ประเทศมาเลเซีย อายุไม่น้อยเลยคือ 30 ปี สภาพหลังคาเต็มไปด้วยราดำ ผนัง ประตูหน้าต่างทรุดโทรม สวนหน้าบ้านรกร้าง และโรงรถที่มีตะไคร่น้ำและราดำเช่นกัน แต่โดยภาพรวมของโครงสร้างอาคารยังคงดีอยู่

ประตู รั้ว หน้าบ้านหลังรีโนเวท

After : การปรับปรุงเน้นส่วนที่จำเป็นก่อน อาทิ รั้วที่ของเดิมที่เป็นตะแกรงเหล็กพังไปแล้ว เปลี่ยนเป็นรั้วอิฐช่องลมลายดอกแก้ว เพิ่มกระถางอิฐก่อด้านหน้าสำหรับปลูกต้นไม้ให้บ้านสดชื่น ประตูที่ยังใช้ได้ขัดสนิมทำสีขาว ส่วนพื้นหน้าบ้านส่วนโรงรถปรับให้เท่ากันแล้วปูกระเบื้องดินเผาสีน้ำตาลอมแดงเข้ากันกับรั้ว ซึ่งเจ้าของบ้านเล่าว่าสาเหตุที่ปูกระเบื้องดินเผา เพราะชอบเอฟเฟ็กต์เวลาที่กระเบื้องโดนฝนตกและแดดร้อนนาน ๆ สีน้ำตาลจะเข้มต่างกันให้มิติที่ดูแปลกตา ส่วนหลังคาที่มีคราบดำแต่ไม่รั่วซึมก็คงไว้ยังไม่เปลี่ยน

รั้วอิฐช่องลม

โถงหน้าบ้านและโรงรถก่อนปรับปรุง

Before : โถงหน้าบ้านต่อเนื่องจากลานและโรงรถหน้าบ้านถูกทิ้งไว้ให้ว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ กรอบประตูหน้าต่างสีซีดถลอก กระจกบานเกล็ดเต็มไปด้วยฝุ่นและดูเก่า

โถงหน้าบ้านและโรงรถหลังปรับปรุง

After : หลังจากปรับปรุงปูกระเบื้องมาถึงโถงหน้าบ้านแล้ว เจ้าของอยากเพิ่มจุดเด่นให้ส่วนนี้ต่างจากโรงรถจึงใช้กระเบื้องสไตล์เรโทรสีขาวดำปู ได้กลิ่นอายแบบ old school และใส่กรอบให้ภาพพื้นชัดขึ้นด้วยปูนเปลือย ส่วนของประตูเข้าบ้านเปลี่ยนเป็นไม้เพื่อความเป็นธรรมชาติ กรอบประตูหน้าต่างขัดใหม่ทาสีดำเพื่อให้เส้นสายตาชัดขึ้น ผนังปิดช่องแสงช่องลมที่ไม่ได้ใช้งานแล้วทาสีขาวทำให้บ้านดูใหม่สะอาดตา

ห้องนั่งเล่นหลังปรับปรุง

มุมนั่งเล่นดูทีวี

ห้องทานข้าวขณะปรับปรุง

ห้องทานข้าวหลังรีโนเวท

บริเวณห้องทานข้าวและครัว จากเดิมพื้นเป็นปูนเปลือยเปลี่ยนเป็นกระเบื้องลายตารางเล็ก ๆ ดูน่ารัก กระจกบานเกล็ดขัดล้างให้สะอาดโดยไม่เปลี่ยนใหม่ ผนังเดิมที่เป็นกระเบื้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ สีขาวยังคงไว้ แต่ใช้วิธีทาสีฟ้าใส ๆ ทับกระเบื้องเก่า ซึ่งเทคโนโลยีสีที่ทาทับกระเบื้องได้นี้มีให้เลือกใช้หลาย ๆ แบรนด์ เป็นเปลี่ยนบรรยากาศห้องให้น่าใช้งานแบบไม่ต้องลงทุนมาก

