บ้านโมเดิร์นสีขาว
การสร้างบ้านหลังหนึ่งสิ่งที่จะลืมไม่ได้คือ ความสอดคล้องระหว่างผู้ใช้งานกับบริบทแวดล้อมและภายใน โดยต้องทำการศึกษาจำนวนสมาชิก พฤติกรรม อายุ เพื่อออกแบบทุกองค์ประกอบให้ตอบโจทย์ความสัมพันธ์หลากรูปแบบในอาคารเดียว ให้ทุกคนที่ใช้งานได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด อย่างในบ้านที่มีเด็กเล็ก ความปลอดภัยก็จะเป็นจุดโฟกัส ในขณะที่สำหรับสมาชิกคนอื่น ๆ ก็ยังต้องใช้งานได้ดี ซึ่งบ้านหลาย ๆ หลังทำได้อย่างน่าสนใจ อย่างเช่นบ้านหลังนี้ที่ออกแบบโดย TOUCH Architect ที่ต้องระมัดระวังเรื่องขนาด ฟังก์ชัน และความปลอดภัยสำหรับเด็กโดยไม่ทิ้งรายละเอียดเท่ ๆ ที่ให้ประโยชน์ไปพร้อม ๆ กัน
ออกแบบ : TOUCH Architect
ภาพถ่าย : Sofography
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
บ้านทรงกล่องคมชัดเหลือแต่สิ่งที่จำเป็น
บ้านสีขาวสไตล์โมเดิร์นมินิมอลหลังนี้สร้างในอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในฟาร์มไก่เก่า โจทย์ในการออกแบบสำหรับสถาปนิกคือจะทำอย่างไรให้บ้านพอดีกับขนาดพื้นที่และรองรับฟังก์ชันการใช้งานตามความคาดหวังของผู้เป็นเจ้าของ การออกแบบบ้านที่ต้องลดขนาดของตัวบ้านลงโดยที่ยังมีฟังก์ชันการใช้งานครบ ต้องทำการเพิ่มพื้นที่ให้มากขึ้นในแนวตั้ง ภาพรวมของบ้านจึงเป็นอาคารทรงกล่องทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสสไตล์โมเดิร์นที่วางซ้อนกัน ให้แต่ละกล่องมีฟังก์ชันชัดเจนโดยที่ยังมีความเชื่อมต่อสัมพันธ์กัน วิธีนี้ยังสามารถดึงและกำจัดพื้นที่ที่ไม่จำเป็นออกไปได้ด้วย
แต่ละส่วนของบ้านสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เส้นสายคมชัดไม่ซับซ้อน เห็นได้ชัดว่าส่วนไหนมีหน้าที่อะไร บริเวณหน้าบ้านมีหลังคากันสาดแผ่นใหญ่ยื่นออกมาทำหน้าที่เป็นโรงรถ ข้าง ๆ มีบันไดและทางเดินเลียบไปด้างข้างอาคารสามารถเดินเข้าออกได้ วัสดุตกแต่งของบ้านหลังนี้ส่วนใหญ่เป็นคอนกรีต หิน กระจก ผนังเน้นสีขาวสลับกับช่องว่างขนาดใหญ่ที่ติดกระจก ทำให้บ้านกล่องที่ดูเหมือนปิดหนาหนักมีความโปร่งและเบาลอยขึ้น
เจาะอาคารให้บ้านหายใจ
ส่วนที่ต้องการการปกป้องจากแสงแดดในชั้นบนเป็นระแนงโครงอะลูมิเนียมที่ทำสีให้ดูคล้ายไม้ เพื่อเพิ่มความทนทานต่อการเผชิญสภาพอากาศภายนอก ส่วนที่ตกแต่งไม้จริงเป็นไม้จากโรงนาเก่าถูกนำมาใช้ใหม่ตกแต่งอยู่ในส่วนของระเบียงกลางแจ้ง, เพดาน, ประตูทางเข้าหลัก และบันได
ผนังบ้านบางส่วนถูกเจาะตัดเฉือนออก เพื่อให้เกิดช่องว่างเป็นพื้นที่หายใจให้กับอาคาร ในส่วนนี้จะเปิดรับแสง ลม และปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่แทรกในอาคาร ให้สีเขียวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม นอกจากจะช่วยเพิ่มชีวิตชีวาให้บ้านแล้ว ยังช่วยลดทอนความแข็งกระด้างและเรียบนิ่งของสีและรูปทรงของบ้านได้ด้วย
ต้อนรับด้วยต้นไม้และโถงสูง
เมื่อเข้าสู่พื้นที่ใช้งานในตัวบ้าน ไม่ว่าจะเข้ามาจากด้านหน้าหรือด้านข้างจะพบกับช่องว่างเจาะโถงสูงและกระถางคอนกรีตขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยไม้ใบเขียวฟอร์มสวยรอต้อนรับอยู่ ทำให้ลืมภาพของบ้านที่ค่อนข้างปิดเมื่อมองดูจากภายนอกไปในทันที ส่วนนี้จะปูพื้นด้วยไม้ให้ความรู้สึกอบอุ่นและใส่อารมณ์แบบชานบ้านเข้าไป ให้เด็ก ๆ นั่งเล่นวิ่งเล่นได้อย่างสนุกสนานไม่ต้องกลัวแดดฝน บ้านนี้มีสามห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว และห้องส่วนกลางสำหรับกิจกรรมอเนกประสงค์ที่ให้ทุกคนในครอบครัวได้ใช้งานร่วมกัน สมาชิกในบ้านประกอบด้วยคู่หนุ่มสาวที่มีลูกเล็ก ๆ สามคน การสร้างบ้านที่มีทุกฟังก์ชั่นที่จำเป็นพร้อมกับพื้นที่กลางแจ้งซึ่งส่วนใหญ่ใช้โดยเด็ก ๆ นั้นจะต้องใช้ได้จริงในทางปฏิบัติและมีความปลอดภัย
โปร่งเบามองเห็นกันได้ทั้งภายในภายนอก
ในระดับชั้นด้านล่างต่อเนื่องจากพื้นที่ทางเข้าหลักและลานไม้เล็ก ๆ จะเป็นประตูบานกระจกยาวหลายเมตร ทำให้บ้านรับแสงได้เท่าที่ต้องการ และช่วยให้ผู้ปกครองสามารถมองดูความเคลื่อนไหวของเด็ก ๆ ที่กำลังเล่นอยู่ข้างนอกได้ชัดเจน ภายในจัดแปลนให้เปิดโล่งขนาดใหญ่มีห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว และห้องกิจกรรมที่ต่อเนื่องกันได้อย่างลื่นไหล ผนังภายในรวมไปถึงแผงกันตกจะใช้กระจกทั้งหมดเพื่อเชื่อมต่อมุมมองทางสายตา แต่ผนังที่ด้านนอกของแต่ละห้องจะใช้ผนังกระจกให้น้อยที่สุดเพื่อความปลอดภัย
บันไดสีขาวตกแต่งด้วยไม้สีน้ำตาลตัดเส้นสายตาให้เห็นเส้นขั้นบันไดด้านข้างที่ชัดเจน มาพร้อมที่เก็บของในตัวซึ่งซ่อนอยู่ด้านล่างออกแบบมาเพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้มากที่สุดโดยไม่ทิ้งให้เปล่าประโยชน์ ผนังด้านข้างบันไดเจาะช่องแสงแนวนอนเพิ่มแสงสว่างในช่วงกลางวัน ฝั่งตรงข้ามบันไดเป็นกล่องกระจกที่ปลูกต้นไม้เอาไว้ ส่วนนี้เป็นทั้งพื้นที่รับแสงและเป็นกรอบทิวทัศน์ธรรมชาติ เติมความสุนทรีให้ทุกครั้งที่เดินขึ้น-ลง
เชื่อมต่อพื้นที่ต่อเชื่อมความสัมพันธ์
เหนือโถงบันไดและพื้นที่นั่งเล่นจะเปิดโล่งเป็นโถงสูงแบบ Double volume ที่ทำให้บ้านสูงโปร่งและอากาศไหลเวียนได้ดี ในฤดูร้อนยังช่วยให้มวลอากาศร้อนลอยตัวขึ้นสู่ที่สูง การใส่พื้นที่ว่างแนวตั้งขนาดใหญ่นี้ทำให้เหลือพื้นที่ใช้งานรอบ ๆ ซึ่งสถาปนิกจัดเป็นโซนห้องนอนทั้งสามห้อง สองห้องสำหรับเด็กและอีกหนึ่งสำหรับห้องนอนใหญ่ มีทางเดินรูปตัว L ที่เชื่อมต่อกันด้วยการเดินล้อมรอบ ที่ไม่เพียงแต่ทำให้การเข้าถึงในฝั่งตรงข้ามได้ง่าย ยังช่วยให้ห้องนอนทุกห้องเปิดช่องว่างเพื่อสัมผัสต้นไม้ที่ช่องกระจก ในขณะที่ยังมีความเป็นส่วนตัวและปลอดภัยภายใน ห้องพักทุกห้องจะอยู่หลังขอบระเบียงที่ค่อนข้างสูง ทำให้มองไม่เห็นพื้นที่ส่วนตัวจากภายนอก แต่คนข้างบนสามารถพูดคุยติดต่อสื่อสารกับคนข้างล่างได้ใกล้ชิด
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การตกแต่งบ้านด้วยระแนงไม้ในส่วนของแผงกันแดด แผงบังตา จะเพิ่มความรู้สึกอบอุ่นให้กับบ้าน แต่ไม่ค่อยทนทานต่อสภาพอากาศ อาจจะผุเปื่อยหรือสีซีดลอกล่อนทำให้ต้องหมั่นดูแลและบำรุงรักษาบ่อย ๆ หากใครที่ต้องการทำระแนงแต่ไม่อยากใช้ไม้ก็มีทางเลือกอื่นที่ทำหน้าที่ได้เหมือนกันแต่ทนทานกว่า เช่น ระแนงอลูมิเนียม ที่มีคุณสมบัติทนต่อการสึกกร่อน ทนความร้อนสูง แผ่ความร้อนต่ำ ทำความสะอาดได้ง่าย และทำสีได้ ปัจจุบันยังมีระแนงอลูมิเนียมลายไม้ให้เลือกใช้ด้วย |
แปลนบ้าน