เมนู

Life in Slope สนุกกับพื้นที่ชีวิตแบบขั้นบันได

สร้างบ้านบนที่ดินสโลป

บ้านบนเนินต่างระดับ

ถ้าเราได้ยินใครคนหนึ่งพูดว่า “กำลังเดินอยู่บนบ้าน” ภาพในความคิดที่น่าจะเหมือน ๆ กันคือ “อยู่ในบ้านบริเวณชั้นบน”  แต่ถ้าผู้อ่านมาเห็นวิธีการใช้งานบ้านหลังนี้ในประเทศเอกวาดอร์ จะเข้าใจคำว่าเดินอยู่บนบ้านอย่างชัดเจนตรงตัว เพราะเจ้าของบ้านสามารถเดินผ่านหลังคาบ้านจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้สบาย ๆ ที่นี่คือ ‘Casa en Pendiente’ เป็นบ้านที่พยายามใช้การออกแบบสถาปัตยกรรมให้เป็นชิ้นเดียว เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้ที่หลากหลาย (เช่นกัน) ในขณะที่ลักษณะที่ดินไม่เป็นใจ สถาปนิกจะแก้โจทย์อย่างไรต้องตามไปดู

ออกแบบ : El Sindicato Arquitectura
ภาพถ่าย : Andrés Villota
เนื้อหาบ้านไอเดีย

สร้างบ้านบนเนินต่างระดับ

โจทย์ยากของครอบครัวนี้คือ ที่ดินเป็นเนินต่างระดับ ค่อย ๆ ลาดชันขึ้นไปเหมือนขั้นบันได และลูกสาวลูกสาวสองคนมีความต้องการความเป็นอิสระและความเป็นส่วนตัวสูง ตามกลยุทธ์เชิงแนวคิดสำหรับโครงการนี้ ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพของที่ดินไม่เหมือนที่อื่นๆ หากจะปรับหน้าดินให้เท่ากันก็เกินกำลัง แต่ถ้าสร้างบ้านเฉพาะบริเวณที่ราบเป็นจุด ๆ พื้นที่จะเป็นอิสระจริงแต่จะแยกจากกันห่างออกไปมาก ดังนั้นเพื่อเป็นคำตอบในการแก้ปัญหา สถาปนิกจึงเลือกใช้วิธีการวางตัวอาคารเป็นรูปทรงกล่องตามตำแหน่งของพื้นที่เรียบๆ ในแต่ละขั้น แต่ละกล่องจะมีฟังก์ชันต่างๆ กัน แล้วใส่โถงทางเดินกระจกใสเชื่อมต่อทุกอาคารเข้าด้วยกัน

บ้านบนเนิน slope

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

ภาพมุมมองบ้านจากด้านบน

จากภาพ Bird eyes view จะเห็นว่าบ้านแบ่งเป็นทั้งหมด 3 อาคารไล่ระดับขึ้นไป แต่ละอาคารมีอิสระระหว่างกัน แต่ก็มีองค์ประกอบของทางเดินและผนังกระจกโปร่งใส เป็นเหมือนกระดูกสันหลังของบ้านที่เชื่อมต่อแต่ละจุดเอาไว้ด้วยกัน

สนามหญ้าระหว่างอาคาร

ด้วยลักษณะของบ้านที่เป็นเนินและปรับระดับหน้าดินไม่ได้มาก เราจะเห็นบางส่วนของอาคารที่เหมือนจมลงไปในพื้นดิน แต่อีกอาคารกลับเหมือนโผล่ขึ้นมาเหนือดิน สิ่งนี้ทำให้บ้านดูมีความน่าสนุก ระหว่างเดินไต่ระดับจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งไม่รู้สึกถึงความชัน แต่ละระดับของพื้นดิน เจ้าของบ้านจะได้รับทัศนียภาพอันงดงามของบริบทต่างๆ กัน ชั้นล่างสุดเชื่อมต่อกับชุมชน ชั้นกลางซึมซับภูมิทัศน์โดยรอบและวิวที่สูงขึ้น ส่วนชั้นบนจะเห็นทั้งท้องฟ้าและวิวที่ไกลขึ้นไปถึงภูเขาไฟ Ilalo ที่อยู่ไกลออกไป

