เมนู

ที่ดิน ส.ป.ก. ซื้อขายได้หรือไม่ ซื้อมาแล้วกรรมสิทธิ์เป็นของใคร

เตือน ซื้อที่ดิน ส.ป.ก.

เงินอาจหาย เมื่อซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก.

เรื่องมีอยู่ว่า ผู้เขียนเองต้องการหาซื้อที่ดินแนวธรรมชาติ หาซื้อเผื่อไว้วันใดวันหนึ่งต้องการทำเกษตรหรือทำบ้านพักวัยเกษียณจะได้มีพื้นที่ไว้พักผ่อนกาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินที่อยู่ใกล้ป่าเขา ติดลำธาร ที่ดินลักษณะนี้จะมีความหลากหลายด้านสิทธิครับ หากเอาเฉพาะที่มีขายกันทั่วไปจะมีทั้งที่ดินโฉนด นส.4, นส.3 , ที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์,และที่ดิน ส.ป.ก.

เนื้อหานี้ขอพุ่งเป้าไปที่ ที่ดิน ส.ป.ก. เนื่องด้วยช่วงเช้าที่ผ่านมาเกิดประเด็นถกเถียงกันระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อในกลุ่มซื้อขายที่ดินกลุ่มหนึ่ง ทำให้ผู้เขียนทราบข้อมูลว่า ปัจจุบันยังมีผู้คนจำนวนมากอาจจะยังไม่เข้าใจถึงสิทธิในที่ดินแบบ ส.ป.ก. ที่ดินลักษณะนี้จะสามารถใช้ประโยชน์ใดได้บ้าง ซื้อขายได้หรือไม่และสุดท้ายแล้วกรรมสิทธิ์เป็นของใคร อ่านรายละเอียดกันเลยครับ

ติดตามผู้เขียน : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์

อย่าเชื่อ ขายที่ดิน ส.ป.ก.

ที่ดิน ส.ป.ก. คืออะไร

แม้ไม่ใช่คนที่กำลังหาซื้อที่ดินก็อาจจะคุ้น ๆ กับชื่อ “ส.ป.ก. 4-01ที่ดิน ส.ป.ก. เป็นเอกสารสิทธิที่ภาครัฐให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน เริ่มขึ้นเมื่อมีพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มีหลักการสำคัญว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องมีฐานะยากจน

ที่ดิน ส.ป.ก. สามารถซื้อขายได้หรือไม่

เนื่องด้วยเป็นคำถามเชิงกฎหมาย ผู้เขียนจึงขอนำมาตรากฎหมายมาให้อ่านกันครับ โดยที่ดิน ส.ป.ก. จะเกี่ยวข้องกับ มาตรา ๓๙ ระบุไว้ว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทําการ แบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนีให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง

สรุปคำตอบจากมาตรา ๓๙ คือ ซื้อขายไม่ได้ครับ และหากจะส่งต่อเอกสารสิทธิ สามารถส่งเป็นมรดกให้แก่ทายาทเท่านั้น และเพื่อยืนยันในคำตอบ ขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่เคยเป็นคดีความฟ้องร้องกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2293/2552

พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร ฯลฯ ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้จะมีการซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยกันจริง นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยก็เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150ในเขตปฏิรูปที่ดิน บุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองจากผู้ที่ได้รับการจัดการ เพราะหากผู้ได้รับการจัดสรรละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองจะตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอีกครั้ง ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดสรรให้เกษตรกรที่เหมาะสมต่อไป และ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 37 บัญญัติห้ามมิให้ยกอายุความครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องที่ดินหรือสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว


คำถามต่อมา หากซื้อขายกันไปแล้ว วันใดวันหนึ่งผู้ขายต้องการทวงคืนกรรมสิทธิ์ หรือผู้ซื้อต้องการเรียกร้องเงินคือ จะสามารถเรียกร้องเงินคืนได้หรือไม่ มีกรณีศึกษาเช่นกันครับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1876/2542

