เมนู

บันไดบ้าน ลูกตั้ง ลูกนอน ขนาดเท่าไหร่จึงพอดี

ขนาดบันไดบ้าน

รวมสูตรลับออกแบบบันไดให้เดินสบาย ไม่เหนื่อยล้า

ลูกตั้งบันได คือ ส่วนฐานแนวตั้งของบันไดแต่ละขั้น ลูกนอนบันได คือ ส่วนระนาบแนวนอนที่เท้าของเราเหยียบสัมผัสขณะเดินขึ้นลงบันได เคยไหมบางบ้านขณะเดินขึ้นบันไดแล้วรู้สึกเหนื่อย เมื่อยล้า และขณะเดินลงบันไดรู้สึกหวั่น ๆ กลัวจะตกลงมา อาการเหล่านี้ล้วนเกิดจากการออกแบบขนาดบันไดที่ไม่เหมาะสมต่อหลักการยศาสตร์ความเคลื่อนไหวของมนุษย์ การออกแบบบันไดบ้านที่ดีจะต้องเดินขึ้นลงอย่างสะดวก มีความชันของลูกตั้งและความกว้างลึกของลูกนอนอย่างพอเหมาะ ผู้ใช้งานจะรู้สึกถึงความปลอดภัยอยู่เสมอ

เนื้อหา : บ้านไอเดีย
ข้อมูลโดย : บริษัท ปันแปลน จำกัด

โดยปกติการออกแบบบ้านแต่ละหลัง ผู้เป็นเจ้าของบ้านมักมุ่งเน้นความสำคัญไปที่ขนาดห้องนอน, ห้องน้ำ, ห้องครัวและห้องต่าง ๆ จนมองข้ามความสำคัญของส่วนเล็ก ๆ ภายในบ้านอย่างบันได โดยออกแบบห้องอื่น ๆ ให้เสร็จก่อนจึงค่อยมองหาพื้นที่เล็ก ๆ เพื่อใช้เดินขึ้นลงไปสู่ชั้นต่าง ๆ ของบ้าน เมื่อพื้นที่บันไดมีอย่างจำกัด จึงเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ต้องออกแบบบันไดให้สูงชันและแคบกว่าปกติ

วิธีการที่ถูกต้องควรออกแบบบันไดควบคู่ไปกับห้องต่าง ๆ เพื่อให้สามารถจัดสรรพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมตั้งแต่ต้น โดยการออกแบบบันไดบ้านเบื้องต้นจะต้องออกแบบให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) เพราะหากขนาดสัดส่วนไม่ได้มาตรฐาน เมื่อต้องขออนุญาตก่อสร้างทางเทศบาลหรือหน่วยงานที่ควบคุมจะไม่อนุมัติใบอนุญาตให้ครับ

ขนาดบันไดบ้านตามกฎหมายบังคับใช้

ขนาดบันไดบ้านตามกฎหมายกำหนด ข้อ 23 “บันไดของอาคารอยู่อาศัยถ้ามีต้องมีอย่างน้อยหนึ่งบันไดที่มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ช่วงหนึ่งสูงไม่เกิน 3 เมตร ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร ลูกนอนเมื่อหักส่วนที่ขั้นบันไดเหลื่อมกันออกแล้วเหลือความกว้างไม่ น้อยกว่า 22 เซนติเมตร และต้องมีพื้นหน้าบันไดมีความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได

บันไดที่สูงเกิน 3 เมตร ต้องมีชานพักบันไดทุกช่วง 3 เมตร หรือน้อยกว่านั้น และชานพักบันไดต้องมีความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได ระยะดิ่งจากขั้นบันไดหรือชานพักบันไดถึงส่วนต่ำสุดของอาคารที่อยู่เหนือขึ้นไปต้องสูงไม่ น้อยกว่า 1.90 เมตร “

ลูกตั้งลูกนอนบันได ขนาดไหนเดินสบาย

แต่บันไดบ้านที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น เป็นเพียงความเหมาะสมตามมาตรฐานขั้นต้นเท่านั้น จากที่ทีมงานบ้านไอเดียได้ศึกษางานวิจัยด้านการยศาสตร์ความเคลื่อนไหวของมนุษย์ รวมทั้งการได้ทดสอบเดินขึ้นลงบันไดบ้านในสถานที่จริงหลาย ๆ หลัง ได้ขนาดที่เหมาะสมที่สุดและตรงกับขนาดที่สถาปนิกนิยมใช้กัน โดยขนาดที่เหมาะสมคือ

ลูกตั้ง + ลูกนอน = 45 เซนติเมตร

โดยกำหนดให้ลูกตั้งมีขนาดในช่วง 15-18 เซนติเมตร ส่วนลูกนอนอยู่ในช่วง 27-30 เซนติเมตร ตัวอย่าง กรณีลูกตั้งบันไดมีความสูง 15 เซนติเมตร ลูกนอนจะต้องมีความกว้าง 30 เซนติเมตร หรือกรณีลูกตั้งมีความสูง 18 เซนติเมตร ลูกนอนจะต้องมีความกว้าง 27 เซนติเมตร

ความกว้างของบันไดบ้าน

ส่วนความกว้างของบันได ตามกฎหมายกำหนดไว้ให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร หากพื้นที่บ้านมีอย่างจำกัดสามารถออกแบบในระยะดังกล่าวได้ แต่หากต้องการให้เดินสบายและสวนทางกันได้อย่างสะดวก บันไดบ้านควรมีความกว้างประมาณ 1 – 1.5 เมตร และหากบันไดมีความสูงเกิน 3 เมตร (ไม่เกินก็มีได้) ควรเว้นระยะพักไว้ ระยะพักเป็นเสมือนจุดพักหายใจจะช่วยให้การเดินขึ้นรู้สึกเหนื่อยน้อยลงครับ

โดยส่วนมากแล้วบันไดในบ้านเรือนทั่วไป นิยมออกแบบบันไดแบบเลี้ยวกลับ ตำแหน่งเลี้ยวกลับใช้เป็นส่วนพักไปในตัวจึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องระยะพัก แต่จะมีปัญหากับบันไดแบบตรงซึ่งหากสูง 3 เมตรขึ้นไปจะต้องออกแบบช่วงกลางบันไดให้มีช่วงพัก หรืออาจใช้ไอเดียเล่นระดับพื้นภายในบ้านเพื่อลดทอนความสูงของบันได ดั่งภาพตัวอย่างด้านล่างนี้ครับ

ราวจับบันได ราวกันตก สูงเท่าไหร่ดี

ปิดท้ายกันด้วยราวจับบันได ส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ใช้งานรู้สึกปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยปกติการออกแบบราวจับควรมีความสูงประมาณ 80-90 เซนติเมตร ซึ่งเป็นความสูงในระดับที่มือสามารถจับได้อย่างพอเหมาะขณะยืน ทั้งนี้หากบ้านใครมีผู้อยู่อาศัยที่สูงเป็นพิเศษ อาจออกแบบให้สูงกว่า 90 เซนติเมตรได้เช่นกันครับ

ในส่วนข้อกฎหมายเกี่ยวกับราวจับไม่ได้มีกำหนดไว้ หลาย ๆ บ้านสมัยใหม่จึงออกแบบไม่ให้มีราวจับบันได ซึ่งจะให้ความรู้สึกโปร่งเบา แต่บันไดในลักษณะดังกล่าวจะเหมาะเฉพาะกับบ้านที่มีหนุ่มสาวที่มีสติในทุก ๆ ย่างก้าว แม้ตามหลักการแล้วหากเราสังเกตให้ดี ๆ ขณะเดินขึ้นลงบันไดเราแทบจะไม่ได้จับราวจับกันเลย แต่อุบัติเหตุก็อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การมีราวจับไว้ย่อมปลอดภัยและอุ่นใจกว่า หากบ้านไหนมีเด็กและคนชราขอแนะนำให้เลี่ยงออกแบบบันไดแบบดังกล่าวย่อมดีกว่าครับ ^_^

ปรึกษาเรื่องการออกแบบบ้านได้ที่เพจ : Punplan

http://credit-n.ru/kurs-cb.html http://www.tb-credit.ru/return.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ความรู้ คู่บ้าน


โพสต์ล่าสุด