โต๊ะทานข้าวโมเดิร์นเล็ก ๆ

ห้องน้ำก่อนปรับปรุง

Before : ห้องน้ำเก่าแคบมาก ๆ ขนาดเพียงประมาณ 1×3 เมตรเท่านั้น ภายในเป็นส้วมแบบนั่งยองๆ และพื้นที่อาบน้ำฝักบัวในห้องเดียว ทำให้ทุกครั้งที่อาบน้ำห้องน้ำจะเปียกทั่วทั้งห้อง ตรงผนังมีอ่างน้ำก่ออิฐปูกระเบื้องยื่นออกมาจากผนัง ยิ่งทำให้ห้องดูแคบมากขึ้นไปอีก

ห้องน้ำหลังปรับปรุง

After : เนื่องจากพื้นที่ที่น้อยอยู่แล้วไม่สามารถขยับขยายได้ และงบประมาณที่มีจำกัด เจ้าของบ้านจึงเลือกทำพื้นก่อน โดยรื้ออ่างน้ำและโถสุขภัณฑ์เดิมออก ทำให้ห้องดูกว้างขึ้น เปลี่ยนใช้กระเบื้องลายสวยสีเทา ส่วนผนังไม่ได้เปลี่ยนกระเบื้องแต่ใช้วิธีซื้อน้ำยาที่มีฤทธิ์เป็นกรดสำหรับล้างกระเบื้องในร้านฮาร์ดแวร์มาขัดให้สะอาดขึ้น และหลังจากนี้จะทำแผ่นหินอ่อนติดผนังเพิ่ม (ถ้ามีงบเพิ่ม) ส่วนโซนอาบน้ำยังอยู่จุดเดิมแต่เพิ่มรูระบายน้ำบนพื้น เพื่อให้น้ำระบายได้ดีขึ้น น้ำไม่ขังเปียกนานซึ่งจะเป็นสาเหตุของความลื่นในห้องน้ำได้

ห้องนอนหลังรีโนเวท

ประตูหน้าบ้านเหล็กดัด

โซนหลังบ้านยังไม่มีแพลนจะทำอะไรต่อ เจ้าของบ้านจึงทำกันสาดก่อนและปูหญ้าเทียมเอาไว้จำลองเป็นสนามหญ้าเล็ก ๆ หากมีงบประมาณแล้วค่อยคิดแผนในอนาคต ซึ่งอันที่จริงแล้วหากเจ้าของบ้านใช้พื้นที่ใต้กันสาดจัดสวน แล้วรื้อหน้าต่างที่ผนังออกทำเป็นประตูบานเฟี้ยมหรือบานเลื่อนสูงจากพื้นจรดเพดาน จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวแบบเพื่อการพักผ่อนที่ขยายจากพื้นที่ครัวไปยังสวนในร่มได้โดยตรง ทำให้บ้านสดชื่นขึ้นอีกนิด

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การซื้อบ้านเก่ามาปรับปรุงอาจจะคุ้มค่ากว่าซื้อบ้านในโครงการใหม่ เพราะมักจะใช้จ่ายเพิ่มในส่วนตกแต่ง แต่ไม่ยุ่งกับโครงสร้างบ้านเดิมที่ยังดีมากนัก ทั้งนี้ก่อนจะตัดสินใจรีโนเวท เจ้าของบ้านต้องไม่ลืมตรวจสอบตัวอาคารก่อนว่าส่วนไหนที่ทุบรื้อได้ ส่วนไหนทุบรื้อหรือไม่ได้ เช่น เสาหรือผนังที่เป็นตัวรองรับน้ำหนักอาคาร  บ้านบางหลังไม่ได้เผื่อสำหรับเพิ่มน้ำหนัก ในการต่อเติมต้องคำนึงถึงน้ำหนักที่เพิ่มมาด้วย เช่น ครัวปูน  ซึ่งอาจทำให้โครงสร้างบ้านทรุดได้  ถ้าไม่แน่ใจควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างวิศวกรหรือสถาปนิกจะดีที่สุด เพื่อไม่ให้เสียมากกว่าได้

 

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด รีโนเวทบ้าน


โพสต์ล่าสุด