เมนู

สัมผัสหัวใจได้เต็มอิ่ม ในบ้านหลังเล็กสไตล์ญี่ปุ่น

บ้านหลังเล็กสไตล์ญี่ปุ่น

บ้านเล็กในญี่ปุ่น

สำหรับคนที่หัวใจเต็มไปด้วยความอบอุ่น คงมองหาแบบบ้านที่เห็นปุ๊บรู้สึกได้ถึงความ cute รูปลักษณ์ไม่ต้องหวือหวา ขนาดไม่ใหญ่ พอเป็นรังเล็ก ๆ ที่อยู่แล้วสบายใจไม่เวิ้งว้าง ใครที่ชอบเหมือนกันต้องเข้ามาสัมผัสกับบ้านในประเทศญี่ปุ่นหลังนี้ ด้วยดีไซน์ภายนอกที่เรียบง่าย มีลูกเล่นรอบ ๆ ที่ไม่ทิ้งความน่ารักแบบญี่ปุ่น ๆ ภายในตกแต่งด้วยไม้ให้ความคลาสสิคปนกลิ่นอายชนบท ไม่ว่าจะมองไปมุมไหนก็ชวนให้ผ่อนคลายจนอยากหลอมละลายอยู่ในบ้านกันเลยค่ะ

ออกแบบzest kurashiki
เนื้อหาบ้านไอเดีย

ซุ้มประตูเล็ก ๆ หน้าบ้าน

บ้านเรียบ ๆ ที่น่ารักตั้งแต่ทางเข้า

N’s บ้านชั้นเดียวหลังเล็ก ๆ ที่สร้างภายใต้ข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง เช่น พื้นที่ขนาดกะทัดรัด ทางทิศใต้ติดกับคอนโดมิเนียมสามชั้นบังทิศทางแสงและลม บ้านจึงต้องการบ้านที่มีแสงแดดส่องถึงในขณะที่ยังรู้สึกเป็นส่วนตัว นักออกแบบดีไซน์ภายนอกให้เป็นบ้านหลังคาจั่วที่มี 2 ตอนลึกเข้าไป ผนังทาสีเบจและกระเบื้องมุงหลังคาสีน้ำตาลเข้มเป็นการตกแต่งที่เรียบง่ายแต่สงบน่ารัก จากด้านหน้าเราจะเห็นพื้นเทคอนกรีตเป็นสี่เหลี่ยมมุมมน มีทางเดินปูแผ่นอิฐเลื้อยคดโค้งต่อเชื่อมมาถึงสเต็ปบันไดนำเข้าสู่ประตูบ้าน ทำให้รู้สึกว่าบ้านยิ่งน่ารักและน่าสนุก ซุ้มทางทางเข้าเล็ก ๆ ที่คลุมประตูอยู่มีหลังคากันสาดผื่นออกมาทำหน้าที่เสมือนร่มที่ช่วยปกป้องบ้านในวันที่ฝนตก อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดถึงความใส่ใจของนักออกแบบคือรางน้ำฝนและท่อระบายน้ำ ที่เลือกสีให้เข้ากับหลังคาและผนัง จึงไม่ได้ทำให้บ้านดูด้อยลงแต่กลับเสริมให้บ้านดูเด่นขึ้น

ตกแต่งคานไม้บนเพดาน

ภายในบ้านจัดพื้นที่ใช้งานเป็นห้องโล่ง ๆ แบบ open plan ให้ส่วนรวมอยู่ตรงกลางโดยรวมฟังก์ชันครัว โต๊ะทานอาหาร ห้องนั่งเล่นให้เรียงต่อ ๆ กันแบบไม่มีผนังกั้น วิธีนี้จะทำให้บ้านขนาดเล็กมีพื้นที่ใช้สอยที่ลื่นไหล ยืดหยุ่น และทำให้บ้านดูกว้างขึ้น ตกแต่งโดยใช้วัสดุไม้จริงเป็นหลัก จึงได้สัมผัสที่นุ่มนวลอบอุ่นเวลาเดินอยู่ภายในและให้บ้านที่มีกลิ่นหอมของไม้ในบ้านทั้งหลัง

ห้องนั่งเล่นโปร่งสว่างและอบอุ่น

หลังคาเปิดออกรับแสงได้

ห้องนั่งเล่นที่สว่างสะดวกสบายจนคุณนึกไม่ถึงว่ามีคอนโดมิเนียมสูง 3 ชั้นบังอยู่ทางด้านทิศใต้ นั่นเป็นเพราะสถาปนิกแก้โจทย์ด้วยการใช้วิธีการใส่ประตูสไลด์บานกระจกขนาดใหญ่เพื่อดึงแสงแดดส่องเข้ามาทางประตูหน้าต่าง พร้อม ๆ กับเปิดรับลมให้ไหลเวียนเข้าไปภายใน และเพิ่มช่องแสงสกายไลท์ ให้บ้านสามารถรับแสงเพิ่มจากบนหลังคา ส่วนของช่องแสง skylight นี้สามารถปิด-เปิดได้ตามต้องการใช้งานที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงของวัน