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท(ซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน)ระหว่างโจทก์กับจำเลย มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ซึ่งตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 การที่โจทก์ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพิพาทให้จำเลยย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย กรณีต้องด้วย ป.พ.พ.มาตรา 411 ที่โจทก์ไม่อาจเรียกเงินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ดังนี้หนังสือสัญญากู้เงินฉบับพิพาทที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญาที่จำเลยตกลงยอมรับผิดใช้หนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะด้วยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์

สรุป จ่ายตังค์ฟรีครับ ตามกฎหมายแล้วผู้ซื้อจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ใด ๆ ในที่ดินผืนนั้นและไม่สามารถเรียกร้องขอเงินคืนได้ด้วย เนื่องด้วยข้อตกลงดังกล่าวเป็นการตกลงที่เป็นข้อห้ามตามกฎหมาย สัญญาซื้อขายใด ๆ จึงเป็นโมฆะ ดังนั้น ใครกำลังหาซื้อที่ดินธรรมชาติ ที่ดินเกษตร ที่ดินใกล้ป่าเขา แนะนำให้ซื้อเฉพาะที่ดินโฉนดที่สามารถซื้อขายได้ย่อมดีกว่าครับ จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยติดต่อซื้อที่ดิน ผู้ขายจะนิยมบอกว่า สามารถให้ผู้ใหญ่บ้านเซ็นเป็นพยานให้ได้ หรือซื้อขายในลักษณะเชื่อใจกัน

ซึ่งการซื้อขายลักษณะนี้อาจจะกระทำได้บ้างในกรณีที่เป็นญาติ เป็นพี่น้องกัน แต่ถึงแม้จะเป็นญาติหรือพี่น้องกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดปัญหานะครับ เพราะแม้ผู้ขายจะไม่ทวงคืนที่ดินผืนดังกล่าว ก็ยังไม่อาจมั่นใจได้ว่า อนาคตทายาทของผู้ขายจะกลับมาทวงคืนหรือไม่ การอยู่อาศัยหรือครอบครองที่ดินที่ได้มาโดยไม่ถูกต้องตามกฏหมายเป็นอะไรที่ทำให้เกิดความระแวงใจ ทางที่ดีไม่ควรยุ่งเกี่ยว ไม่ซื้อที่ดิน ส.ป.ก. ย่อมดีที่สุดครับ

ที่ดิน ส.ป.ก. ซื้อขายได้หรือไม่

ที่ดิน ส.ป.ก. เปลี่ยนเป็นโฉนดได้หรือไม่

ปิดท้ายกันด้วยข้ออ้างของผู้ขายที่มักบอกว่า ที่ดินลักษณะนี้สามารถเปลี่ยนเป็นโฉนดได้ ที่ดินใกล้เคียงได้รับโฉนดกันทั้งหมดแล้ว อาจจะจริงที่ว่าที่ดินใกล้เคียงเป็นโฉนด แต่นั่นอาจจะเป็นโฉนดมาตั้งแต่ต้นแล้วก็เป็นได้ครับ ตามกฎหมายแล้วที่ดินแปลงใด ๆ ย่อมเป็นสิทธิ์ในรูปแบบที่ดินแปลงนั้น ๆ จะไม่สามารถมาเทียบเคียงกับที่ดินแปลงข้างเคียงได้ ผู้เขียนเคยไปซื้อที่ดินในชุมชนแห่งหนึ่ง ที่ดินแปลงติด ๆ กัน แต่กลับมีสิทธิ์หลายรูปแบบมากครับ ทั้งที่ดินโฉนด ที่ดินป่าไม้ ที่ดินราชพัสดุ ทั้ง ๆ ที่อยู่ติด ๆ กันทั้งหมดเลย

หมายเหตุ : เนื้อหาดังกล่าวนี้เขียนไว้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 หากอนาคตข้อกฎหมายเดิมถูกเปลี่ยนแปลงก็อาจจะทำการเปลี่ยนเป็นโฉนดได้ครับ แต่ ณ วันที่เขียนบทความนี้ ยังไม่สามารถเปลี่ยนเป็นโฉนดได้ และยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ครับ http://credit-n.ru/kreditnye-karty.html http://www.tb-credit.ru/articles.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด อสังหาฯ พาเพลิน


โพสต์ล่าสุด