สนามหญ้าระหว่างอาคาร

ตกแต่งอาคารแบบขั้นบันได

สวนและสนามหญ้านั่งเล่นที่แทรกอยู่ระหว่างอาคาร ตั้งใจจัดเพื่อเพิ่มความเขียวขจี ลดความรู้สึกแข็งกระด้างของบ้านที่เต็มไปด้วยวัสดุอิฐและคอนกรีต พร้อมกันนี้ยังเหมือนเป็นกันนรักษาความเป็นส่วนตัวระหว่างอาคารมากยิ่งขึ้น โดยไม่กระทบต่อทัศนียภาพที่เปิดออกสู่ภูเขาไฟอิลาโลและภูมิทัศน์โดยรอบ

โถงทางเดินและหลังคาแบบขั้นบันได

หลังคาแบบขั้นบันได

จุดเด่นที่สุดของบ้านนี้ คือ การเชื่อมต่อระหว่างอาคาร ผ่านโถงทางเดินที่ทำล้อกับลักษณะที่ดินเป็นขั้นบันได ผนังด้านข้างเป็นกระจก ด้านบนเป็นวัสดุคอนกรีตที่เชื่อมต่อกับดาดฟ้าของอาคารอื่น ๆ เอาไว้ สามารถเลือกได้ว่าจะเดินหลบฝนหลบแดดในโถงกระจกข้างใน หรือว่าจะ “เดินบนบ้าน” ผ่านไปยังหลังคาห้องอื่นๆ ก็ได้ตามสะดวก และในช่วงที่ใส่สะพานเชื่อมต่อจะมีสวนคั่นอยู่ทุกระยะ ทำให้ทุกครั้งที่เดินไปมาช่างเต็มไปด้วยความสุนทรี

ครัวคอนกรีตและอิฐโชว์แนว

โครงการออกเป็นสามช่วงตึกหลัก เรียงตามกิจวัตรของครอบครัว เริ่มต้นที่ความสูงระดับล่างสุดเป็นห้องนอนลูก ๆ 2 ห้อง ขยับขึ้นมาระดับกลางซีกหนึ่งจะเป็นครัว ที่มองออกไปเป็นสวนผัก และมีพื้นที่สำหรับพบปะสังสรรค์จัดกิจกรรมทางสังคมภายนอก หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงของครอบครัว ส่วนอีกฟากหนึ่งเป็นห้องนอนคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นกระจกสามารถมองเห็นห้องลูก ๆ ได้ ด้านบนสุดติดกับถนนทางเข้าและโรงรถ ประกอบด้วย ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องน้ำ เป็นสถานที่ที่ทุกคนในครอบครัวจะมารวมตัวกันเพื่อทำอาหาร กิน ทำงาน และนั่งพูดคุยโต้ตอบสัพเพเหระกันสนุก ๆ

ครัวอิฐโชว์แนวสไตล์ลอฟท์

ครัวอิฐโชว์แนวสไตล์ลอฟท์

ห้องนอนผนังกระจกเชื่อมต่อสวน

บล็อกล่างสุดจะเป็นห้องนอนของลูกสาวสองคน ทั้งสองส่วนมีมิติเท่ากัน แต่ได้รับการปรับแก้ไนบางจุด ซึ่งจะกำหนดโดยยึดกิจวัตรการใช้ชีวิตของเจ้าของห้องเป็นหลัก คนแรกจะจัดลำดับความสำคัญการติดต่อภายนอกจึงมีระเบียงที่ส่วนหน้าของบล็อก อีกคนหนึ่งจัดลำดับความสำคัญของการจัดเก็บและการดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงห้องแต่งตัวขนาดใหญ่รวมอยู่ในส่วนหลัง เป็นต้น

บ้านปูนเปลือยผนังอิฐสไตล์ลอฟท์

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : หากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่สวยงามและสบาย สถาปนิกมักจะใช้วัสดุกระจกในบริเวณกว้าง และทำประตูขนาดใหญ่ เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่โล่งกลางแจ้งให้เต็มที่ ดึงให้คนในบ้านออกมาใช้ชีวิตนอกกรอบบ้าน ให้โซนเอาท์ดอร์เหมือนเป็นส่วนขยายจากตัวบ้าน ซึ่งสามารถทำได้ในทุกห้องไม่ว่าจะเป็นห้องนอน พื้นที่รับประทานอาหารและห้องครัว ในขณะเดียวกันความใสของกระจกอาจจะลดความเป็นส่วนตัวลง จึงต้องมีการวางแผนเพิ่มความเป็นส่วนตัวจากสายตาบุคคลภายนอกเอาไว้ด้วย อาทิ การทำสวนมีต้นไม้เป็นแนวบังสายตา หรือใส่ผ้าม่าน เป็นต้น

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด