ปรับปรุงบ้านยุค Mid century modern
การแบ่งปันและผสมผสานแนวคิดข้ามซีกโลกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้และมีมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะเป็นเพราะการสื่อสารที่ทำให้โลกแคบลง เราจึงได้เห็นบ้านที่มีกลิ่นอายเอเชียในซีกโลกตะวันตก หรือบ้านแบบตะวันตกในเขตทรอปิคอล เหมือนเช่นบ้านหลังนี้ใน Kingsland Residence ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องจากเป็นที่พักของครอบครัว Takashi Yanai และ Patti Rhee ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของสถาปนิก EYRC Yanai ซึ่งเกิดที่ญี่ปุ่นแต่โตที่แคลิฟอร์เนีย เขาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเป็นเวลาหลายปีและทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการของ GA Houses บ้านนี้จึงสะท้อนถึงหลักการสมัยใหม่ของทั้งชาวแคลิฟอร์เนียและกลิ่นอายญี่ปุ่นไปพร้อมกัน
ออกแบบ : EYRC Architects
ภาพถ่าย : :Poketo – Ye Rin Mok, Paul Vu, Stephen Schauer
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
Kingsland Residence ตั้งอยู่ในย่าน West Side ที่เต็มไปด้วยฟาร์มปศุสัตว์ โครงการเป็นบ้านที่สร้างในยุค Mid century modern องค์ประกอบสำคัญของการออกแบบในยุคนี้ คือ ความเรียบง่าย ทั้งในพื้นที่เองและวัสดุที่ใช้ทั่วทั้งบ้าน แต่ก็ยอมรับสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย ในขณะที่หลีกเลี่ยงส่วนเกิน สิ่งที่มีอยู่เดิมจึงค่อนข้างดีอยู่แล้ว เพียงแต่ปรับให้ดูทันสมัยขึ้นด้วยชุดสีขาวดำ ระบบประตูที่เหมือนหายไปในผนังเชื่อมต่อชานบ้านกว้างๆ ผลลัพธ์ที่ได้คือบ้านที่กลายเป็นฉากหลังในชีวิตประจำวันที่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกับภายในภายนอก
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
บ้านก่อนปรับปรุงโครงสร้างดีอยู่แล้ว แต่วัสดุและสีเดิมจะมีกลิ่นอายยุคเก่า ๆ และรายละเอียดที่มากกว่า บ้านใหม่คงเค้าโครงเดิม เปลี่ยนสีเป็นสีดำ รื้อประตูและเฉลียงออกเปลี่ยนให้ดูเรียบ ง่าย เท่ขึ้น การภายนอกของบ้านทาสีดำด้าน เพื่อทำให้ภายนอกของบ้านเป็นกลาง ๆ ดึงดูดความสนใจสูงสุดไปที่ภูมิทัศน์และสวนที่ออกแบบโดย Terremoto รวมถึงการตกแต่งภายในแบบมินิมอลด้วย
แนวคิดโดยรวมของการปรับปรุงคือการนำภายนอกเข้ามาภายใน ซึ่งเป็นสิ่งที่บ้านเดิมขาดไป และการจัดสรรภายในให้เต็มไปด้วยสิ่งที่ชอบ แต่บ้านยังคงเรียบร้อยไม่รกตา เราจะเห็นชิ้นงานศิลปะที่ผสมผสานระหว่างงานศิลปะโดยเจ้าของเอง และผลงานชิ้นอื่นๆ ของศิลปินชื่อดังอย่าง Hiroshi Sugimoto และ Daido Moriyama ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับ Takashi มีอยู่ทั่วบ้าน และมีหนังสือเป็นส่วนสำคัญของชีวิตครอบครัว เมื่อเปิดประตูหน้าบ้านเข้ามา ก็จะเห็นชั้นวางหนังสือจากไม้อัดที่ทำขึ้นเองตามความยาวของห้องนั่งเล่นเป็นจุดโฟกัสสายตา
อีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญมากในการตกแต่งภายในที่เปลี่ยนไป คือการสร้างพื้นที่ภายในที่ไหลลื่นอย่างเป็นธรรมชาติ และเอื้อต่อการใช้ชีวิตและการใช้งานที่ลงตัว ทั้งคู่ตั้งใจวางแนวของบ้านให้สามารถเข้าถึงสวนได้ และเดินสัญจรจากจุดหนึ่งไปอีกจุดได้สะดวก จึงตัดเอาองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น รื้อผนังเดิมออกเหลือผนังเพียงด้านเดียวที่กั้นระหว่างพื้นที่นั่งเล่นและห้องครัว การเปลี่ยนมาใช้แสงแบบฝังแทนโคมไฟห้อย ส่วนพื้นก็ขัดพื้นไม้โอ๊คแดงเดิมแล้วเคลือบผิวหน้าใหม่แบบด้านไม่เงาวับเหมือนที่นิยมในบ้านยุคเก่า
ห้องนั่งเล่นเดิมและห้องนั่งเล่นหลังปรับปรุง
จากประตูเดิมที่เป็นบานเลื่อนออกด้านข้างดีไซน์เป็นช่อง ๆ ก็ยังรู้สึกว่าเปิดไม่พอ หลังปรับปรุงจึงทำประตูบานเลื่อนขนาดใหญ่เก็บเข้าผนังด้านข้างได้หมด เพื่อจัดกรอบสวนหลังบ้าน ทำให้เส้นแบ่งระหว่างในบ้านและนอกบ้านถูกเบลอเข้าด้วยกัน แล้ววางโต๊ะอาหารติดกับกรอบนี้ ซึ่งจะจะสร้างพื้นที่ที่เหมือนเวที สำหรับใช้ในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของวัน นั่นคือการรับประทานอาหารกับครอบครัว
ที่บ้านมีสมาชิกวัยรุ่นสองคนที่เรียนทางไกลจากบ้าน จึงมีเวลาอยู่ที่บ้านค่อนข้างมาก และคุณพ่อคุณแม่ที่ยุ่งอยู่กับการทำงาน ดังนั้นเราจะเห็นว่าทุกพื้นที่ในบ้านจึงถูกจัดให้โปร่ง โล่ง ยืดหยุ่น เอื้อให้เด็ก ๆ สามารถเรียนจากโต๊ะอาหาร ในห้องนั่งเล่น หรือชานบ้าน ส่วนพ่อแม่ก็มีพื้นที่สำนักงานในครัวที่มองออกมาเห็นสมาชิกในบ้านได้ตลอดเวลา ห้องขนาดใหญ่นี้ห้องเดียวที่สวมหมวกหลายใบ ทำหน้าที่เป็นพื้นที่นั่งเล่น รับประทานอาหาร ทำงาน และพื้นที่พักผ่อนสำหรับ Yanai, Rhee และลูกสองคน
“ฉันคิดว่ามันเป็นชีวิตที่เรียบง่าย” Yanai สถาปนิกกล่าว “การทำอะไรให้น้อยที่สุดนั้นต้องใช้ความพยายามมากกว่าที่คิดนะ เมื่อคุณใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย คุณจะตัดสินใจว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคุณ และพยายามไม่ไปไกลกว่านั้น ชีวิตของเราเรียบง่ายอย่างที่ควรจะเป็น และไม่ง่ายไปกว่านี้อีกแล้ว”
สถาปนิกทำงานในญี่ปุ่นก่อนที่จะเข้าเรียนที่ Harvard Graduate School of Design และหลักฐานเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่นของเขาสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในบ้านของเขา พื้นที่ภายนอกสวนที่มีความแตกต่างจากของตกแต่งแบบญี่ปุ่นที่ซ่อนอยู่ ถูกทำให้ดูกลมกลืนกับความเป็นแคลิฟอร์เนียทั้งหมด กลายเป็นจุดโฟกัสเมื่อสัมผัสบ้านจากภายในและภายนอก
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : สำหรับบ้านที่ต้องการเปิดพื้นที่ใช้งานภายในให้เชื่อมต่อกับภายนอก สามารถทำได้ผ่านระบบประตู ซึ่งจะมีให้เลือกหลายรูปแบบตามความกว้าง วิธีการเปิด และดีไซน์ที่เข้ากันได้กับบ้าน อย่างเช่น ประตูบานเลื่อนกระจกแบบบานคู่เปิดออกด้านข้าง ซึ่งผนังด้านข้าง 2 บานจะติดตายเปิดออกได้ไม่หมด ประตูบานเลื่อนแบบ 3 บานที่เลื่อนสลับได้ เลือกความกว้างของการเปิดได้ แต่ก็เปิดออกได้ไม่หมดความกว้างของช่องเปิดเช่นกัน หรือจะเลือกแบบประตูบานเลื่อน pocket door ที่เก็บเข้าไปในผนังด้านข้าง จะเปิดได้กว้างที่สุดและไม่กินพื้นที่บ้านด้วย |
แปลนบ้าน