ครัวและห้องนั่งเล่น

รายละเอียดการตกแต่งบ้านมีกลิ่นอายความเป็นชนบทสไตล์ country ที่เน้นความเรียบง่าย เป็นกันเอง อบอุ่น ผ่านเฟอร์นิเจอร์ไม้สีน้ำตาลเข้ม ของตกแต่งเหล็ก ผ้า โทนสีเอิร์ธโทน อย่างเช่น ราวม่านเหล็กปลายดัด ผ้าม่านลินิน โคมไฟแก้ว


ครัวตกแต่งไม้

เคาน์เตอร์ครัวและไอสแลนด์ไม้

งานไม้ที่ให้ความอบอุ่น

ครัวไม้สีน้ำตาลเข้มแบ่งเป็น 2 สเตชัน มีไอสแลนด์สำหรับเตรียมอาหาร และเคาน์เตอร์เตรียมอาหารและเตาปรุงที่ค่อนข้างยาว เพื่อให้การใช้งานสะดวกสบาย ในช่วงของเตาและซิงค์ล้างตกแต่งผนังด้วยแผ่นอิฐสีเข้มเก่าๆ ที่เรียงโชว์แบบไม่ฉาบทับ ลักษณะการก่ออิฐไม่ได้ทำเต็มพื้นที่ผนัง เหมือนเป็นบ้านเก่าที่ปูนฉาบกระเทาะหลุดไป บ้านจึงดูมีเรื่องราวมากขึ้น เป็นลูกเล่นเล็ก ๆ ที่เพิ่มอารมณ์ Homey ให้โซนครัวมากขึ้น

ครัวไม้ในบ้านญี่ปุ่น

ห้องทำงาน

การทำผนังให้เป็นช่องเปิดโค้ง ๆ จะสร้างบรรยากาศที่นุ่มนวลให้กับบ้าน และทำให้มีความหลากหลายของเส้นสายไม่ให้มีแต่ความแข็งกระด้างของเส้นตรงเท่านั้น

ห้องน้ำ

ใส่กลิ่นอายยุคเก่าเข้าไปในบ้านใหม่

ห้องน้ำ 2 ห้องได้รับการออกแบบมาให้รถเข็นสามารถเข้าออกได้ เผื่อใช้ในยามจำเป็นหรือแก่ชราลง การตกแต่งทำเป็น 2 รูปแบบ คือแบบที่บิลท์ตู้เก็บของพร้อมเคาน์เตอร์ล้างมือเพื่อให้จัดเก็บกระดาษและเครื่องมือทำความสะอาดได้อย่างสะดวกสบาย ปูพื้นด้วยไม้เพื่อสร้างบรรยากาศที่สงบและให้ความรู้สึกดี ส่วนอีกห้องหนึ่งจะทำเคาน์เคอตร์ซิงค์แบบเปลือย แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ อ่างล้างมือที่ทำจากเซรามิกเขียนลาย ซึ่งเข้ากันได้ดีกับกระเบื้องลายโบราณและก็อกน้ำทองเหลืองรมดำสไตล์เรโทร ได้กลิ่นอายของยุคสมัยเก่าที่จัดวางให้เข้ากันได้กับบ้านในยุคใหม่

อ่างล้างมือเซรามิคเขียนลาย

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การสร้างบ้านแต่ละหลัง สิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นหลักเพื่อให้บ้านอยู่สบายคือ การศึกษาทิศทางของลมและแสงแดด เพื่อจัดตำแหน่งใส่ช่องเปิดให้รับลมได้เต็มที่ บ้านรับแสงในปริมาณที่พอเหมาะ และหาทางหลบแสงอาทิตย์ที่แรงเกินไป แต่หากมีข้อจำกัดในบริบทแวดล้อมในการรับแสงรับลม ก็ต้องหาทางรับมือตั้งแต่ในขั้นตอนออกแบบ เช่น พื้นที่แสงน้อยในด้านข้าง ก็อาจจะเพิ่มช่องแสง skylight โดยใส่วัสดุโปร่งแสงบนหลังคาดึงแสงเข้ามาจากด้านบนแทน หรือเปิดช่องลมด้วยการใส่บานระแนงเป็นฟาซาดที่ยังรับแสง รับลม และมองเห็นความเคลื่อนไหวภายนอกได้บ้าง เป็นต้น

 

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด